การยื้อ ผู้ตรวจการ ‘เลือกตั้ง’ การหน่วง ถ่วง การเลือกตั้ง

กรณี 36 สนช.เคลื่อนไหวเสนอร่างแก้ไข พรป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเจาะประเด็นไปยังตำแหน่ง “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” กำลังจะเป็น “เคสสตัดดี้” อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

เท่ากับเป็นการ “นำร่อง” โดย สนช.เป็น “หัวรถจักร”

1 ไม่เพียงแต่จะเป็นสินค้าตัวอย่างในการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) อันถือว่าเป็นกฎหมายลูก

อันเหมือนการส่งสัญญาณแตะไปยังตัว “รัฐธรรมนูญ” อันถือว่าเป็นกฎหมายแม่

หากแต่ 1 ยังเป็นการตรวจสอบอุณหภูมิทางสังคม

เพราะหากสามารถผลักดันเข้าสู่ระเบียบวาระได้ ก็เท่ากับเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการยื้อ ถ่วง หน่วงโรดแมป “การเลือกตั้ง”


ต้องยอมรับ
ว่าทาง คสช.และรัฐบาลมีความอ่อนไหวในเรื่องการแก้ไข 1 รัฐธรรมนูญ และ 1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อย่างเป็นพิเศษ

คงจำกันได้ว่า ก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหว

โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นข้อเสนอให้แก้ไข พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

เพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างพรรคใหม่กับพรรคเก่า

แทนที่จะดำเนินการผ่าน สนช.กลับมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ออกมา อันเท่ากับเป็นการแก้ไข เพิ่มเติม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองโดยอัตโนมัติ

ที่เป็นปัญหาและทำให้กระบวนการ “ไพรมารีโหวต” ยุ่งนุงนังอยู่ทุกวันนี้ก็จากคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้แหละ

แม้กระทั่ง นายวิษณุ เครืองาม ยังต้องกุมขมับ

พลันที่ 36 สนช.ขยับขับเคลื่อนในเรื่องแก้ไข พรป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผลก็คือ ภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” ต้องกุมขมับกันอีกครั้ง


กระนั้น
ความแหลมคมและอ่อนไหวมากยิ่งกว่ากลับความรู้สึกร่วมของสังคมที่ไม่ได้มองไปยังความบกพร่องของกฎหมาย

ตรงกันข้าม กลับมองว่าเป็นเรื่องยื้อ ถ่วง หน่วง

ที่หนักหนาสาหัสมากยิ่งกว่าคือ บทสรุปที่ว่าการเคลื่อนไหวนี้มาจากความหวาดกลัวว่า หากเลือกตั้งในตอนนี้พรรคการเมืองของ คสช.ก็จะพ่ายแพ้

พ่ายแพ้ต่อพรรคเพื่อไทยเหมือนที่เคยแพ้มาแล้วซ้ำซาก