“อนาคตใหม่” พบชาวประมงปัตตานี เผยพิษ พ.ร.บ.การประมง 58 ธุรกิจพังทลายแลกมาตรฐานไอยูยู

วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหาของชาวประมงในจังหวัดปัตตานี พร้อมทั้งเยี่ยมชม ท่าเทียบเรือประมงปัตตานี องค์การสะพานปลา ซึ่งพบว่าบรรยากาศเงียบเหงา ไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก พรก.การประมง พ.ศ.2558 และกฎหมายลูกอีกกว่า 200 ฉบับ ที่เข้ามากำหนดมาตรฐานการทำประมงพาณิชย์

นายปิยบุตร กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจประมงแย่มาก จากการลงพื้นที่พบว่านักธุรกิจประมงหลายรายขาดทุน หลายรายยกเลิกทำประมงไปแล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากมาตรการที่เราออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ไอยูยู (IUU) โดยออกเป็น พรก.การประมง พ.ศ.2558 มีหลายเรื่องซึ่งวางมาตรฐานโดยไม่ได้สอบถามชอบประมง ทำให้พวกเขาปฏิบัติตามได้ยาก อีกทั้งถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ยังเจอโทษที่หนัก สบช่องให้เกิดการเรียบรับเงิน เกิดการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนโยงกลับมาที่การเข้ามาของรัฐบาล คสช. ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เมื่อต้องการเจรจาระหว่างประเทศ ก็ทำให้อำนาจในการต่อรองน้อยลง จะเห็นว่ามาตรฐานของไอยูยูนั้น ในประเทศอื่นๆ อย่างเวียดนาม เขาเจรจาต่อรองได้ยืดเวลาไปได้หลายปี แต่เราด้วยความไม่เป็นประชาธิปไตย พอเจอใบเหลืองก็กังวลใจ จึงยอมรับทุกอย่างที่ไอยูยูกำหนดมาใช้ทันทีเลย โดยที่ไม่สอบถามว่าธุรกิจประมงนั้นสามารถทำได้หรือไม่

“นักธุรกิจ ประมงพาณิชย์หลายท่านที่ผมไปเจอมา ไม่ได้มีปัญหาต่อมาตรฐานไอยูยู ทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติตาม เพียงแต่ว่าต้องขอความร่วมมือในเรื่องระยะเวลาที่ค่อยๆขยับขยายให้ทำตามขั้นตอน ตามข้อกำหนดนั้น และขอการมีส่วนร่วมในการพูดคุยกันว่า กฎหมายหรือมาตรการต่างๆที่จะออกมา จุดไหนที่จะพอยอมรับกันได้ ทั้งสอดคล้องกับมาตรฐาน และทำให้ธุรกิจของเขาอยู่ได้ด้วย นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เราจำเป็นต้องกลับมาทบทวน หาจุดร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการประมง แรงงาน และมาตรฐานของไอยูยู มานั่งเจรจาตกลงกัน ว่าจุดไหนที่พอจะรับกันได้ เพราะการที่เรายอมรับกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศไว้ทั้งหมด โดยไม่เจรจาต่อรองเลย จะส่งผลในระยะยาวคือ ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือระดับกลาง จะไม่สามารถทำได้ตามมาตฐาน ใบอนุญาตก็จะถูกยึด ต้องเลิกประกอบกิจการ สุดท้ายก็จะเกิดกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งเป็นทุนผูกขาดเข้ามาเทคโอเวอร์ และไม่ใช่แค่การเทคโอเวอร์เรือ หรือเทคโอเวอร์บริษัทเท่านั้น แต่ในระยะยาว นี่คือการเทคโอเวอร์ทั้งธุรกิจประมง” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า จากการรับฟังปัญหาในหลายๆพื้นที่เรื่องนี้ ทางอนาคตใหม่ตั้งใจที่จะออกแบบนโยบายเรื่องเกี่ยวกับการประมงเข้าไปผลักดันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทบทวนกฎหมายใหม่ โดยหลักการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย มานั่งคุยกัน แก้ไขกฎหมายใหม่ร่วมกัน และอนาคตเมื่อต้องการให้เรือประมง ชาวประมง ธุรกิจประมงให้ได้มาตรฐานไอยูยูมากขึ้น รัฐจำเป็นต้องเข้าไปสนับสนุน และให้ช่วงเวลาในการเปลี่ยนผ่านจนได้มาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายแบบเคร่งครัดทันที อาจจะแลกมาซึ่งการที่เราไม่โดนใบเหลืองใบแดง หรือรัฐบาลได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ แต่ในทางกลับกัน กลับทำลายธุรกิจประมงของคนไทยไป