วันนักข่าว 5 มีนาคม : จากจอดำถึงปลดพิธีกร สื่อโดนอะไรในช่วงเลือกตั้ง?

วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี นับเป็นวันนักข่าวซึ่งตรงกับวันก่อตั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยให้ความสำคัญต่อบทบาทของนักข่าวและสื่อสารมวลชนในการทำหน้าที่เสนอเรื่องราวต่างๆกับสังคมไทย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จากวิกฤตการเมืองไทยที่ล่วงมาถึง 12 ปี นับจากการรัฐประหาร 2549 ความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมือง จนมาถึงรัฐประหาร 2557 และใกล้วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม บทบาทการทำงานและเสรีภาพในนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนถูกท้าทายและจำกัดอย่างหนัก และมีความกังวลว่าช่วงการเลือกตั้งในขณะนี้ สื่อเองยังคงถูกคุกคามในการทำหน้าที่อยู่ แม้บรรยากาศจะผ่อนคลายไปเพียงบางส่วนก็ตาม

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ได้เสนอเรื่องราวในวันนักข่าวกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรรัฐอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ทำหน้ากำกับดูแลด้านสื่อมวลชน พบว่านับตั้งแต่การรัฐประหารของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กสทช.ได้ใช้อำนาจตามกฎหมาย จัดการกับสื่อการเมือง โดยเฉพาะกรณีล่าสุด หลังจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมกสทช.ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วัน ระบุว่า การนำเสนอเนื้อหาของวอยซ์ ทีวี ถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก

กรณีที่กสทช.กล่าวว่า การกระทำของวอยซ์ ทีวีเป็นการกระทำความผิดซ้ำซาก ปรากฏในหลักฐานเอกสารว่า รายละเอียดการเรียกวอยซ์ ทีวีเข้าชี้แจงในรายการดังกล่าว ไม่ได้มีประเด็นให้ชี้แจงเรื่องการกระทำความผิดซ้ำแต่อย่างใด เห็นว่า กสทช.ไม่ได้ประสงค์จะพิจารณาเรื่องการกระทำความผิดซ้ำ ไม่ให้โอกาสวอยซ์ ทีวีในการพิสูจน์ การอ้างว่า วอยซ์ ทีวีเสนอเนื้อหาสร้างความสับสนซ้ำซาก เป็นเหตุให้ระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันจึงมีน้ำหนักไม่เพียงพอ ทำให้วอยซ์ ทีวีสามารถออกอากาศได้ตามปกติ โดยคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันของกสทช.ไม่ใช่ครั้งแรกที่กสทช.ลงโทษสื่อการเมือง

จากรายงานการประชุมของ กสทช. เท่าที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – 22 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า มีการออกมติให้ลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง, บันทึกข้อตกลงระหว่างสื่อและกสทช. และมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไปแล้ว อย่างน้อย 59 ครั้ง สถานีที่ถูกสั่งลงโทษมากที่สุดคือวอยซ์ ทีวี 24 ครั้ง และรองลงมาคือ พีซทีวี 14 ครั้ง ในจำนวนการปิดกั้นทั้งหมดมีไม่น้อยกว่า 39 ครั้งที่ กสทช. พิจารณาลงโทษสื่อ ตามเงื่อนไขของประกาศและคำสั่งของ คสช.

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีกรณีล่าสุดเกี่ยวกับการเปิดเผยของอรวรรณ ชูดี บรรณาธิการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท.และผู้ดำเนินรายการ ศึกเลือกตั้ง 62 ร่วมกับนายวีระ ธีระภัทรานนท์ นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ว่าบอร์ดบริหาร อสมท.ได้มีคำสั่งให้ยุติการทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยถูกกล่าวหาว่าดำเนินรายการเอนเอียง จากกรณีผลโหวตต่อคำถาม 3 ข้อกับนักศึกษา 100 คน ในห้องส่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในหัวข้อ”คนใหม่..การเมืองใหม่”ร่วมกับตัวแทนผู้สมัครหน้าใหม่ 10 คน 10 พรรคการเมือง ในคำถามดังต่อไปนี้

1.เห็นด้วยหรือไม่ที่พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไม่ร่วมการดีเบต
เห็นด้วย 6 เสียง ไม่เห็นด้วย 94 เสียง
2.เห็นด้วยหรือไม่ ที่รธน.60 ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกให้ ส.ว. 250 คนร่วมโหวตเลือกนายกฯ
เห็นด้วย 1 เสียง ไม่เห็นด้วย 99 เสียง
3. เห็นด้วยหรือไม่ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำเป็นสำหรับประเทศไทย
เห็นด้วย 2 เสียง ไม่เห็นด้วย 98 เสียง
4.เห็นด้วยหรือไม่ ว่าประเทศไทยจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มใบหรือครึ่งใบก็ได้ ถ้าทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น
เห็นด้วย 17 เสียง ไม่เห็นด้วย 83 เสียง

อรวรรณโพสต์ระบุว่า พวกเขาไม่ทราบคำถามล่วงหน้า มีเพียงข้าวกล่องและรถรับส่ง ในการมาร่วมรายการ แต่ 100 เสียงในคืนวันที่ 28 ก.พ.62 ของเหล่าเฟิร์สโหวตเตอร์เหล่านี้ กำลังขย่มขวัญไปถึงผู้มีอำนาจ จนมองว่านี่คือการชี้นำโจมตีรัฐบาล ทั้งที่เป็นประเด็นที่คนไทยทั้งประเทศมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่ออนาคตของพวกเราทุกคน

อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดเผยข่าวการถูกปลดของอรวรรณ สื่อมวลชนหลายสำนัก พิธีกร ผู้ประกาศข่าว นักการเมืองรวมถึงนักศึกษาที่ร่วมรายการได้ออกมาให้กำลังใจและวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งปลดของบอร์ดบริหาร อสมท.จนต่อมา นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยใหญ่ บมจ. อสมท ออกมาชี้แจงกรณีข่าวการปลดพิธีกรรายการดีเบต “เลือกตั้ง 2562” โดยระบุว่า อาจมีความคลาดเคลื่อนในข้อมูล เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการสลับตัวผู้ดำเนินรายการเท่านั้น และจะกลับมาใช้พิธีกรคู่เดิม

นอกจากนี้ อีกอุปสรรคในการทำงานของสื่อมวลชน คือ คำสั่ง คสช.ที่ 1. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 2. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 3. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 และ 4. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ซึ่งควบคุมการนำเสนอเนื้อหาข่าวทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จและเป็นคำสั่งที่ไม่ได้ถูกนับรวมไปกับคำสั่งที่ 22 /2561 ที่ปลดล็อกคำสั่ง 11 ฉบับ เพื่อเปิดให้ทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง

ขณะที่ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ได้กล่าวว่า เชื่อว่ามีความพยายามปิดกั้นสื่อในช่วงก่อนถึงเลือกตั้งแน่

ทั้งนี้ บรรยากาศการหาเสียงการเลือกตั้ง ได้ก็เกิดกระแสของนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกระแส “ฟ้ารักพ่อ” ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกลับมานิยมอย่างรวดเร็ว หลังเหตุการณ์วันท่ี่ 8 กุมภาพันธ์ และได้สร้างความกังวลให้กับฝ่ายขวาจัดและผู้อำนาจในรัฐบาล ทำให้เกิดปรากฎการณ์โจมตีรายวันจากกลุ่มขบวนการที่มีเป้าหมายเจาะจง โดยการนำเสนอข่าวและสร้างเนื้อหาบิดเบือนเพื่อโจมตีทางการเมือง ซึ่งในจำนวนเนื้อหาเหล่านี้ ยังถูกเผยแพร่จากสำนักข่าวที่เรียกตัวเองว่ามีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ แต่กลับมีการเผยแพร่เนื้อหาพุ่งเป้าโจมตีตัวนักการเมือง นักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร คสช. ในขณะที่ ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐบาล คสช.และสื่อที่นำเสนอเนื้อหาที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ ถูกปิดปากด้วยอำนาจอิทธิพลและกฎหมายที่ให้อำนาจการตีความไว้อย่างกว้างขวาง

นับเป็นความท้าทายพร้อมกับตั้งคำถามกับสื่อมวลชนว่า แม้ตัวผู้สื่อข่าวจะเป็นมนุษย์ที่มีความคิด ความเชื่อและวิธีคิดของตัวเอง จะสามารถทำหน้าที่อย่างซื่อตรง รอบด้านอย่างหนักแน่นต่อสภาวะการเมืองไทยขณะนี้ได้มากแค่ไหน