“พิชัย” ห่วงนโยบายรัฐบาล “ลดภาษี-ค่าแรง-สินค้าเกษตร” เพิ่มปัญหามากกว่าแก้

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และล่าสุด ครม.เศรษฐกิจได้เริ่มเสนอนโยบายเศรษฐกิจแล้วนั้น เกรงว่าอาจจะยิ่งเพิ่มปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่าจะแก้ไขปัญหา เช่น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอให้ลดภาษีบุคคลธรรมดาให้ลงมาใกล้เคียงกับภาษีนิติบุคคล ซึ่งโดยหลักการแล้วควรเป็นเช่นนั้น หากว่าประเทศไทยจะมีการกระจายรายได้ที่ดีพอ แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น จึงอยากให้นายอุตตมได้ไปศึกษาโครงสร้างผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาให้ดีก่อนที่จะเสนอแนวคิด

“และอยากถามว่า นายอุตตมมีวัตถุประสงค์เช่นไรในการจะลดภาษีบุคคลธรรมดา เพราะการลดภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อคาดหวังว่าคนที่ได้ประโยชน์เพียงแค่ 2 แสนกว่าคน เท่านั้น จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะคนรวยจะเก็บมากกว่าจะจับจ่ายใช้สอย แต่ประเทศจะขาดรายได้จากภาษีบุคคลธรรมดาไปเป็นจำนวนมาก และจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำที่ประเทศไทยมีปัญหามากอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐบาลนี้มีนโยบายที่ต้องใช้เงินกับการจะลดแลกแจกแถมในโครงการประชารัฐอีกมาก จะหาเงินมาจากไหน ที่ผ่านมา 5 ปี ก็ก่อหนี้แล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจกลับยิ่งย่ำแย่ รัฐบาลจะลดทั้งภาษีที่เป็นรายได้ของรัฐ แต่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐแล้ว จะเอาเงินจากที่ไหน จะกลายเป็นการกู้มาเพื่อนำมาแจก ซึ่งจะสร้างปัญหามากขึ้น” นายพิชัย กล่าว

นอกจากนี้ นายพิชัย กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนคิดว่านายอุตตมต้องการออกนโยบายนี้ เพียงเพื่อจะกลบกระแสข่าวทางลบเรื่องเงินกู้กรุงไทย โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลที่ดีควรจะต้องแก้ความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งขยายฐานรายได้ของผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาก่อนที่จะคิดลดภาษี นอกจากนี้ นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หาเสียงค่าแรงขั้นต่ำที่ 400-425 บาท ซึ่งได้เคยทักท้วงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ค่าแรงขึ้นต่ำควรจะต้องขึ้น และควรจะต้องทยอยขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อและการพัฒนาของประเทศ แต่ที่ผ่านมา 5 ปี รัฐบาลแทบไม่ยอมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยหรือขึ้นก็น้อยมาก อีกทั้งปัญหาทางการเมืองทำให้การลงทุนในประเทศไทยหดหายมาตลอด ขนาดคนไทยยังหันไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าจะลงทุนในไทย

“การจะขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด ทั้งที่การลงทุนในประเทศมีน้อยอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้การลงทุนยิ่งหายไปอีก เศรษฐกิจจะยิ่งทรุด ธุรกิจจะเจ๊งกันมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และแรงงานจะตกงานกันเพิ่มขึ้นอีกมาก ดังนั้นจึงอยากให้พิจารณาให้ดี ซึ่งจริงๆ แล้ว หากไม่ได้มีการปฏิวัติ และมีการลงทุนเป็นปกติทุกปี ค่าแรงก็จะค่อยๆทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ป่านนี้ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาท แล้ว” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลได้พิจารณาแนวคิดของ นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย ที่กังวลเช่นเดียวกันว่า การขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดจะทำให้ การลงทุนหนีไปประเทศเพื่อนบ้านหมด และจะทำให้ลูกจ้างตกงาน จะทำให้สินค้าปรับราคาขึ้นตามค่าจ้าง ซึ่งลูกจ้างก็ไม่เห็นด้วย แต่ทั้งนี้ พปชร.ก็ยังยืนยันจะเดินหน้าหาเสียง ซึ่งจะไม่ทำก็อาจผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้ นอกจากนี้ ยังอยากเห็นว่า รัฐบาลมีนโยบายจะเพิ่มราคาสินค้าเกษตรได้อย่างไร เพราะก่อนเลือกตั้ง พปชร. หาเสียงไว้ในเรื่องราคาสินค้าเกษตรในระดับราคาที่สูงมาก เช่น ปาล์ม กิโลกรัมละ 5 บาท ยาง กิโลกรัมละ 65 บาท ข้าวตันละ 12,000 บาท อ้อย ตันละ 1,000 บาท เป็นต้น ซึ่งหากทำจริงต้องใช้เงินอีกมหาศาล จะหาเงินมาจากไหน และรัฐจะต้องใช้จ่ายเสียหายมากกว่าการจำนำข้าวมาก ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นห่วงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาก เพราะ รัฐมนตรีว่าการ และ รัฐมนตรีช่วยว่าการ อีก 3 คน ต่างมีภาพลักษณ์ในแนวทางที่จะห้ามเกษตรกรโวยวาย หรือประท้วงมากกว่าจะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรให้เป็นผลอย่างจริงจัง จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจในนโยบายอย่างละเอียด เพราะจะส่งผลกระทบแก่ประชาชนและอนาคตของประเทศอย่างมาก

“อีกทั้งอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะแนะนำให้คนอ่านหนังสือ ตั้งแต่จินดามณีจนถึงแอนนิมอล ฟาร์ม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะต้องอ่านหนังสือทางด้านเศรษฐกิจมากๆ โดยเฉพาะหนังสือเศรษฐกิจสมัยใหม่จากต่างประเทศ เพื่อที่จะได้ตามโลกทัน และจะได้ไม่เสนอแนวคิดสวนกระแสโลกอีก” นายพิชัย กล่าว

มติชนออนไลน์