น้ำมูนวิกฤต “ดำ-เน่า” จากท้ายเขื่อนยาวตลอดลำน้ำ คาดโรงงานแอบปล่อยน้ำเสีย

วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ชาวบ้านปากมูน รายงานสถานการณ์แม่น้ำมูน บริเวณท้ายเขื่อนปากมูล ระบุว่า ขณะนี้สภาพเป็นสีดำ ทั้งลำน้ำ เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว โดยข้อสันนิษฐานของชาวบ้านคือ น่าจะเกิดจากน้ำเน่า-น้ำเสีย ที่ระบายจากโรงงานแห่งหนึ่ง จากลำโดมใหญ่ และการหมักหมมของผักตบชวาที่มีจำนวนมาก ประกอบกับการกักน้ำของเขื่อนปากมูล จึงเกิดการสะสมทับถมทำให้น้ำในลำมูนเน่า

การเน่าเสียของน้ำในแม่น้ำมูน จะส่งผลโดยตรงต่อความหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำมูน โดยเฉพาะปลาและสัตว์น้ำ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ปลาในแม่น้ำมูน เป็นปลาที่อยู่ในแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูฝน ปลาจากแม่น้ำโขงจะพากันอพยพจากแม่น้ำโขง เพื่อเข้ามาว่างไข่ในแม่น้ำมูน และการที่ปลาจากแม่น้ำโขง มาวางไข่ในแม่น้ำมูน ได้ทำให้แม่น้ำมูน มีปลาเพิ่มขึ้น

ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง ที่มีการค้นพบจำนวน 1,200 ชนิด และนักวิชาการยังคาดว่า น่าจะมีถึง 1,700 ชนิด ส่วนชนิดพันธุ์ปลาที่พบในแม่น้ำมูนมีจำนวน 265 ชนิด

ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะเพิ่มปริมาณปลาในแม่น้ำมูน ด้วยการปล่อยลูกปลาลงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งหน่วยงานราชการ ก็สามารถปล่อยพันธุ์ปลา ได้เพียง 19 ชนิด (ค่าเฉลี่ยรายปี) (สถิติการปล่อยปลาจากปี 2537 – ปัจจุบัน มีการปล่อยปลาจำนวน 27 ชนิด) นั่นหมายความว่าศักยภาพของกรมประมง ไม่เพียงพอที่จะเพิ่มจำนวนชนิดพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูน ได้

โดย แม่น้ำมูน เป็นแม่น้ำสายสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ความยาว 640 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำ 69,701 ตร.กม. หรือประมาณ 43,563,125 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด มีประชาชนพึ่งพา ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมูน และปลาในแม่น้ำมูน กว่า 10 ล้านคน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำมูน ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชน 10 ล้านคน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำมูนในขณะนี้ เป็นที่น่าหดหู่อย่างมาก เพราะบรรดาหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงรัฐบาล ยังไม่มีการตื่นตัว ใด ๆ เลย ยอมรับว่าในปีนี้ ปริมาณฝนตกน้อย ทำให้น้ำในเขื่อนแทบทุกแห่งมีปริมาณน้อยตามมาด้วย

การที่จะเปิดประตูเขื่อนปากมูล เพื่อระบายน้ำ ก็อาจจะขัดกับความรู้สึกของคนในสังคม แต่ก็จะต้องตอบคำถาม “แรงๆ” ว่า น้ำที่มีอยู่ คือน้ำเน่าเสีย …เราจะเก็บน้ำเน่าเสียไว้ เพื่อให้เกิดการเน่าเสียมากขึ้น หรือจะลดการเน่าเสียของน้ำ ด้วยการระบายออกจากเขื่อน…นี่คือสิ่งที่จะต้องนำมาชั่ง ถึงผลลัพธ์ที่จะดีที่สุด ในอนาคต