“ชูศักดิ์” สวน “วิษณุ” คิดได้ยังไง สรรหาส.ว.ไม่เกี่ยวกับปชช. เงินเดือนก็ภาษีปชช.ทั้งนั้น

“ชูศักดิ์” สวน “วิษณุ” คิดได้ยังไงว่าการสรรหา สว. ไม่เกี่ยวกับ ปชช. ชี้ “เพื่อไทย” คงไม่ยอมจำนนกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่มีวันเหน็ดเหนื่อยที่จะต้องต่อสู้ทั้งๆที่รู้ว่ายากลำบาก เพราะเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในแนวทางปชต.

เทื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้เหตุผลถึงการที่ คสช.ไม่เปิดเผยคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. เพราะเป็นเรื่องภายในของ คสช. ไม่เกี่ยวกับประชาชน ว่า ตนพอเข้าใจได้ถึงการที่นายวิษณุ ได้พูดเช่นนั้นเพราะนายวิษณุ เป็นกรรมการสรรหาอยู่ด้วย และเป็นผู้รับใช้ คสช. และรัฐบาลอยู่จึงไม่แปลกที่จะหาเหตุผลมาอธิบายเพื่อแก้ต่างให้กับ คสช. แต่ที่แปลกใจมากๆ คืออยากถามไปยังนายวิษณุ ว่าคิดได้อย่างไรว่าการสรรหา สว.เป็นเรื่องภายในของ คสช.ที่ไม่เกี่ยวกับประชาชนทั้งที่เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเพราะเป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติและเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงกล่าวคือ 1. เมื่อ ส.ว. มีสถานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย การสรรหา ส.ว. จึงเป็นการสรรหาตัวแทนของประชาชน

ประชาชนจึงควรได้ทราบถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและกระบวนการสรรหา ส.ว.ด้วย 2. ส.ว. ต้องไปทำหน้าที่สำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติในนามของปวงชนชาวไทยการจะได้บุคคลใดมาเป็น ส.ว. ควรเปิดเผยให้ประชาชนทราบถึงกระบวนการได้มาและรายชื่อของผู้ที่ได้รับการสรรหาเพื่อเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นมิใช่ปกปิด ซ่อนเร้น รู้กันเฉพาะ คสช.และคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น 3. ส.ว.รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมาจากเงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ได้รับเงินเดือนจาก คสช. แล้วจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับประชาชนได้อย่างไร และ 4.ที่ผ่านมาคำสั่งและประกาศของ คสช. และของหัวหน้า คสช. ทุกฉบับได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาทุกฉบับไม่เว้นแม้แต่คำสั่งในเรื่องเล็กน้อยรวมถึงในเรื่องภายในของ คสช.ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนเลยเช่น ประกาศ คสช.ที่ 2/2562 เรื่อง แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 จะเห็นได้ว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงแต่กลับไม่ประกาศให้ประชาชนทราบแม้จะมีการเรียกร้องมาโดยตลอดแล้วก็ตาม

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ นายวิษณุ และ คสช. ต้องตอบประชาชนให้ได้ก็คือมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไรจึงต้องปกปิดวิธีดำเนินการในการสรรหา ส.ว. ตั้งแต่การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา รายชื่อคณะกรรมการสรรหาและวิธีการในการสรรหา เพราะเหตุผลที่อธิบายมาว่ากลัวจะมีการวิ่งเต้นนั้นเป็นเหตุผลที่เลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ เพราะ คสช. กับคณะกรรมการสรรหาก็เป็นคนกลุ่มเดียวกันใครจะไปวิ่งเต้นกับใครและทำไม คสช.จึงแต่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และคนใน คสช. และใน ครม.เป็นกรรมการสรรหา รวม 9 คน ซึ่งเป็นคนของ คสช. และรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งบุคคลเหล่านี้เห็นชัดว่าไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการสรรหาต้องแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ด้านต่างๆแต่กรรมการสรรหาไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิแต่เป็นคนของ คสช. เองนอกจากนี้เหตุใดคณะกรรมการสรรหาจึงแต่งตั้งกรรมการสรรหาด้วยกันเองเป็น ส.ว.ถึง 6 คนและทำไมรายชื่อ ส.ว. ที่ได้รับแต่งตั้งส่วนใหญ่เป็นคนในองคาพยพของ คสช. แล้ว ส.ว. เหล่านี้จะทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้า คสช.ซึ่งเป็นผู้คัดเลือกได้อย่างไร

“แม้ท่านเลือกที่จะอยู่กับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจมีตำแหน่งหน้าที่เป็นมือกฎหมายของรัฐบาลและ คสช. ก็ไม่ควรละทิ้งอุดมการณ์และคุณธรรมความเป็นนักกฎหมายที่ควรดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมเพื่อให้สังคมได้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องดีงามไม่ใช่หาเหตุผลข้างๆคูๆมาอธิบายเพื่อแก้ต่างให้ คสช.เช่นนี้และที่ท่านแนะนำว่าพรรคฝ่ายค้านอย่าทำอะไรเลย เหนื่อยเปล่า กรณีที่มีคำถามว่าการแต่งตั้งส.ว. อาจไม่ชอบเพราะกรรมการและการสรรหาไม่ชอบ ส.ว. เป็นโมฆะ ก็ต้องบอกว่ายุคนี้เป็นยุคที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านยึดอำนาจใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จมา 5 ปีกว่า แม้ปัจจุบันก็ต้องถือว่ายังอยู่ในช่วงของผลพวงจากการรัฐประหารยึดอำนาจไปจากประชาชน มีกฎหมายหลายประเภทที่ถูกยัดเยียดจัดทำขึ้นโดยฝีมือของเนติบริกรทั้งหลาย ถูกใช้ถูกตีความไปแบบบิดเบี้ยว ปัญหาว่าเราจะปล่อยยอมจำนนให้ประเทศนี้ถูกใช้ ถูกตีความไปในทางตามอำเภอใจ แบบว่าจะทำแบบนี้จะทำไม ไม่ยึดหลักอะไรกันทั้งสิ้น เป็นนิติรัฐจอมปลอมแบบนั้นหรือ เราคงไม่ยอมจำนนกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่มีวันเหน็ดเหนื่อยที่จะต้องต่อสู้ทั้งๆที่รู้ว่ามีความยากลำบาก เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของประชาชน” นายชูศักดิ์ กล่าว

มติชนออนไลน์