‘เนติวิทย์’ ร่วมรับฟัง-เจรจาปัญหา ‘ผู้ค้า-สนง.ทรัพย์สินจุฬาฯ’ แก้ปมขึ้นค่าเช่า-เลือกปฏิบัติ

เมื่อวานนี้ (5 เมษายน 2562) นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักเคลื่อนไหวคัดค้านการเกณฑ์ทหาร ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า บ่ายวันนี้ ผมได้รับโอกาสจากผู้ค้ารายย่อยที่ห้างจามจุรีสแควร์ให้ทำหน้าที่รับฟังและช่วยเจรจาแก้ไขปัญหากรณีสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เพิ่มอัตราค่าเช่าพื้นที่สูงมากกว่าสองเท่า (จากเริ่มต้น 10,000 บาท ขึ้นมาเป็น 14,700 บาท และล่าสุด สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 บาท) และกรณีผู้ค้ารายย่อยอ้างว่าถูกกลั่นแกล้งและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้จัดการ

ย้อนกลับไปเมื่อวาน ผู้ค้ารายย่อยที่ประสบปัญหาพยายามติดต่อผม เนื่องจากเขาเห็นผมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในเรื่องต่าง ๆ ทั้งนอกและในจุฬาฯ เขามารอเพื่อดักเจอผมที่คณะรัฐศาสตร์ แต่โชคร้ายที่เมื่อวานผมไปต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่หน่วยตรวจเลือกทหารเกณฑ์ ไม่ได้เข้าคณะ อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามอันน่านับถือของผู้ค้าเหล่านี้ เขามาดักรอผมอีกครั้งในวันนี้และได้พบเจอกัน เขาไม่ได้เป็นคนอื่นคนไกลจากผมเลย เขาเป็นผู้ค้าที่ห้างจามจุรีสแควร์ซึ่งผมแวะไปกินไปเที่ยวอยู่แทบทุกอาทิตย์ เขาเข้ามาคุย เล่าเรื่องราว พร้อมทั้งระบายความอัดอั้นและความไม่พอใจต่อผู้จัดการและสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ และขอให้ผมช่วยเข้าไปเจรจากับสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ให้

ถึงแม้ผมจะไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะไปช่วยอะไรผู้ค้าเหล่านี้ได้ แต่ครั้งแรกที่ได้ฟังผู้ค้าเหล่านี้เล่าเรื่องราวของเขา ทำให้ผมในฐานะนิสิตจุฬาฯ คนหนึ่ง และเป็นคนที่เคยเที่ยวเคยซื้อของในห้างจามจุรีสแควร์ ชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกสามคน เราทั้งสี่คนเชื่อว่าต่อไปนี้เป็นหน้าที่ของนิสิตจุฬาฯ ที่ควรจะทำ โดยเราเข้าไปรับฟังปัญหาและเดินทางไปสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ เพื่อขอเข้าไปเจรจากับผู้อำนวยการของสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ

เมื่อถึงที่หมาย เราเข้าไปติดต่อขอพบ ผ่านไปประมาณ 20 นาทีเขาจึงเปิดห้องประชุมให้เราเข้าไปนั่งรอ และผ่านไปอีก 25 นาที ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาในห้องประชุม ในช่วงแรกบรรยากาศค่อนข้างดุเดือด ทั้งสองฝ่ายต่างมีข้อเรียกร้องและชี้แจงข้อมูลคนละทิศทางกัน ผ่านไปพักหนึ่งก็เริ่มสัมผัสได้ถึงบรรยากาศการเจรจา ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ รับฟังปัญหาจากผู้ค้ามากขึ้น ส่วนผู้ค้ารายย่อยก็พูดคุยเจรจา บอกกล่าวปัญหา และพยายามหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเราทั้งสี่คนก็ช่วยจดบันทึกประเด็น เสนอแนวทางที่เป็นไปได้ และเราช่วยกันเจรจาให้ข้อเรียกร้องของผู้ค้าได้รับการพิจารณา ในที่สุด เมื่อผ่านไปอีก 50 นาที การประชุมก็สิ้นสุดลง การเจรจาถือว่าผ่านไปด้วยดี และหลายคนบอกว่า ดีกว่าการพูดคุยในครั้งก่อน ๆ

กรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรก เมื่อสมัยที่ผมเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ผมเกือบถูกจุฬาฯ ตัดคะแนนความความประพฤติ จากกรณีที่ผมขอเปิดพื้นที่ให้ผู้ค้ารายย่อยบริเวณสวนหลวงสแควร์ (ชุมชนหลังจุฬาฯ) มาบอกกล่าวถึงปัญหาระหว่างเขากับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เรื่องระยะสัญญาการใช้ที่ดินของเขา ในขณะนั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่ง (ปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งใหญ่กว่าเดิมแล้ว) บอกผมว่า “เนติวิทย์แน่ใจหรือที่จะจัดงานนี้ จะจัดรับฟังได้แน่หรือเปล่า เตือนแล้วนะ” ซึ่งผมก็ยืนยันว่าจะจัด และก็จัดในห้องเล็กๆนั้น ซึ่งนั่นก็เป็นข้อหาที่จะพ่วงมาหลังจากตัดผมและเพื่อน 25 คะแนนกรณีถวายสัตย์ แต่เพราะเห็นว่ากรณีผมเป็นที่สนใจเยอะถ้าตัดอีกคงมีปัญหา เขาจึงมาบอกทีหลังว่า “ไม่ได้ตัดแล้วเรื่องนี้ สิ่งที่เนติวิทย์คิดจะทำนั้นดีแล้ว” ผมเลยไม่ต้องไปศาลปกครองเรื่่องนี้ 

ผมขอฝากทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า เจตนารมณ์ของทั้งในหลวงรัชกาลที่หก และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่างต้องการให้ผู้บริหารจุฬาฯ ใช้ที่ดินบริเวณนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและเพื่อประโยชน์ของประชาราษฎร ดังนั้น การดำเนินกิจการใด ๆ บนพื้นที่ของจุฬาฯ ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์เหล่านี้ไว้ให้มั่น กรณีนี้ผมและเพื่อนอีกสามคนดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ทำหน้าที่นิสิตจุฬาฯ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการใช้ที่ดินจุฬาฯ และได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนและสังคมรอบ ๆ จุฬาฯ