“ไอติม” ชู ปรับโครงสร้างประเทศ เลิกสนแค่ตัวเลขGDP-ลุยเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด

วันนี้ (11 พ.ย.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม หลานชาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นแกนนำรุ่นใหม่พรรรคประชาธิปัตย์ ความเหลื่อมล้ำ – โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับประเทศ โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ ระบุว่า เมื่อวานผมได้เกียรติเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมงานเสวนา #อยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ ร่วมกับอีก 9 พรรคการเมืองและภาคประชาสังคม

ตัวแทนพรรคทุกคนถูกถามให้ตอบภายใน 3 นาทีว่า “โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับรัฐบาลต่อไปคืออะไร?”

ผมคิดนานมากระหว่างหลายคำตอบ เช่น “การสร้างประชาธิปไตย” หรือ “การศึกษา” แต่ในที่สุด คำตอบที่ผมตอบคือ “ความเหลื่อมล้ำ” เพราะผมมองว่าเราต้องปรับโครงสร้างประเทศหลายอย่างมากเพื่อจะให้เด็ก 2 คน ที่เกิดมาในประเทศไทย มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน:

1. ใช้ตัวชี้วัดใหม่นอกเหนือจาก GDP

รัฐบาลนี้ภูมิใจมากกับการที่ตัวเลข GDP ขึ้นทั้งๆที่พอเราถามประชาขนทั่วไป เป็นเอกฉันท์ว่าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะการวัด GDP คือการบวกรายได้ของทุกคนโดยไม่คำนึงว่ารายได้ในประเทศถูกแบ่งระหว่างประชาชนแต่ละคนอย่างไร ถ้าคนที่รวยสุดในประเทศขโมย 1,000 บาทจากคนที่จนสุดในประเทศ GDP ไม่เปลี่ยน หากเรายังประเมินทุกโครงการหรือวัดความสำเร็จของเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงแค่ผลกระทบต่อ GDP ความเหลื่อมล้ำไม่มีทางหายไป

2. เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด

ผมเชื่อว่าเรากระจายความเจริญไม่ได้ ถ้าเราไม่กระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการให้ทุกจังหวัดมีผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งของคนในจังหวัด และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น (โดยต้องควบคู่ไปกับมาตรการเพิ่มความโปร่งใส) เพื่อให้จังหวัดจัดการตนเองได้ ไปในทางที่เหมาะสมสำหรับจังหวัดนั้นๆ

3. ลดหนี้สิน เพิ่มการออม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย

หลายครัวเรือนในไทยลำบากเพราะปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ โดยปัญหานี้จะยิ่งทวีคูณเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะเราจะมีอายุยืนขึ้นซึ่งทำให้รายจ่ายหลังวัยทำงานสูงขึ้นไปด้วย เป็นเรื่องสำคัญมากแต่ไม่ง่ายที่รัฐบาลจะต้องหาวิธีช่วยครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มแรงจูงใจในการออมเงินตั้งแต่เด็กเพื่อเตรียมไว้ใช้ตอนสูงวัย

4. สร้างรัฐสวัสดิการ ที่คนจะยอมช่วยกันจ่าย

ผมเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ ที่ประชาชนทุกคน ทุกจังหวัด สามารถเข้าถึงโรงเรียนและโรงพยาบาลที่มีคุณภาพได้แบบฟรี หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณที่ส่วนหนึ่งต้องมาจากการเก็บภาษีจากพวกเรา เพื่อจะให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษี จำเป็นที่รัฐจะต้องสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรม โดยไม่ให้ภาระไปตกอยู่ที่คนที่ไม่สามารถจ่ายได้ ควบคู่ไปกับการทำให้ประชาขนมั่นใจว่าทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายให้รัฐ จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศจริง ไม่ใช่หายไปเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น

5. ลดการผูกขาด

เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สามารถแข่งขันได้บนสนามที่เป็นธรรมมากขึ้น รัฐต้องจริงจังกับการออกแบบกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันที่ครอบคลุมและบังคับใช้ได้จริง ยิ่งในยุคสมัยที่ธุรกิจหลายๆอย่างมี network effect ที่ทำให้มีการผูดขาดโดยธรรมชาติ (เช่น ในเมื่อหลายคนใช้ Facebook อยู่แล้ว คนเลยยิ่งอยากใช้ Facebook มากขึ้นเพราะเพื่อนทุกคนอยู่บน Facebook หมด ทำให้ผู้แข่งขันหน้าใหม่เจาะตลาดได้ยากมาก)

จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้แรงและเวลาเพื่อผลักดัน แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำที่สูง เด็ก 2 คนที่เกิดมาในประเทศเราจะไม่สามารถมีโอกาสที่เท่าเทียมกันได้

นี่คือเป้าหมายที่ผมจะต่อสู้เพื่อนำพาประเทศไทยให้ไปถึง