เลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย ความไม่ธรรมดา ของ “มติชน” “5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์”

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีการจัดงานแถลงข่าว “มติชน : เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” แคมเปญที่นำเสนอบทบาทใหม่ของ 5 สื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติ มติชนทีวี และมติชนสุดสัปดาห์

งานนี้ไม่ได้มาคนเดียวจับมือ 5 พันธมิตร ได้แก่ TDRI, สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, MFEC, และศูนย์ข้อมูลมติชน เปิด “5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์” เพื่อสะท้อนภาพทุกมิติ ตีแผ่ทิศทางของสถานการณ์การเลือกตั้ง 2566 ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างไร พลังมหาศาลจากคะแนนเสียงจากประชาชน จะปลดล็อกประเทศไทยให้พ้นจาก “ดีไซน์” ของกลุ่มอำนาจได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของสื่อมวลชนในการร่วมขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย

นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมชัดเจนขึ้น การเลือกตั้งปี 62 นิวโหวตเตอร์มีพลัง สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือนัยยะสำคัญบางอย่างได้ การเลือกตั้งคือโพลที่ใหญ่มาก เป็นกลุ่มตัวอย่างระดับประเทศ และมีความซับซ้อน บรรจุอารมณ์ความรู้สึกของคนที่เปลี่ยนไปด้วย

นายปราปต์ กล่าวต่อว่า สำหรับบทบาทของสื่อนั้น กิจกรรมที่มติชนจะจัด น้ำหนักอยู่ที่อนาคต ไม่ว่าจะเป็นเวทีดีเบตต่างๆ เราจะฉายภาพให้เห็นว่าพรรคการเมืองและแคนดิเดตนายกฯ รวมถึงภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ มองอนาคตของสังคมไทยอย่างไรบ้าง ในส่วนของมิติปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สื่อต้องทำอยู่แล้ว ในการแข่งขันกันรายงานผลเลือกตั้ง สำหรับอดีต ในแง่ประวัติศาสตร์ ทำให้เราเข้าใจสภาพการเมืองไทยที่ผ่านมา และสังคมเปลี่ยนไปอย่างไร

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) MFEC

ด้านนายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) MFEC กล่าวว่า คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าการเมืองที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ไม่มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราอยากจะเน้นคือ ถ้าอยากจะพัฒนาประเทศเหมือนเกาหลีใต้หรือไต้หวัน ต้องเลือกคนที่มีความเห็นแนวเดียวกันแล้วขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่ง น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกนายกฯ ครั้งต่อไปคงเป็นประชาธิปไตยเต็มใบมากขึ้น สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ คือ การแข่งขันเชิงนโยบายของพรรคการเมือง และหากพรรคไหนได้เป็นรัฐบาลแล้วนโยบายทำได้จริงก็จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบประชาธิปไตยของประเทศ ซึ่งนโยบายสาธารณะ ควรเป็นนโยบายที่ยั่งยืน ทำได้จริง ในด้านการคลัง ไม่ทำให้คนในอนาคตต้องรับภาระ ไม่ทำให้ประเทศติดหล่ม

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย กล่าวว่า จากชุดข้อมูลการเลือกตั้งเมื่อปี 62 หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็สามารถใช้ฐานตัวเลขปี 62 วิเคราะห์ได้เลยว่า จาก 350 เขต มาเป็น 400 เขต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือพรรคเพื่อไทย ใครจะได้เป็นนายกฯ

ด้าน ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กล่าวว่า สถาบันวิชาการควรเป็นพื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะพูดในสิ่งที่คิด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยินดีที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เสรีภาพ ทั้งนี้ สิ่งที่ยังไม่เห็นจากพรรคการเมือง คือนโยบายการต่างประเทศ ประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก สิ่งที่เขามีนอกจากทำให้อยู่ดีกินดี คือการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ เราอยากเน้นว่า คนไทยต้องรู้ไทย เข้าใจโลก