พอได้แล้ว! “พี-มูฟ” นัดแต่งดำหน้าสภาพุธนี้ จี้สนช.หยุดผ่านร่างกฎหมายเอื้อรัฐ-นายทุน

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 กลุ่มชาวบ้านจากทั่วประเทศ ที่รวมตัวกันในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)ออกมาประกาศแต่งชุดดำหน้ารัฐสภา เพื่อคัดค้านไม่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ออกกฎหมายอีกต่อไป พร้อมให้หยุดละเมิดสิทธิประชาชน ในเวลา 09.00 น. วันที่ 27 ก.พ. ความว่า

ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน, ร่าง พ.ร.บ.ข้าว และอีกหลายๆ กฎหมายที่พิจารณาผ่านไปแล้ว จนมีผลบังคับใช้ ซ้ำเติมความเดือดร้อน เดินหน้าลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เอื้อประโยชน์ภาครัฐและนายทุน นี่หรือคือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?

กฎหมายแล้วกฎหมายเล่า ซ้ำเติมความเดือดร้อน จำกัดสิทธิเสรีภาพ เป็นเครื่องมือภาครัฐใช้เอาผิดคนคิดต่าง ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งเช่นนี้ สิ่งที่คุณทำมาตลอดสี่ปี ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดเสียที

ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องหยุดเสียที เตรียมชุดดำให้พร้อม เจอกันวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 09.00 น. หน้ารัฐสภา

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อถามว่า มีข้อท้วงติงให้ สนช.ยุติการพิจารณากฎหมาย เพราะใกล้เลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนั้น นพ.เจตน์กล่าวว่า ขณะนี้เหลือกฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2-3 อีก 22 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่เสนอมายัง สนช.นานแล้ว ส่วนกฎหมายใหม่ สนช.ไม่ได้มีการพิจารณาอีก สนช.รับฟังทุกเสียงท้วงติง และยืนยันว่า การพิจารณานั้นเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ได้มีการเร่งรีบอย่างที่กล่าวหา เช่น เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมถกเถียงอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.การจราจรทางบก และร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ทั้งวันได้เพียง 2 ฉบับ จึงอยากชี้แจงทำความเข้าใจว่า สนช.รับฟังทุกข้อท้วงติงจากภายนอก ไม่ได้ปล่อยผ่านง่ายๆ ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ก็มีนโยบาย ให้การพิจารณากฎหมายจบภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ ก็อาจมีบางฉบับตกค้าง แต่เชื่อว่าการพิจารณาไม่น่าเกินเดือนมีนาคมนี้

สำหรับกำหนดการนัดประชุมของ สนช.สัปดาห์นี้มีทั้งสิ้น 4 วัน ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม มีวาระการพิจารณากฎหมาย วาระ 2-3 รวม 14 ฉบับ มีกฎหมายที่น่าจับตา เช่น ร่างพ.ร.บ.ข้าว ที่พรรคการเมืองคัดค้านอย่างหนัก มีเนื้อหาก่อให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธ์ุข้าว การจัดโซนเพาะปลูก จนชาวนาได้รับผลกระทบอย่างมาก ชุดกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ อย่างร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่าง พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ที่มีเนื้อหาอาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และชุดกฎหมายที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท หรือเอ็นจีโอชาติ ท้วงติงให้ยุติการพิจารณาทันที เพราะเป็นร่างกฎหมายที่ถูกผลักดันจาก ครม.แต่ละเลยร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและการเข้าถึงทรัพยากรของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง คือ ร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า