นักวิชาการตอบข้อถกเถียง “เจ้าหน้าที่และฝ่ายขวา” นับเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วยหรือไม่

วันที่ 9 ตุลาคม 2561 เหตุโศกนาฏกรรมในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามถูกให้ลืมอย่างเหตุการณ์กวาดล้างนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ผ่านมาถึง 42 ปี แต่เรื่องราวและแง่มุมที่ไม่เคยปรากฎมานาน ทยอยเปิดเผยมากขึ้นและเต็มเติมส่วนที่ขาดหายไปในประวัติิศาสตร์เดือนตุลา ตามด้วยคำถามและข้อถกเถียง หนึ่งในข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นคือ “จำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น นอกจากฝ่ายนักศึกษาและประชาชนที่เสียชีวิตอย่างโหดร้ายทารุณแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐและมวลชนฝ่ายขวาที่ร่วมปราบปรามรวมอยู่ด้วย จึงควรนับผู้เสียชีวิตฝ่ายดังกล่าวเป็นเหยื่อของเหตุการณ์”?

ล่าสุด รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในคณะทำงานของโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เดือนตุลา โดยเฉพาะข้อมูลในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อตอบข้อถกเถียงนี้ โดยระบุว่า

เจ้าหน้าที่และฝ่ายขวาที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 คือเหยื่อเช่นเดียวกับนศ.ประชาชนที่ถูกฆ่าอย่างนั้นหรือ?

อันเนื่องมาจากมีคนเสนอความเห็นว่าเราควรถือว่าเจ้าหน้าที่และขวา 5 คนที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ตุลาเป็นเหยื่อเช่นเดียวกับนศ.ประชาชนที่ถูกสังหาร เพราะต้องถือว่าเขาเป็นเหยื่อ เป็นผู้สูญเสียด้วย เป็นผลพวงของการปลุกปั่นของผู้บงการอยู่เบื้องหลัง เราต้องไม่แบ่งฝักฝ่าย

ที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเจอคนเสนอทำนองนี้ และเชื่อว่าคงจะมีคนคิดเช่นนี้อีกแน่ ๆ ฉะนั้น ขอใช้พื้นที่นี้ตอบให้ชัดเจนไปเลย

เราต้องแยกแยะข้อเท็จจริงพื้นฐานให้ได้ก่อนว่าการเสียชีวิตของสองฝ่ายมีสาเหตุที่แตกต่างกันอย่างไร ฝ่ายนศ.ปชช.​เสียชีวิตเพราะถูกล้อมปราบด้วยกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธหนักและมวลชนฝ่ายขวาหลายร้อยคน พวกเขาชุมนุมกันอย่างสงบในมหาวิทยาลัย จริงอยูที่ฝ่ายจนท.และฝ่ายขวาเสียชีวิตจากการถูกยิงจากการ์ดของ นศ. แต่เพราะการ์ดพยายามสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายแรกบุกเข้ามาธรรมศาสตร์ พวกเขาเสี่ยงชีวิตตนเองเพื่อปกป้องเพื่อนนับพันคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย พยายามถ่วงเวลาให้นานที่สุดเพื่อให้เพื่อนหนีรอดได้ ฉะนั้น คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ในวันนั้นคือคนที่อาสามาเป็นการ์ดให้เพื่อน ๆ

(เป็นที่รู้และยอมรับกันมานานแล้วว่าการ์ด นศ.บางคนพกปืน เพราะช่วงปี 2518-19 นศ.ถูกลอบทำร้ายจากพวกกระทิงแดงบ่อยครั้ง แต่การพกอาวุธนี้เพื่อป้องกันตนเอง ไม่ใช่เพื่อไปข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม และการพกอาวุธนี้เป็นคนละเรื่อง คนละระดับการจัดปาหี่ของเจ้าหน้าที่รัฐหลัง 6 ตุลา ที่บอกว่าเจอคลังอาวุธมหาศาลและอุโมงค์ในธรรมศาสตร์ อาวุธพวกนี้ถูกนำมาจัดนิทรรศการใหญ่โต แต่กลับไม่ถูกยื่นเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องผู้นำนักศึกษา 18คน)

2. ในขณะที่นศ.ปชช.​ที่เสียชีวิตและครอบครัวของพวกเขาไม่เคยได้รับความยุติธรรม และยังถูกประณามว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขายชาติ หนักแผ่นดินต่อเนื่องอีกหลายปี เจ้าหน้าที่และมวลชนฝ่ายขวาได้รับการ
ยกย่องว่าเสียสละชีวิตทำหน้าที่ปกป้องสถาบันหลักของชาติ ได้รับพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ

การเสียชีวิตของคนสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ใครคือผู้ชนะหรือผู้กระทำ (perpetrator) ใครคือผู้พ่ายแพ้หรือเหยื่อ เราแยกแยะไม่ได้หรืออย่างไร ถ้าแยกแยะไม่ได้ เราก็กำลังทำให้โลกกลับหัวกลับหางอย่างเหลือเชื่อ

3. การที่บอกว่าจนท.และฝ่ายขวาคือเหยื่อของการปลุกระดมให้เกลียดชังเช่นกัน. เราไม่ชอบประโยคนี้เท่าไร ฉะนั้น ขอแก้ใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เรามองว่าพวกเขาคือ “ผลพวง” หรือผลงานของการปลุกระดมฯ และอาจจะเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิตซ้ำความเกลียดชังดังกล่าวด้วยก็ได้

แต่เอาละ ไม่ว่าจะใช้คำอะไร หากจะป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียเช่นนี้อีก ก็ต้องไม่ใช่เอาพวกเขามาเหมารวมในเข่งของเหยื่อ ทำให้พวกเขาเป็นเหยื่อแบบเดียวกับนศ.ปชช.​ที่ถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหดด้วยปฏิบัติการที่พวกเขามีส่วนร่วม แต่ต้องป้องกันไม่ให้ปฏิบัติการแห่งความเกลียดชังเกิดขึ้นอีก

ดิฉันขอยกตัวอย่างที่ไกลตัวแต่สุดโต่งสักหน่อย เผื่อคนโลกสวยจะได้เห็นกันชัดเจนขึ้น หากเราเอาจนท.และฝ่ายขวามารวมกับคนที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการสังหารหมู่ของพวกเขาเอง ก็คงไม่ต่างกับการบอกว่าบรรดาทหารนาซีที่เสียชีวิตจากกองกำลังชาวยิวที่พยายามปกป้องตนเอง ก็สมควรได้รับการเรียกขานว่าเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน ถ้าคุณเสนอแบบนี้ คุณไม่คิดว่ามันน่าหัวเราะเยาะอย่างนั้นหรือ

แต่หากคุณบอกว่าว่าทหารนาซีก็เป็นเหยื่อของนโยบาย Racism ของฮิตเลอร์ด้วยเช่นกัน … วิธีป้องกันคือ ต่อต้าน Racism ทุกชนิด ไม่ใช่ทำให้ทหารนาซีกลายเป็นเหยื่อผู้น่าสงสาร (แล้วเอาจริง ๆ งานศึกษาเรื่องนาซีจำนวนมากได้พยายามชี้ให้เห็นว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาที่ฮิตเลอร์คนเดียวแน่ ๆ คนเยอรมันจำนวนมากต้องร่วมรับผิดชอบด้วย)

4. คนที่วิจารณ์ยังกล่าวเตือนทำนองว่าเราควรปฏิบัติต่อจนท.และฝ่ายขวาเยี่ยงมนุษย์เช่นเดียวกับเรา อย่าทำกับพวกเขาเป็นศัตรูและสมควรตาย

ขอโทษนะคะ ตั้งแต่ทำบันทึก 6 ตุลามา ยืนยันได้ว่าไม่เคยเขียนอะไรที่ชี้ว่าพวก จนท.และฝ่ายขวาสมควรตายเลย แม้แต่ตอนเขียนถึงสล้าง บุนนาค หลังจากที่เขาฆ่าตัวตาย เราก็เขียนอย่างระวัง ไม่เคยใช้คำด่าทอหรือประณามเขาด้วยซ้ำ แต่เสนอข้อมูลเป็นหลัก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

5. มีการเสนอว่าควรเสนอข้อมูลของฝ่ายขวาด้วย

เราตอบไปว่าช่วยกรุณาเข้าไปดูเว็บ www.doct6.com ของโครงการหน่อยเถอะ เอกสารหลักฐานที่เราเอามาใส่ไว้ เป็นเอกสารของฝ่ายขวาเป็นส่วนใหญ่ ทั้งคำให้การพยานฝ่ายโจทก์ 224 คน หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา (ดาวสยาม บ้านเมือง ชาวไทย ฯลฯ) เพื่อให้คนที่สนใจได้ศึกษาตีความ ซึ่งไม่จำเป็นต้องตีความแบบเดียวกับเราก็ได้ ในความเป็นจริง เอกสารและข้อมูลของฝ่ายผู้ถูกกระทำมีน้อยมาก และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่เราทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยพยายามติดตามหาญาติและประวัติของผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด

ที่จริงประเด็นนี้ ทีมงานได้เคยคุยกันมาแล้ว เราขอยกข้อความที่คุยกันมาให้ทุกคนได้อ่านในที่นี้

“ข้อเสนอให้โครงการเปิดพื้นที่ให้คนที่จำเหตุการณ์ได้และได้รับผลกระทบ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ รวมทั้ง “ฝ่ายเจ้าหน้าที่และประชาชนฝ่ายขวา” ในวันนั้น และคนทั่วไปอย่างคนที่ยืนดูเหตุการณ์เขียนเล่ามาได้ น่าจะไม่มีปัญหาในแง่ควรทำหรือไม่ แต่อาจมีในแง่ว่าควรเป็น priority สูงแค่ไหนในบรรดาสิ่งที่ควรทำและใน resource ที่จำกัดทั้งคนและเงิน

ข้อเสนอให้นำเสนอความทรงจำของ “ฝ่ายเจ้าหน้าที่และประชาชนฝ่ายขวา” รวมอยู่ในการทำจดหมายเหตุด้วย เพราะไม่ต้องการให้มีแต่เรื่องของ ‘เหยื่อ’ “มาครอบครองพื้นที่ความทรงจำ” หากคิดให้จริงจังสักหน่อยกับข้อเสนอนี้ จะพบว่าน่าปวดหัวมาก

โดยหลักการ ผมเห็นด้วยว่าเราจะต้องไม่ปิดบัง ไม่มีการเซ็นเซอร์ ไม่ห้ามคนรับรู้ความคิดความทรงจำและเสียงของอาชญากรผู้กระทำ แต่ลองต้องคิดให้คิดดีให้รอบคอบกันสักนิด เพราะผมไม่เห็นด้วยเลยกับข้อที่ว่า ‘เหยื่อ’ ได้“ครอบครองพื้นที่ความทรงจำ” จนเราไม่เป็นกลาง

เอาเข้าจริงแล้ว มีเอกสารคำสัมภาษณ์พวกฝ่ายขวาอยู่ในพื้นที่สาธารณะเต็มไปหมด คำสัมภาษณ์สุตสาย (พล.ต.สุตสาย หัสดิน อดีตหัวหน้าขบวนการกระทิงแดง) ลูกของสุตสาย กระทิงแดงบางคน คำแก้ตัวของสมัคร จำลอง ฯลฯ อยู่ในพื้นที่สาธารณะทั้งนั้น อย่าคิดว่าไม่มี เอกสารข้อมูลที่เราเก็บรวบรวมมาไว้ เช่น เอกสารทางการทั้งหลาย นสพ. ล้วนมีเสียงของฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายขวารวมอยู่ด้วย ทั้งที่เปิดเผยตรงไปตรงมาและที่แทรกอยู่โดยปริยายเพราะเป็นเสียงที่ครอบงำ คำให้การของ 224 คนแก่ตำรวจนั้น เป็นพยานฝ่ายโจทก์ปรักปรำเหยื่อแทบทั้งนั้นนะครับ ไม่ใช่พยานที่เป็นกลาง ภาพยนตร์สั้นของ กอ.รมน. เอกสารกอ.รมน. ที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อปรักปรำพวก นศ. ในธรรมศาสตร์ ฯลฯ

ข้อเสนอ: ผมเห็นว่าข้อมูล ความทรงจำ ข้อแก้ตัว ฯลฯ ของฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายขวาที่หาได้และที่มีอยู่ในขณะนี้ น่าจะนำเสนอตามหมวดหมู่ได้ แต่ไม่ใช่เพื่อ “ความเป็นกลาง” ไม่ต้องกลัวถูกหาว่ามี “อคติ” (คือเอียงข้างเหยื่อ) ไม่ต้องสมดุล เราควรจะนำเสนอเพราะเป็นส่วนหนึ่งของกรณี 6 ตุลาที่ขาดไม่ได้”

บอกตรง ๆ ว่าเวลาเจอคำถามแบบนี้แล้วเหนื่อยใจ ไม่ใช่เพราะมันตอบยาก แต่เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่น่าจะเป็นประเด็นเลยด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ เว็บไซต์โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ในส่วนหมวด “หลักฐาน” ประกอบด้วย เอกสารชันสูตรพลิกศพ ,คำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ที่ใช้ประกอบยื่นฟ้องนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น รวมถึงหนังสือพิมพ์ขวาจัดอย่าง ดาวสยามและชาวไทย อีกทั้งยังมีสมุดปกขาว “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519” ที่จัดทำโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คณะทหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ในช่วงค่ำของวันที่ 6 ตุลาคม 2519