อินเดียสั่งหยุดแผนส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ ในชั่วโมงสุดท้ายก่อนปล่อยตัว

วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 เว็บไซต์อินดิเพนเด้นท์ของอังกฤษรายงานว่า สำนักงานอวกาศของอินเดียได้สั่งยุติภารกิจนำยานอวกาศ จันทรยาน-2 ที่มีเป้าหมายไปยังดวงจันทร์ ในไม่กี่นาทีสุดท้ายก่อนจุดระเบิดเครื่องยนต์ปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศ โดยสำนักงานระบุว่า มีอุปสรรคทางเทคนิค

โดยการปล่อยยานจันทรยาน-2 มีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศในเวลา 2.51 ตามเวลาท้องถิ่น แต่ในระหว่างการนับถอยหลัง ห้องควบคุมภายในสำนักงานวิจัยอวกาศอินเดียได้หยุดเดินกระทันหันไว้ที่ 56 นาที 24 วินาที

สำนักงานวิจัยอวกาศแถลงผ่านทวิตเตอร์ว่า ได้พบปัญหาขึ้นในยานอวกาศและด้วยมาตรการระวังภัยสูงสุด ยานอวกาศจันทรยาน-2 ต้องเลื่อนการปล่อยในวันนี้ออกไป และสำนักงานฯจะประกาศวันปล่อยยานใหม่เร็วๆนี้

สำหรับยานจันทรายาน-2 นับเป็นยานสำรวจดวงจันทร์ลำที่ 2 หลังจากยานรุ่นแรกอย่าง จันทรยาน-1 ได้ไปถึงดวงจันทร์ในปี 2551 และช่วยยืนยันถึงการมีอยู่ของตลิ่งที่กักเก็บน้ำที่แข็งตัวอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์

มีการคาดการว่า หากอินเดียทำสำเร็จ ภารกิจนี้จะทำให้อินเดียเป็นชาติที่ 4 ที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์ตามหลัง สหรัฐฯ รัสเซียและจีน อย่างไรก็ตาม ภารกิจมูลค่า 1 หมื่นล้านรูปีนี้ ถูกรุมเร้าด้วยความล่าช้า ทำให้อินเดียพลาดเป้าหมุดสำคัญในการเป็นชาติแรกในการลงจอดแบบนุ่มนวลในอีกด้านของดวงจันทร์ อีกทั้งโครงการอวกาศของอินเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้งบประมาณโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรมหาศาลและระดับความยากจนที่สูง แต่ถึงอย่างนั้น หลายทศวรรษของการวิจัย ก็ช่วยให้อินเดียพัฒนาดาวเทียม ระบบสื่อสารและเทคโนโลยีตรวจจับระยะไกลที่ช่วยแก้ไขปัญหาตั้งแต่พยากรณ์อากาศจนถึงทำนายการเกิดพายุและน้ำท่วม

ทั้งนี้ โครงการอวกาศของอินเดียที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสร้างเกียรติภูมิของประเทศและเป็นสิ่งที่นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ให้ความสนใจเพื่อสร้างความสนใจให้สาธารณชน