รัฐบาลมีสะเทือน! 5 พรรคเล็กถอนตัว ส.ส.ฝ่ายค้านรวม 251 เสียง ส่อโหวตเขี่ย “ประยุทธ์” ตกเก้าอี้

กรณี นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เปิดเผยว่า พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคประชาธรรมไทย และ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เป็น 5 พรรคการเมืองเล็ก ที่มี ส.ส.พรรคละ 1 คน จากทั้งหมด 10 พรรค ขอถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอิสระ

ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเหลือ ส.ส. เพียง 246 คน ขณะที่ ฝ่ายค้านเดิม มี ส.ส. 246 คน

ไอลอว์ รายงานว่า สถานการณ์นี้ทำให้รัฐบาล ‘คสช. 2’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สุ่มเสี่ยงถูกล้มได้ หาก ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ 5 คน จับมือกับ ฝ่ายค้านเดิม 246 คน ลงมติไม่ไว้วางใจซึ่งใช้เสียง ส.ส. มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ทั้งหมด (500 คน) หรือ 251 เสียง ให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่งไป

รัฐสภา หรือฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบและคานอำนาจกับรัฐบาล หรือฝ่ายบริหาร ซึ่งขณะที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภา ส.ส. เพื่อเลือกตั้งใหม่ ส.ส. ก็มีสิทธิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่งได้

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” หรือ สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 151 โดยมีขั้นตอนดังนี้

ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภา หรือ ส.ส. 100 คน ขอใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือรายคณะ (รัฐบาล)

เมื่ออภิปรายทั่วไปเสร็จแล้ว โดยไม่มีการผ่านระเบียบวาระไปหรือการขอถอนญัตติดังกล่าว ให้มีการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในวันถัดไป

มติไม่ไว้วางใจต้องใช้ ส.ส. จำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ส. 251 คน (จากจำนวนเต็มของสภาผู้แทนฯ 500 คน)

โดยระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมตรีจะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่มีการถอนญัตติ หรือลงมติไม่ไว้วางใจไม่สำเร็จ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจจะทำได้เพียงครั้งเดียวต่อปี ตามมาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้การเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 151 ให้กระทำได้ปีละหนึ่งครั้ง แต่ไม่นับการเปิดอภิปรายทั่วไปที่สิ้นสุดลงด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป

อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นใน 5 ปีแรกของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. สามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ตามที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่า ถึงแม้รัฐบาล ‘คสช. 2’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะพ้นจากตำแหน่งไป รัฐบาล ‘คสช. 3’ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจาก ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช. ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ อยู่