“รัง” ไม้ใหญ่มากคุณค่า ชาวไทยใหญ่ใช้ประโยชน์ทางยา

ต้นรัง หรือไม้รัง ใครที่ยังจำเรื่องราวในพุทธประวัติที่เคยเรียนกันมาได้ น่าจะจำได้ถึงต้นไม้ที่พระนางสิริมหามายาใช้ยึดเหนี่ยวในช่วงที่ให้กำเนิดพระพุทธเจ้า

ผู้เคยศึกษาในพระไตรปิฎกจะพบการกล่าวถึงต้นรังไว้หลายแห่ง อย่างน้อยใน 7 เล่ม จาก 45 เล่ม ในการศึกษาเชิงลึกพบความจริงว่า ต้นรังในพุทธประวัติน่าจะหมายถึงต้นสาละอินเดีย ซึ่งมีชื่อเรียกในบางท้องที่ของอินเดียว่า “ต้นฮะรัง”

เลยทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นรังชนิดเดียวกับต้นรังที่มีอยู่ในประเทศไทย

ต้นสาละอินเดียหรือต้นฮะรัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea robusta C.F.Gaertn. มีถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ในอัสสัม บังกลาเทศ หิมาลายาตะวันออกและตะวันตก อินเดีย เนปาล ทิเบต

ส่วนต้นรังหรือที่คนอีสานเรียกว่า ต้นฮัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea siamensis Miq. แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์มาเป็น Pentacme siamensis (Miq.) Kurz ซึ่งงานวิชาการได้ตีพิมพ์ในวารสาร Kew Bulletin แบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 หมาดๆ นี่เอง

ต้นรังหรือต้นฮังมีถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ในประเทศเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

 

ต้นรังและสาละอินเดียเป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน จึงมีความคล้ายคลึงกัน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับต้นฮังหรือต้นรังไม่ได้อยู่เฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น แม้แต่ในประเทศลาวก็มีความเข้าใจว่าสาละอินเดียและต้นรังเป็นไม้ชนิดเดียวกันด้วย

ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวต้นรังที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องราวของ “พระธาตุอิงฮัง” แขวงสะหวันนะเขต ที่เมืองลาว (คนลาวเรียกต้นรังว่า ต้นฮัง) ซึ่งเป็นพระธาตุคู่แฝดของ “พระธาตุพนม”

โดยที่ “พระธาตุอิงฮัง” สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบอง ประมาณ พ.ศ.400 ภายในพระธาตุ (กู่) บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงราชคฤห์

ประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านรอบพระธาตุอิงฮัง เชื่อกันว่าองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยภัตตาหารที่ทำจากหมู และเกิดอาหารเป็นพิษ คนที่นั่นจึงไม่มีใครเลี้ยงหมูมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศกัมพูชาก็มีความเชื่อเช่นเดียวกันว่าต้นรังเป็นไม้ที่คู่มากับพุทธศาสนา

ดังนั้น ในกัมพูชามักพบเห็นต้นรังตามศาสนสถาน

ต้นรังจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ตามตำรากล่าวว่า คนเกิดปีมะเส็ง มิ่งขวัญอยู่ที่ต้นไผ่และต้นรังด้วย

ต้นรังเป็นไม้ยืนต้นที่มีอยู่ตามป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าแดงหรือป่าเต็งรังทั่วไป มีคุณสมบัติในการทนแล้งและทนไฟได้ดีมาก

เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูง 15-20 เมตร เปลือกต้นสีเทาแตกเป็นร่องตามความยาวลำต้น

ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบหยักเว้า

ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อ กลิ่นหอมอ่อน ออกดอกเดือนมีนาคม-เมษายน

ผลรูปกระสวย มีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก

ต้นรังเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดอุดรธานี มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น เปา เปาดอกแดง ในภาษาเหนือ หรือเรียง เรียงพนม ในภาษาเขมร

ประโยชน์หลักของต้นรังที่คนไทยรู้จักแพร่หลายตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันคือ นำเนื้อไม้มาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เพราะถือว่าเนื้อไม้รังมีความแข็งแรงทนทานเป็นอันดับหนึ่งคู่กับไม้เต็ง (Shorea obtusa Wall. ex Blume)

เหมาะสำหรับใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานมากเป็นพิเศษ เช่น ทำเสาเรือน รอด ตง คาน และพื้นชานเรือนที่อยู่กลางแจ้ง ซึ่งตากแดดตากฝนอยู่เสมอ ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือ และภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่

เนื้อไม้นำไปใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักมากๆ เช่น คาน พื้น เสา ไม้หมอนรถไฟ สะพาน เรือ และเครื่องมือกสิกรรมต่างๆ

เนื้อในเมล็ดรับประทานได้

ในประเทศลาวมีการเก็บชันจากต้นรังมาใช้ในการยาเรือและตะกร้า และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญไปยังประเทศไทย จีน และอินเดีย

เวียดนามก็รับซื้อจากประเทศลาวเป็นจำนวนมาก โดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมของนำมันชักเงาหรือแล็กเกอร์ สี หมึก และใช้ทำก้านธูป

 

ชาวไทยใหญ่ในภาคเหนือของไทย ใช้ประโยชน์จากต้นรัง

เช่น ใบ ต้มน้ำอาบ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ในตำรับยาไทยที่มีเครื่องยาที่เรียกว่า “ชันย้อย” หมายถึงชันที่ได้จากพืชในวงศ์ไม้ยาง ใช้เข้ายารักษาพระเส้นในตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ เข้ายาเหลืองปิดสมุทร เป็นต้น ตำรายาพื้นบ้านอีสาน

เปลือก ใช้แก้โรคท้องร่วง

ใบ ตำพอก รักษาแผลพุพอง ใช้ยาง เป็นยาอุดแผลหรือส้นเท้าแตก

หมอยาพื้นบ้านอีสานแบ่งต้นรังออกเป็น 2 ชนิด คือ “รังไหม” และ “รังฝ้าย”

ข้อแตกต่างของรังทั้ง 2 ชนิดนี้อยู่ที่ดอก รังไหมก้านดอกเป็นสีเหลือง ส่วนรังฝ้ายก้านดอกเป็นสีแดง

แต่จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ มีความเห็นว่าน่าจะเป็นความผันแปรทางพันธุกรรมมากกว่าจะเป็นคนละสายพันธุ์

จากประสบการณ์เดินป่าในภาคอีสานมากว่า 40 ปี จะเห็นรังไหมและรังฝ้ายขึ้นอยู่ในพื้นที่เดียวกันเสมอ

ในภูมิปัญญาอีสานมีการใช้ประโยชน์ต่างกัน โดยรังไหมใช้เข้าแก้กษัย ไตพิการ ส่วนรังฝ้ายใช้น้ำยางในการรักษาแผลของแม่หลังคลอด

ในกัมพูชานิยมนำใบมาชงเป็นชาให้ผู้หญิงอยู่ไฟดื่ม ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ไม่เครียด

 

ต้นรังไม่ใช่ต้นสาละอินเดีย

แต่การถือว่าต้นรังเป็นไม้มงคลผูกพันกับพระพุทธศาสนาก็ไม่น่าจะมีผลเสียอะไร หากมองต้นรังด้วยสายตาให้เกิดประโยชน์ที่จะโน้มน้าวจิตใจให้ใฝ่ธรรมะแล้ว

การมองเห็นประโยชน์อื่นๆ จากภูมิปัญญาในพื้นที่ น่าจะเสริมพลังให้เราช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนการปลูกขยายพันธุ์ต้นรัง

และเร่งศึกษาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้กับประชาชนในวงกว้างด้วย •