“กลิ่น-รสกะเพรา” เขย่าโลก! กับวิธีต้ม “น้ำใบกะเพรา” ให้ถูกต้อง สรรพคุณยาไม่หาย

ไทยแลนด์แดนร่ำรวย ซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) งานภาพยนตร์ เพลง ซีรีส์ ของไทยอาจยังไม่ถึงฝันเท่าหลายประเทศ แต่วิถีวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และอาหารการกินสไตล์ไทยๆ ไม่แพ้ใครในโลก เช่น ต้มยำกุ้ง ส้มตำปูม้า แกงเขียวหวานไก่ ผัดไทยอันลือลั่น ฯลฯ

เหตุนี้หรือไม่ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เห็นศักยภาพ “พลังอ่อน” หรือเรียกว่า “พลังละมุน” จากอาหารไทย จึงจัดงาน “ผัดกะเพรา” อาหารจานด่วนประจำชาติ ยิ่งใหญ่ “The Greatest Kaphrao on Earth” และเปิดเวทีมหกรรมกะเพราเขย่าโลก “Pad Kaphrao Thailand Championship” ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ให้ก้องโลก

ที่จริงเราก็ต้องยอมรับว่า เมนูกะเพรา เป็นอาหารจานด่วนรู้จักกันทั่วประเทศ บางคนให้นิยามว่า “คิดอะไรไม่ออก ให้สั่งผัดกะเพรา” รสชาติจะถูกใจหรือไม่ขึ้นกับฝีมือและวัตถุดิบ คือ กะเพรา ถ้าได้กะเพราสดและพันธุ์พื้นเมือง ที่บางคนแนะนำว่ามีกะเพราขึ้นเองตามชายป่า เมื่อนำมาปรุงผัดรสเด็ดยิ่งกว่ากะเพราใบโตๆ ตามท้องตลาด เพราะรสและกลิ่นกะเพรานั้นเป็นไฮไลต์ของเมนู

ที่จริงอีกเช่นกันว่า กลิ่นและรสกะเพราที่หลายคนหลงใหลนั้น คือ กลิ่นและรสตามสรรพคุณยาแต่ดั้งเดิม ที่กล่าวได้ว่ากะเพรา เผ็ด ฉุน และขม มีรสร้อน หรือทำให้ร่างกายร้อนได้ จึงไม่แปลกที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยยกให้กะเพราเป็นยาตั้งธาตุแก้ปวดท้อง ท้องขึ้น แก้ลมตานซาง ขับผายลม ทำให้เรอ แก้จุกเสียดแทงในท้อง

และยังกล่าวว่าเหมาะใช้กับเด็กได้ด้วย จึงเป็นยาสมุนไพรที่มีความปลอดภัยดี หรือเป็นอาหารสมุนไพรนั่นเอง

 

หากมีใครคิดจัดงานประกวด กะเพรา ยาไทยประจำบ้าน (Herbal Kaphrao for All) ก็น่าจะดีไม่น้อย แต่เมื่อยังไม่มีก็ถือโอกาสจะประกวดผัดกะเพรานี้ แนะนำวิธีปรุงยากะเพราทำได้เองทุกที่ เริ่มจากคำว่ายาตั้งธาตุ หมายถึงช่วยบำรุงธาตุ ซึ่งในที่นี้คนที่ระบบย่อยอาหารไม่ค่อยแข็งแรง

มีประสบการณ์ผู้ใช้เล่าว่า “ดิฉันกินของเย็น เช่น น้ำแข็ง แตงโม เป็นเวลานานๆ ทำให้ไม่มีไฟธาตุช่วยย่อยอาหาร เกิดท้องอืดท้องเฟ้อ ดิฉันใช้ใบกะเพรากินสดๆ ครั้งละ 2 กำมือ กินพร้อมข้าว บางครั้งก็มาปรุงอาหารโดยใส่ให้มากๆ ใช้แล้วรู้สึกสบายท้องไม่มีลมตีขึ้น” ดังนั้น กล่าวได้ว่ายาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ลมในท้อง และช่วยย่อยอาหาร ให้เรากินสด ฤทธิ์ตรงแรง แต่บางคนที่ไม่คุ้นกลิ่นฉุนและรสเผ็ดอาจไม่ชอบ ถ้ากินได้ให้เด็ดใบกะเพราสด 8-10 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด นำมาเคี้ยวให้ละเอียดกลืนกิน จากนั้นให้ดื่มน้ำตาม

ถ้าคนที่ไม่คุ้น แต่ต้องการกินยาดีและปลอดภัย ขอให้ลองเด็ดเฉพาะยอดหรือใบอ่อนๆ เพื่อลดความเผ็ดและฉุนลง นำมาเคี้ยวกินสด เพียง 3-4 ยอดเล็กๆ ก็พอทดแทนได้

วิธีที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยเคยแนะนำไปบ้างแล้ว ขอนำกลับมาส่งเสริมการใช้อีกครั้ง ต้มน้ำกิน จากการสำรวจประสบการณ์ผู้ใช้พบว่ามีผู้ใช้กะเพราต้มน้ำกินมากที่สุด เรียกว่าเป็นยากลางบ้านที่คนรุ่นก่อนนิยมใช้

แต่วิธีปรุงต้องทำให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้สรรพคุณยาหายไปเวลาต้มยา เพราะกลิ่นหอมของกะเพราคือกลิ่นที่มาจากน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีสรรพคุณทางยานั่นเอง คำแนะนำจากปราชญ์โบราณจึงแนะนำว่า ใช้ทั้งใบและก้านกะเพราะจำนวนมากสัก 1 กำมือ ล้างน้ำสะอาด ใส่ลงหม้อ เติมน้ำพอท่วมยา ปิดฝาต้มให้เดือดเพียง 5 นาทีพอ ห้ามเดือดนาน ให้รินน้ำยากินขณะอุ่นๆ ให้จิบกินไปทีละนิด กินสักครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้วก็พอ

ไม่แนะนำให้กินมาก เพราะท้องที่อืดอยู่แล้วถ้ายิ่งกินน้ำเข้าไปมาก ก็จะทำให้ท้องอืดเพิ่มขึ้นได้

ชงน้ำกิน วิธีนี้ลดความร้อนแรงไม่เท่าการต้ม ใช้กะเพราสดเด็ดมาสัก 10-20 ใบ ชงกับน้ำเดือดให้ได้ 1 แก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ให้ตัวยาละลายออกมาสัก 10-15 นาที จิบกินตอนอุ่นๆ เช่นกัน แต่ที่น่าจะเป็น “พลังละมุน” หรือซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) ในมุมยาไทย ชาชงสมุนไพรที่สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขายทั่วไปส่งไปทั่วโลกก็ได้ ทำเป็นเมนูชากะเพราผงชงดื่มสบายท้อง คลายเครียดได้ ระดับครัวเรือนทำง่ายได้ทุกบ้าน โดยใช้ใบกะเพราสดมาคั่วในกระทะเหล็กทั่วไป ให้ค่อยๆ คั่วไฟอ่อนๆ ไปเรื่อย ๆ ใบกะเพราจะแห้งและเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อปล่อยไว้ให้เย็นนำมาบดผง หาขวดที่มีฝาปิดสนิทใส่กะเพราผงเก็บไว้ได้นาน เวลาใช้หยิบใช้สะดวก กะเพราบดผง 1 ช้อนชา เติมน้ำร้อน 1 แก้ว ปิดฝาไว้ 10-15 นาที รอให้ยาอุ่น นำมาจิบกินได้ทั้งน้ำและผงยาที่อยู่ในน้ำ

วิธีนี้ขอบอกว่า พี่แขกชาวอินเดียที่มีภูมิปัญญาดั้งเดิมอายุรเวทนั้นเขาทำโปรดักต์ชาผงกะเพราผสมชะเอมเทศวางจำหน่ายให้คนไทยอุดหนุนซื้อกลับมากินกันแล้ว คนไทยก็มีฝีมือน่าจะผลิตชาผงกะเพราไทยได้แน่นอน

การทาท้อง วิธีนี้เป็นศิลปะการดูแลสุขภาพที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กอย่างยิ่ง แต่ใช้กับผู้ใหญ่ไม่ค่อยได้ผล เพราะผิวหนังหน้าท้องของเด็กยังบางอยู่ การทาน้ำกะเพราจึงทำให้ฤทธิ์ยาสามารถซึมแทรกเข้าไป แล้วลดอาการท้องอืดเฟ้อให้กับเด็กได้ ให้ใช้ใบกะเพรา 20-30 ใบ นำมาใส่บนฝ่ามือ ให้เอามือทั้งสองข้างขยี้ใบกะเพราจะได้น้ำยากะเพราออกมาสีคล้ำๆ ให้นำน้ำยาที่ฝ่ามือไปทาที่ท้องเด็ก แต่ให้เว้นตรงสะดือไว้

ควรทาน้ำยากะเพราที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าของเด็กด้วย จะช่วยแก้ท้องอืดในเด็กได้ดี ภูมิปัญญานี้ใช้ได้ดีในเด็กเล็กจนถึง 3 ขวบ

 

กะเพราช่วยขับเหงื่อ หากรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว หรือตากฝนมาก็แนะนำให้กินเมนูผัดกะเพราเผ็ดๆ ให้ร่างกายอุ่นไล่หวัด และปัจจุบันมีงานศึกษาวิจัยพบว่ากะเพรามีสารออกฤทธิ์ช่วยให้คลายความเครียดหรือทำให้เรามีความสุขขึ้น ผัดกะเพราหรือชาชงกะเพรา น่าจะเป็นอาหารและยาสมุนไพรที่มีศักยภาพเพื่อสุขภาพและสร้างเศรษฐกิจ ซอฟต์เพาเวอร์ได้แน่นอน

สิบปีที่แล้ว มีข่าวสั่งห้ามผัดกะเพราที่โรงอาหารในสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง เพราะการระบายอากาศอาจไม่ดี คนนั่งทำงานสำลักกลิ่น แต่วันนี้กลิ่นรสฉุนกะเพรากำลังเขย่าโลก •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org