ศาลปกครองไม่รับคำร้องไต่สวนฉุกเฉิน ยกเลิกจำกัดอายุรถตู้ห้ามวิ่ง

วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เมื่อเวลา 09.00 น. สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำตัวแทนผู้ประกอบการรถตู้สาธารณะในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กว่า 100 คนเดินทางมาติดตามความคืบหน้าคดีหมายเลขดำที่ 793/2561 ที่สมาชิกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัดและผู้โดยสาร จำนวน 731 คน เดินทางมายื่นฟ้องอธิบดีกรมขนส่งทางบก, คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง, คณะกรรมการแก้ไขปัญหารถตู้โดยสาร และบริษัทขนส่ง จำกัด

ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2561 ว่า ต่างละเลยหน้าที่ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับผู้โดยสาร และผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัด เจตนาที่จะฝ่าฝืนมาตรา 40 มาตรา 43 (3) รัฐธรรมนูญ 2560 ป, พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

โดยขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกการบังคับให้รถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 (ต) และ(ช) รับ-ส่งผู้โดยสารเฉพาะสถานีต้นทางและปลายทาง และให้สามารถรับ-ส่งผู้โดยสารได้ระหว่างทาง และยกเลิกการจำกัดอายุการใช้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกหมวดที่กำหนดไว้ 10 ปี

รวมทั้งขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการรวมศูนย์สถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสารไปอยู่ยังสถานีขนส่งต่างๆ ของบริษัทขนส่ง จำกัด และระงับมาตรการจัดระเบียบการจัดจำหน่ายตั๋วรถตู้โดยสารโดยไม่มีการประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างตามกฎหมาย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การที่ตนและผู้ประกอบการรถตู้สาธารณะเดินทางมาศาลวันนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าคดี ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนมายื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ไต่สวนฉุกเฉินในคดีนี้ เนื่องจาก คำสั่งของกรมการขนส่งทางบกระบุไว้ว่า รถตู้ที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปีขึ้นไปจะต้องหยุดให้บริการ จะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บริการต่างได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก

จึงขอยืดเวลาใช้งานจาก 10 ปี เป็น 15 ปี เพื่อหาเงินมาจัดหารถคันใหม่เพื่อมาให้บริการต่อไป การที่กรมขนส่งทางบกใช้อำนาจทางปกครองบีบบังคับให้รถตู้หยุดใช้บริการแล้ว จัดหารถคันใหม่นั้นไม่เป็นธรรม และเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ถ้าเปรียบเทียบกับรถที่กรมการขนส่งทางบกให้การควบคุมดูแล เช่น รถ ขสมก. บขส. ที่มีสภาพเก่ากว่ารถตู้ไม่รู้กี่เท่า อายุการใช้งานบางคันไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่กลับไม่ได้ยุติการให้บริการแต่อย่างใด หรือรถตู้ชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถพยาบาล รถรับส่งนักเรียน ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ก็ยังสามารถวิ่งให้บริการได้

ดังนั้นรถสาธารณะทุกรูปแบบที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี จะต้องทุกยุติให้บริการเหมือนกันหมด ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องที่ตนต้องแถลงให้ศาลปกครองรับทราบว่า การใช้อำนาจไม่เป็นไปด้วยความชอบธรรม ถ้าศาลไม่ไต่สวนในวันนี้ก็ต้องไปปรึกษากับผู้ประกอบการอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ต่อมา ศาลปกครองกลางมีหนังสือแจ้งว่า ศาลพิจารณาคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดมาตรการหรือวิธีการอย่างใดชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาในคดีนี้ของนายศรีสุวรรณ จรรยากับพวกรวม 731 คน แล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่ามีเหตุฉุกเฉินตามคำร้อง ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน แต่ศาลจะยังพิจารณาคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อไป