ป.ป.ช.เตรียมลุยยื่นอุทธรณ์คดี ‘ทักษิณ’ ฟื้นฟู TPI หลังศาลยกฟ้อง ยันไม่ได้จ้องเล่นงาน

ป.ป.ช. เตรียมยื่นอุทธรณ์คดี ‘ทักษิณ’ ฟื้นฟู TPI ยัน ไม่ได้จ้องเล่นงาน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI โดยศาลฯเห็นว่า ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาพิเศษนั้น ป.ป.ช. ได้เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไปแล้ว เนื่องจากกรณีนี้ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องศาลเอง และศาลวินิจฉัยแล้วว่าสามารถอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ เป็นไปตามกระบวนการ ดังนั้น ป.ป.ช.ต้องดูในคำวินิจฉัยของศาลว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นอะไรบ้าง

เมื่อถามว่า สาเหตุที่อุทธรณ์เพราะมีชื่อนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยใช่หรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ไม่เกี่ยว ข้อสำคัญคือ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้อง เมื่อศาลยกฟ้องก็ต้องมาพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ถ้ามีเหตุผลต้องอุทธรณ์ให้สิ้นกระบวนความ ให้สิ้นสงสัย

ส่วนกรณีเสียงวิพากษ์จารณ์ว่าเมื่อเกิดช่วงการเมืองเข้มข้น ป.ป.ช. มักหยิบคดีที่มีชื่อของนายทักษิณมาพิจารณา ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ถ้า ป.ป.ช. ไม่อุทธรณ์ จะโดนอีกว่าทำไมไม่อุทธรณ์ทั้งที่เป็นคนฟ้องเอง ทั้งๆ ที่ต้องอุทธรณ์ แล้วแต่คนจะมอง ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของการทำหน้าที่ ปกติต้องมีคนมอง 2 ด้านอยู่แล้ว ด้านหนึ่งสนับสนุน ด้านหนึ่งไม่สนับสนุน ในเมื่ออยู่ตรงกลาง แล้วไม่ยึดหลักของกระบวนการ จะทำงานลำบาก แต่ถ้ายึดหลักแล้วทำงานตามกระบวนการกฎหมาย ก็ไม่มีปัญหาอะไร

“ที่ถามว่าจ้องทำคดีที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ คงไม่ใช่ ต้องไปดูว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง เรื่องใหญ่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวน 40 กว่าเรื่อง พยายามเร่งอยู่ว่าเรื่องไหนจะเดินหน้าไปได้บ้าง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เอากลับขึ้นมาได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎหมาย ให้สามารถพิจารณาลับหลังได้ เราทำตามขั้นตอน เสียงวิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา เราก็น้อมรับ ใครเตือนมาเราก็ฟังทั้งนั้น แล้วมาดูว่าจริงหรือไม่ ถ้าจริง ต้องให้ความเป็นธรรม ถ้าใครมาเตือนก็ขอขอบคุณที่เป็นกระจกส่องตัวเราเอง เพราะบางทีทำงานเยอะๆ ไม่รู้ตัวหรอกว่าชักจะเซไปด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ เมื่อมีเสียงเตือนมา ก็ต้องให้ความเป็นธรรม เตือนมาให้ไปดูก็ดู มีความคืบหน้าอย่างไร เหมือนเจ้าหน้าที่ไต่สวนที่เขาทำ เขาก็อยากให้เรื่องของเขาได้รับการพิจารณา แต่เมื่อถูกกรรมการให้กลับไปทบทวน เขาก็มีความรู้สึกว่า ไม่ถูกต้อง ทั้งที่ชั้นการพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ อยู่ในชั้นเจ้าหน้าที่ กรรมการ ป.ป.ช. ต้องเข้าใจด้วยว่า กฎหมายบอกว่า สำนวนทุกสำนวนเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยอย่างไร ต้องดำเนินการตามนั้น” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว