“ทวี” ซัด 5 ปี คสช. ทำไทยหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะพุ่งสูง

วันที่ 9 มิถุนายน 2562 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ข้อความสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีของรัฐบาล คสช.

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้เปิดเผยถึงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2562 (ตามเว็บ)

หนี้สินครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินภาคประชาชน ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย

สัดส่วนการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ non-bank ที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้กู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการขอสินเชื่อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการก่อหนี้หลายบัญชีและหลายสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ หนี้สินภาคประชาชนยังมีทั้งหนี้ในระบบ (หนี้สถาบันการเงิน) และหนี้นอกระบบ (หนี้ปล่อยกู้เกินกฎหมายกำหนด เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือ 1.25 บาทต่อเดือน) นอกจากสาเหตุที่กล่าวข้างต้นแล้วยังเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ความด้อยโอกาส ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ประชาชนเหล่านี้ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ยึดและอายัดทรัพย์สินรวมถึงที่ดินทำกิน และอาจเป็นคนล้มละลาย หนี้สินและความยากจนเป็นทุกข์ของประชาชนจำนวนมาก เป็นปัญหาสังคมที่ขยายตัวและเรื้อรังมานาน

ขณะเดียวกัน“หนี้สาธารณะของประเทศ” ที่เป็นหนี้ซึ่งรัฐบาลก่อขึ้นจาก “การกู้เงินมาใช้จ่าย” เนื่องจากจัดเก็บรายได้จากมาตรการภาษีไม่พอกับนโยบายการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกงบประมาณรายจ่ายประจำปีประเภทนี้ว่า “งบขาดดุล “

และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 มติของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังขยายเพดานการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% (มติดังกล่าว สามารถกู้ได้เพิ่มจากสัดส่วนเดิมมากถึง 60% ) ทำให้เพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลเพิ่มจาก 1.5 แสนล้านเป็น 2.4 แสนล้าน หรือเพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท

จากข่าวเว็บฐานเศรษฐกิจ ระบุว่า “การขยายเพดานก่อหนี้ผูกพันครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการขยายวงเงินเพื่อรองรับการลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาวันที่ 28 พฤษภาคมนี้”

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีสูงมากถึง จำนวน 6,833,645.93 ล้านบาท

การกู้เงินของรัฐบาล จะมีกรอบเป็นเงื่อนไขที่กําหนดข้อหนึ่ง คือ หนี้สาธารณะคงค้างไม่เกิน 60% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับ 41.78% ของ GDP กรณี GDP นั้น ปรากฏว่า GDP ของประเทศโตเพิ่มขึ้น จึงขยายฐานการเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวโตของ GDP

ซึ่งการโตของ GDP กับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนอาจจะตรงข้ามกัน เพราะ GDP ไม่ใช่รายได้ของประชาชนและรัฐบาลที่แท้จริง แต่เป็น ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ คือ การที่นับรายได้ที่เกิดขึ้นจากในประเทศเท่านั้นไม่ว่าผู้มีรายได้จะสัญชาติใด และ GDP ที่สูงขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับรายได้ของรัฐบาล

แต่หนี้สาธารณะ เป็นหนี้จริง เมื่อกู้มาแล้วก็ต้องใช้หนี้ พร้อมดอกเบี้ย สิ่งสำคัญคือรัฐกู้แล้วนำเงินไปใช้จ่ายอย่างไร เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เพราะ “รัฐบาล คสช. กู้เงิน ไม่สามารถตรวจสอบได้”

คำถามหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมากเกือบ 7 ล้านล้านบาทนั้น มีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหลายท่าน เห็นว่า ในสมัยรัฐบาล คสช. นำไปใช้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนนายทุนหรือประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นส่วนมาก จนประเทศไทยถูกจัดลำดับว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดของโลก

การที่รัฐมีหนี้สาธารณะมากจะส่งผลต่ออนาคตการพัฒนาเพราะต้องเบียดบังงบประมาณที่เป็นงบลงทุนของรัฐบาลไปชำระหนี้คืนและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

ในวาระที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่กระแสการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ภาคประชาสังคม และ นักวิชาการ มีมาก ในส่วนพรรคการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายค้านจำนวน 7 พรรค เป็นพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ ถึง 6 พรรค ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งประมาณ 1 ปีเท่านั้น จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลย์รัฐบาลจะแสดงผลงานเพื่อประชาชนได้มากเพียงใด

โดยรัฐบาลใหม่ต้องแถลงนโยบาย และที่สำคัญคือการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ ครม. รัฐบาล คสช. ตั้งงบประมาณไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ตั้งเป็นงบขาดดุลถึง 4.5 แสนล้านบาท ที่รัฐต้องกู้เงิน คือ “การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น”

ความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณแผนดิน เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่กระจุกตัวเฉพาะบางกระทรวง ทบวง กรม หรือเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มทุนที่มีข่าวสนับสนุนพรรครัฐบาลที่มี “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” เท่านั้น และประชาชนต้องการเห็นรูปธรรมการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายความสุขและผลประโยชน์ให้ประชาชนอย่างสมดุลและจับต้องได้ ซึ่งการเมืองไม่ใช่จำกัดเฉพาะเสียงโหวตอยู่ในสภาอีกต่อไปแล้ว แต่ที่มีค่าสูงยิ่งคือการได้มาซึ่งการเมืองที่รับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ
นอกจากจะพิสูจน์กันได้ผ่านรายงานและสถิติ ศรัทธาของประชาชนนั้นย่อมสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด