‘พ.ต.อ.ทวี’ ร่ายยาวเหยียดจี้ยกเลิกมรดก คสช. เครื่องมือสืบทอดอำนาจ

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.ป โพสต์เฟซบุ๊กระบุจากการยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คสช. รวมถึง คำสั่งหัวหน้าคสช.อย่างน้อย 70 ฉบับ ตามประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 นั้น เห็นว่าเป็นการยกเลิกเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ และตลอดห้าปีที่ผ่านมา คสช. ได้ออกประกาศ คำสั่ง รวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช. รวมแล้วไม่น้อยกว่า 554 ฉบับ บางฉบับที่ยังไม่ยกเลิกเป็นคำสั่งที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น
– คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารค้น จับกุม กักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และมีอำนาจในการร่วมสอบสวนพร้อมกับตำรวจ
– คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 และ 4/2559 ที่ให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะ เป็นต้น

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การจะนำบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ต้องร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมรดก คสช ไม่ว่าจะเป็นประกาศ คำสั่ง คสช. รวมถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งเพื่อป้องกันการนำมรดก คสช ไปใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงและสืบทอดอำนาจ คสช และไปใช้สนับสนุนการแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุน ต่อไป ตัวอย่าง อาทิ คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารทำการตรวจค้น จับกุม กักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และมีอำนาจในการร่วมสอบสวนพร้อมกับเจ้าพนักงานตำรวจ คำสั่งดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากการตรวจค้น จับกุมและการคุมขังบุคคลใดจะกระทํามิได้ เว้นแต่ต้องขออนุญาตต่อศาลเสียก่อน เพราะศาลจะตรวจสอบข้อเท็จจริง พยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจทุกครั้งก่อนที่จะมีคําสั่งในการออกหมายค้น หรือหมายจับ หรือหมายขัง เป็นการกลั่นกรองถ่วงดุลอำนาจตามกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เมื่อศาลได้ออกหมายค้น หรือหมายจับแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดการตามหมายจับเมื่อจับตัวบุคคลตามหมายได้แล้ว จะต้องรีบส่งตัวผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนทันที และพนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับระหว่างทำการสอบสวนได้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับไม่ได้รับการประกันตัว พนักงานสอบสวนต้องไปขออำนาจศาลเพื่อฝากขังได้เป็นคราวๆ ครั้งละไม่เกิน 12 วัน ตามอัตราโทษ ซึ่งโทษสูงสุดจะฝากขังได้ 7 ฝาก หรือได้นาน 84 วัน และการควบคุมต้องส่งตัวไปที่เรือนจำของกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นสถานที่ต่างหาก กับสถานที่ของตำรวจและพนักงานสอบสวน ซึ่งเหตุผลในการบัญญัติกฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการประทุษร้าย การทรมาน หรือการบังคับ ขู่เข็ญ ให้คำมั่นสัญญา จูงใจ หรือการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้กฎหมายยังให้สิทธิผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับมีสิทธิพบทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวน มีสิทธิได้รับการเยี่ยมตามสมควร และได้รับการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยโดยเร็ว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่ ที่สำคัญตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนนั้น ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตามกฏหมายกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่ตำรวจทุกคนจะเป็นพนักงานสอบสวนได้ อย่างเช่น ในปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้าราชการตำรวจทั้งประเทศ ประมาณ 215,136 คน เป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ประมาณ 87,591 คน แต่นายตำรวจสัญญาบัตรที่เป็นพนักงานสอบสวนได้มีเพียงประมาณ 10,310 คนเท่านั้น เพราะผู้ที่เป็นพนักงานสอบสวนได้ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อบังคับและระเบียบ ต้องมีความรู้ด้านกฎหมาย การสืบสวนสอบสวน ด้านการพิสูจน์หลักฐาน ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิติวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ที่ใช้ในการแสวงหาข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน เพื่อทราบข้อเท็จจริงพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ นำสู่อัยการและศาล รวมทั้งตำรวจจะต้องเป็นพยานเบิกความต่อศาล

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่ แต่ในช่วงเวลา 5 ปี ที่ คสช. ปกครองประเทศ ได้อ้างว่าจะทำการปฏิรูปตำรวจและพนักงานสอบสวน แต่ปรากฏว่า ได้มีคำสั่ง คสช ที่ทำลายระบบการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่มีกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่กระจายอำนาจการบริหารไว้ให้มาอยู่กับอำนาจ ผบ.ตร แต่ผู้เดียว เสียงสะท้อนจากข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับต่ำสุดไปจนถึงระดับบริหารระดับสูง ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายต้องผ่านผู้มีอำนาจ คสช ที่ควบคุมอยู่เหนือ ผบ.ตร ก่อน ระบบอุปถัมภ์ได้เข้าแทรกการแต่งตั้งในทุกระดับชั้นอย่างกว้างขวางและรุนแรง จนเกิดวิกฤติของการทำงานของตำรวจ รวมทั้งงานพนักงานสอบสวน การปฏิรูปตำรวจได้เอารูปแบบของงานทหารคือการสั่งการจากบนลงล่าง และงานนักกฎหมายมาใช้ปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้ตำรวจมีลักษณะเหมือนทหารบวกทนายความ แต่หัวใจหลักในหน้าที่ตำรวจคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องมีงานสายตรวจ สืบสวน สอบสวน และความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะตำรวจต้องสัมผัสกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อพิทักษ์คุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย ในการบังคับใช้กฎหมายก็มีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ดังนั้น ตำรวจต้องยึดเสมอว่า ความซื่อตรงต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่ แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้ทหารที่มีกำลังพลทุกเหล่าทัพจำนวนมากที่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายและด้านการสืบสวนสอบสวน แต่กลับมีอำนาจเรียกบุคคลรายงานตัว ทำการตรวจค้น จับกุมและกักตัวบุคคลหรือการควบคุมบุคคลได้นานถึง 7 วัน ซึ่งขัดกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจศาล และจะเห็นได้ว่าบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากทหาร ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่ให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจได้อยู่ร่วมรับฟังในระหว่างถูกควบคุมตัว นโยบายของพรรคประชาชาติ จึงต้องการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การยกเลิกมรดก คสช ประกาศ และคำสั่ง คสช. รวมทั้ง คำสั่งหัวหน้า คสช ทั้งหมด อันเป็นผลพวงจากรัฐประหารหรือเผด็จการ และกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย โดยวิธีการตราเป็น พระราชบัญญัติ ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. รวมถึงกฎหมายอื่น เพื่อให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมของประชาชนและไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน รวมทั้งควรพิจารณาหาแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาผลพวงที่เกิดจาก คสช.ด้วย

มติชนออนไลน์