จรัญ มะลูลีม : วัฒนธรรมชาวอาหรับแดนอาระเบียก่อนอิสลามถือกำเนิด

จรัญ มะลูลีม

ชาวอาหรับก่อนสมัยอิสลาม (1)

ดินแดนอาระเบียนั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบที่เป็นทราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ราบ และอีกส่วนหนึ่งเป็นทะเลทราย แผ่นดินส่วนใหญ่แห้งแล้งไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก และไม่สามารถเกื้อกูลให้ชุมชนที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ให้มีชีวิตอยู่ได้ ยกเว้นแต่ที่ซึ่งเรียกว่าโอเอซิสซึ่งมีอยู่ห่างๆ กันเท่านั้น

ดังนั้น นับตั้งแต่นานมาแล้ว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้นจึงจำต้องเป็นพวกเร่ร่อน อาศัยอยู่กับการเลี้ยงแกะ เลี้ยงอูฐ ผู้คนส่วนใหญ่ของชาวอาหรับโบราณที่ทำอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์จึงต้องโยกย้ายไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่ที่มีหญ้าและน้ำอุดมสมบูรณ์ให้แก่ฝูงปศุสัตว์ของพวกเขา

เมื่อไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีรากเหง้าเช่นนี้ พวกเขาจึงได้มีวัฒนธรรมในระดับต่ำ ไม่รู้เรื่องศิลปวิทยาที่ผู้คนซึ่งมีอารยธรรมรู้ คนที่อ่านออกเขียนได้ก็มีอยู่น้อยคน แต่เฉพาะในศูนย์การพาณิชย์บางแห่งเท่านั้น ส่วนพวกที่อยู่ในทะเลทรายนั้นส่วนใหญ่จะไม่รู้หนังสือ

ขอบเขตความคิดของพวกเขาจึงคับแคบ การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรนั้นหนักหนาสาหัสเสียจนพวกเขาสิ้นเรี่ยวแรงในการหาเลี้ยงชีพประจำวัน จนไม่มีเวลาหรือแนวโน้มที่จะคิดถึงเรื่องศาสนาหรือปรัชญา

ศาสนาของพวกเขาคือการนับถือพระเจ้าหลายองค์ และปรัชญาของพวกเขาถูกรวมอยู่ในคำพูดที่หลักแหลมคมคาย

 

ถึงแม้ว่าชาวอาหรับโบราณจะไม่มีวรรณกรรมที่เขียนขึ้น แต่พวกเขาก็มีภาษาที่อุดมไปด้วยคำศัพท์ต่างๆ เมื่อไม่มีภาพเขียนและภาพปั้น พวกเขาจึงสร้างภาษาขึ้นให้เป็นวิจิตรศิลป์และรู้สึกภาคภูมิใจที่สิ่งเหล่านี้สามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างมากมาย ดังนั้น พวกเขาจึงมีความนับถือกวีและนักพูดที่สามารถใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะงดงาม

การนับถือรูปเจว็ดซึ่งมีพระเจ้าหลายองค์นั้นแพร่ขยายไปทั่วแหลมอาระเบียโบราณ คนเกือบทุกเผ่าจะมีเทพเจ้าของตนเองซึ่งเป็นศูนย์กลางของชีวิตทางศาสนาของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันชาวอาหรับโบราณก็เชื่อว่ามีพระเจ้าผู้สูงสุดอยู่ด้วย ซึ่งพวกเขาเรียกว่าอัลลอฮ์ (Allah) แต่ความเชื่อนี้ออกจะเลื่อนลอย และความศรัทธาในอัลลอฮ์ก็ออกจะอ่อนแอ พวกเขาจะวิงวอนต่ออัลลอฮ์ในยามที่มีอันตราย แต่พออันตรายนั้นหมดไปพวกเขาก็ลืมพระองค์เสีย และพวกเขายังเคารพนับถือเทพเจ้ารองๆ ลงไปอีกเป็นจำนวนมากมายด้วย หรืออย่างน้อยก็คิดว่าตนวิงวอนต่ออัลลอฮ์โดยอาศัยเทพเจ้าเหล่านั้น

โดยเฉพาะเทพที่มีเพศหญิงสามองค์ซึ่งถูกถือว่าเป็นบุตรีของอัลลอฮ์ นั่นคืออัล-อุซซา (al-“zza) อัล-มะนาต (al-Manat) และอัล-ลาต (al-Lat) 

 

เทพเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วนที่ชาวอาหรับโบราณสักการบูชานั้นมีรายชื่อยืดยาว ดังที่อิบนุ อัล-ก็อลบี (ibn-al-Kalbi) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่ 2 ได้เขียนไว้ (Ibn al-Kalbi, Kitabaal-Asnam, ed. Ahmad Zaki Pasha, 1914)

เทพเจ้าเหล่านี้บ้างก็เกิดจากการนำนามธรรมให้เป็นบุคคล อย่างเช่น ญัดด์ (โชค) สะอฺด์ (โชคดี ลางดี) ริฏอ (ความโปรดปราน) วัดด์ (มิตรภาพ) และมะนาฟ (ความสูงส่ง) เป็นต้น

เทพเจ้าบางองค์ก็ได้ชื่อมาจากสถานที่ที่ตนได้รับความเคารพนับถือ อย่างเช่น ซุล อัล-เคาะลาซะฮ์ และซุล อัซ-ซะห์เราะฮ์ เป็นต้น

เทหวัตถุในท้องฟ้าและพลังอื่นๆ ของธรรมชาติซึ่งได้รับความนับถือว่าเป็นเทพเจ้าก็มีบทบาทสำคัญอยู่ในทำเนียบเทพเจ้าของชาวอาหรับโบราณ

ชาวอาหรับหลายเผ่านับถือดวงอาทิตย์ (เรียกว่าซัมส์) หมู่ดาวลูกไก่ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ให้ฝนก็ได้รับความนับถือให้เป็นเทพเจ้า มีนามว่าอัษษุรอยยา (al-Thurayya)

ดาวพระศุกร์ซึ่งส่องแสงสุกใสเป็นพิเศษอยู่บนท้องฟ้าอันแจ่มใสของอาระเบียก็ได้รับความนับถือว่าเป็นเทพธิดา มีนามว่า อัล-อุซซา (แปลว่า “ผู้มีอำนาจที่สุด”) มีสักการสถานอยู่ที่นัคละฮ์ใกล้นครมักกะฮ์

นอกจากนั้นยังมีเทพเจ้าที่มีชื่อแสดงถึงความสำคัญ เช่นเทพเจ้า อัล-มาลิก (กษัตริย์) และบัล หรือบาอัล (ผู้เป็นเจ้า) เป็นต้น

 

สัญลักษณ์แทนเทพเจ้าของชาวอาหรับโบราณนั้นคือรูปเคารพ (รูปเจว็ด) หินศักดิ์สิทธิ์และวัตถุเคารพอื่นๆ ในเวลาเดียวกันหินศักดิ์สิทธิ์ก็ใช้เป็นแท่นบูชาด้วย ใช้เลือดของเหยื่อที่ถูกบวงสรวงเทรดลงบนหินนั้นหรือทาที่หินนั้นด้วย

ชาวอาหรับโบราณทำการฆ่าอูฐ แพะ แกะ และวัวตัวเมีย เพื่อทำการบวงสรวงเทพเจ้า โดยให้เทพเจ้าดื่มแต่เลือดของสัตว์เหล่านั้น ส่วนผู้บูชานั้นกินเนื้อของมันเสียเอง แต่แรกนั้นการบวงสรวงถูกถือว่าเป็นการเลี้ยงอาหารแก่เทพเจ้า หรืออย่างน้อยก็เพื่อทำให้เทพเจ้ามีความพึงพอใจ

ดังนั้น จึงถือว่าการบวงสรวงทำให้ผู้บูชาได้เข้าใกล้ชิดกับเทพเจ้านั้นๆ ชาวอาหรับก็เหมือนกับชาวยิวที่ชอบเอาลูกสัตว์ตัวแรกที่เกิดมาในฝูงปศุสัตว์ของตนไปบวงสรวง ถ้ามีทารกเกิดมาในบ้านใด พ่อ-แม่ก็จะโกนผมลูกแล้วเอาแกะไปบวงสรวงแทนตัวเด็กทารก

การปฏิบัติเช่นนี้ยังมีอยู่ในหมู่ชาวอาหรับและชาวมุสลิมชาติอื่นๆ ในปัจจุบันนี้ซึ่งเรียกกันว่าอะกิเกาะฮ์ (Aqiqah) หากแต่ในชาวมุสลิมจะไม่มีเรื่องของการบวงสรวง คงมีแค่พิธีโกนผมและพิธีทางศาสนาเท่านั้น

 

นอกจากจะใช้แท่งหินหยาบๆ เป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้าของชาวอาหรับโบราณแล้วก็ยังใช้รูปปั้นที่ทำขึ้นด้วยความชำนาญไม่มากก็น้อย จะทำด้วยไม้หรือหินก็ได้ เรียกว่าเศาะนาม (Sanam) หรือวะษัน (Wathan) ซึ่งแต่แรกคงจะไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าหมายถึงหิน

รูปเคารพเหล่านี้จะถูกวางไว้ในโบสถ์ซึ่งใช้เป็นสถานสักการะ เป็นที่ถวายของบวงสรวงและของบูชาให้โบสถ์หรือวัด โบสถ์เหล่านี้มิได้มีขนาดใหญ่โตเหมือนโบสถ์ในอียิปต์หรือกรีซ เป็นแต่เพียงอาคารง่ายๆ บางครั้งก็มีแต่กำแพง หรือเอาก้อนหินมาวางล้อมไว้เท่านั้น

ไม่ใช่แต่เพียงตัวอาคารเท่านั้นที่ได้รับความนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

แต่บางครั้งสิ่งแวดล้อมที่นั่นก็ถูกถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มิอาจละเมิดได้ด้วย

และถือกันว่าอยู่ใต้การคุ้มครองของเทพเจ้านั้นๆ บางครั้งก็มีการบูชาต้นไม้ด้วย

ในโบสถ์จะมีพระเป็นผู้ดูแลและเป็นผู้อนุญาตให้ผู้บูชาเข้ามาทำการสักการบูชาได้ ตำแหน่งนี้มักถ่ายทอดกันมาเป็นมรดก คำหนึ่งที่ใช้เรียกพระคือคำว่ากาฮิน ซึ่งใช้เรียกหมอเวทมนตร์ด้วยเช่นกัน เชื่อกันว่าพระจะอยู่ใต้อิทธิพลของเทพเจ้าและมีความสามารถในการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต และกระทำการอื่นๆ ทางไสยศาสตร์

คำประกาศของพวกเขาก็เหมือนกับคำทำนายของเทพเจ้ากรีกโบราณ คือเลื่อนลอยและสองแง่สองนัยไม่ชัดเจน เมื่อเวลาผ่านไป พระซึ่งเคยเป็นผู้ดูแลโบสถ์ก็กลายเป็นหมอเวทมนตร์ไปด้วย รวมทั้งหมอเวทมนตร์ที่เป็นผู้หญิงด้วยเช่นกัน