เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (2)

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่าน ตอน (1) Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ 

ประเด็นโดดเด่นถัดไปในบทนำหนังสือ Siam Mapped โดย ธงชัย วินิจจะกูล ในความเห็นของผม คือ Thainess as Thing หรือความเป็นไทยในฐานะสิ่งของ

น่าสังเกตสะดุดใจว่าธงชัยย้ำเรื่องนี้ถึง 3 ครั้งในบทนำบทเดียว (p.6, 12, 13)

รากคิดของการบอกว่าคตินามธรรมอย่าง “ความเป็นไทย” เสมือนหนึ่ง thing หรือสิ่งของเครื่องใช้ โต๊ะ เก้าอี้ ทัพพี ฝาชี ฯลฯ อันเป็นวัตถุธรรม ก็คือแนวคิด reification (คำนาม) จากคำกริยาว่า reify อันแปลว่า “To regard or treat (an abstraction) as if it had concrete or material existence.” (American Heritage Dictionary) กล่าวคือ :-

“การถือหรือปฏิบัติต่อ (นามธรรม – โดยเฉพาะที่สัมพันธ์แนบเนื่องกับมนุษย์) ราวกับมันดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรมหรือวัตถุธรรม”

หรือนัยหนึ่ง reification ก็คือ thingification หรือการถือปฏิบัติต่อนามธรรมเสมือนมันเป็นวัตถุสิ่งของหรือ thing นั่นเอง

ตัวอย่างวิธีคิดวิธีมองทำนองนี้ก็เช่น มาร์กซ์เสนอว่าในสังคมทุนนิยม แรงงานส่วนเกิน (surplus labour) ที่ถูกขูดรีดจากกรรมกรไปในรูปมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) แล้วสะสมพอกพูนจนเป็นทุน (capital) ในกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของนายทุน (capitalists) ขึ้นมานั้น กลับถูกถือปฏิบัติต่อราวกับมันเป็นวัตถุสิ่งของ (reification -> thing) ต่างหากที่แปลกแยก (alienation) ไปจากกรรมกร เป็นอิสระและอยู่เหนือการควบคุมของกรรมกร กระทั่งกลับกลายเป็นอำนาจที่มาเอารัดเอาเปรียบควบคุมบงการอยู่เหนือตัวกรรมกรเอง ทั้งที่เอาเข้าจริงมันมีรากเหง้าที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของกรรมกรนั่นแหละ

หรือโฆษณาเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์บางยี่ห้อที่บอกว่ามันเป็น “ความสุข (นามธรรม) ที่คุณดื่มได้” ก็ทำนองเดียวกัน

ในส่วนข้อถกเถียงของธงชัยก็คือ “ความเป็นไทย” ได้กลายเป็นเสมือนวัตถุสิ่งของ และถูกถือปฏิบัติต่อโดย “คนไทย” เสมือนมันเป็นวัตถุสิ่งของ (thing)

ในแง่หนึ่งคนไทยก็เชื่อถืออย่างสัมบูรณ์สิ้นสงสัยว่า “ความเป็นไทย” ดำรงอยู่จริง เสมือนโต๊ะ เก้าอี้ ทัพพี ฝาชี ฯลฯ ที่สัมผัสจับต้องถือครองได้ (ontologically absolute เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงอย่างสัมบูรณ์แบบในทางภววิทยา)

ทว่า กล่าวในแง่ญาณวิทยาหรือการหาความรู้เกี่ยวกับ “ความเป็นไทย” แล้ว ปรากฏว่าความรู้เกี่ยวกับ “ความเป็นไทย” ว่ามันคืออะไร? ประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง? กลับมีลักษณะลื่นไหล พลวัต เปลี่ยนแปรไปตามสถานการณ์ (fluid, dynamic, situational)

ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้เกี่ยวกับ “ความเป็นไทย” ยังมีลักษณะคัดสรร, อัตวิสัย และหลงใหลได้ปลื้มกับรูปโฉมตนเองด้วย (selective, subjective, narcissistic)

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

สาเหตุมาจากวาทกรรมหรือวิธีการมองโลกและทำความเข้าใจโลกแบบไทยๆ ที่ทรงพลังครอบงำวงวิชาการไทยศึกษา (Thai studies) ซึ่งธงชัยขนานนามว่า We-self/Insider discourse หรือวาทกรรมตัวเราของเรา/คนใน

และการจะเข้าใจวาทกรรมดังกล่าวได้ก็โดยนำไปเปรียบเทียบกับวาทกรรมหรือวิธีการมองโลกและทำความเข้าใจโลกอีกแบบที่ครอบงำวงวิชาการบูรพคดีศึกษา (Oriental studies) ของฝรั่งตะวันตกมายาวนานแต่ก่อน ที่เรียกว่า Orientalism หรือลัทธิบูรพคดีศึกษา/วิทยา

ธงชัยอ้างอิงศาสตราจารย์ Edward Said (ค.ศ.1935-2003) นักวรรณกรรมศึกษาชาวปาเลสไตน์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐ ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นต้นตำรับแนวคิดลัทธิบูรพคดีศึกษาในหนังสือ Orientalism ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1978 มาอธิบายว่า :

“เอ็ดวาร์ด ซาอิด… ได้เสนอว่าวาทกรรมเกี่ยวกับประเทศและประชาชนที่อยู่นอกยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับ “ชาวตะวันออก” (the Oriental) เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของชาวยุโรปที่สถาปนาความเป็น “คนอื่น” (the Other) ขึ้นมา เพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์และความเหนือกว่าของมหานครยุโรป มากกว่าที่จะเป็นการบันทึกว่า “ชาวตะวันออก” จริงๆ เป็นเช่นไร” (ธงชัย, กำเนิดสยามจากแผนที่, น.10)

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือลัทธิบูรพคดีศึกษา/วิทยา เป็นวิธีการมองแบบหนึ่งซึ่งจินตนาการ เน้นย้ำ ขยายความและบิดเบือนความแตกต่างระหว่างประชาชนและวัฒนธรรมชาวอาหรับทั้งหลายเมื่อนำไปเปรียบกับของยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยบ่อยครั้งมันมักจะมองวัฒนธรรมอาหรับว่าเป็นของนอกแหวกแนว ล้าหลัง ไม่ศิวิไลซ์และบางทีก็อันตราย

ลัทธิบูรพคดีศึกษาจึงเป็นการที่ฝรั่งตะวันตกพูดถึงคนอื่น/คนตะวันออก โดยไม่ได้พูดถึงคนเหล่านั้นอย่างที่พวกเขาเป็นจริงๆ แต่อย่างใด หากทว่าพูดถึงคนเหล่านั้นอย่างที่ตัวนึกคิดปรารถนาไปเองว่าพวกเขาควรจะเป็น และสิ่งที่ฝรั่งตะวันตกคิดว่าคนตะวันออกควรจะเป็นก็คือไม่เหมือนคนตะวันตก/ตัวเอง แตกต่างจากตัวเอง และต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตัวเอง

มันจึงเป็นการพูดถึงคนอื่น – ไม่ใช่อย่างที่เขาเป็นจริง – เพื่อที่จะพูดถึงตัวเอง, หรือนัยหนึ่งยกย่องตัวเองโดยผ่านการพูดถึงคนอื่นอย่างบิดเบือนนั่นเอง เช่น ฝรั่งตะวันตกมองคนตะวันออก/คนอื่นว่าขี้เกียจ ไม่มีเหตุผล ไม่ศิวิไลซ์ หยาบช้า ฯลฯ ซึ่งโดยอัตโนมัติมันก็คือการมองตัวเอง/ฝรั่งตะวันตกในทางสะท้อนย้อนกลับกันว่าตัวเองขยันขันแข็ง มีเหตุผล ศิวิไลซ์ ประณีตบรรจง ฯลฯ

สรุปว่าการมองอย่าง Orientalist หรือนักลัทธิบูรพคดีศึกษาก็คือการมองเห็นเงาด้านกลับของสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นในคนอื่น – นั่นเอง (เช่น ตัวเองอยากเป็นคนขยันขันแข็ง มีเหตุผล ศิวิไลซ์ ประณีตบรรจง จึงไพล่เผลไปมองคนอื่นว่าขี้เกียจ ไม่มีเหตุผล ไม่ศิวิไลซ์ หยาบช้า มิไยว่าเอาเข้าจริงคนอื่นจะเป็นเช่นใดก็ตามที)

ขณะที่การมองแบบไทยๆ หรือมองอย่าง We-self/Insider discourse (วาทกรรมตัวเราของเรา/คนใน) นั้น กลายเป็นการมองเห็นเงาด้านตรงของสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นในตัวเอง

เนื่องจากตัวเองเป็น “คนไทย” (นักวิชาการไทย) การศึกษาสิ่ง (thing) ที่เรียกว่า “ความเป็นไทย” จึงเป็นการศึกษาสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของตัวเอง (บนฐานคติว่า “ความเป็นไทย” ย่อมมีอยู่แล้วในตัวตนของ “คนไทย” โดยอัตโนมัติ ในสายเลือด ยีน ดีเอ็นเอ…)

ไปๆ มาๆ การศึกษา “ความเป็นไทย” หรือไทยศึกษา (Thai studies) จึงกลายเป็นการศึกษาตัวเอง, ศึกษาอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งผู้ศึกษาทึกทักว่าตนสามารถนึกเอง รู้เอง เข้าใจได้เอง โดยไม่ต้องลงแรงค้นคว้าวิจัยหรือพิสูจน์อันใดมากมาย

“คนไทย” หรือ “นักวิชาการไทย” จึงทรงไว้ซึ่งอภิสิทธิ์ทางญาณวิทยาโดยผ่านประชาชาติหรือชาติพันธุ์ของตนในอันที่จะเรียน-รู้-เข้าใจ “ความเป็นไทย” ได้เหนือคนชาติอื่น/นักวิชาการชาติอื่นที่ไม่ไทย

พูดให้ถึงที่สุด ภายใต้เดชะอำนาจแห่งวาทกรรมตัวเราของเรา/คนในที่ว่านี้ ไทยศึกษานั้นหรือก็คือ “กู” (ศึกษาตัวกูเอง) ที่การเรียนรู้เรื่อง “ความเป็นไทย” กับ การเป็น “คนไทย” กลายเป็นสิ่งเดียวกัน (To know or to have a knowledge of Thainess & To be a Thai is one and the same thing.)

การเรียนรู้ ซึ่งโดยปกติในทางญาณวิทยาแล้ว หมายถึง เจ้าตัวผู้เรียนรู้ (the knowing subject) เข้าไปทำการเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุแห่งการเรียนรู้ซึ่งอยู่ต่างหากนอกตัวผู้เรียนรู้ออกไป (the object of knowledge) กลับตาลปัตรกลายเป็นสิ่งเดียวกัน กล่าวคือ

The knowing subject (คนไทย/นักวิชาการไทย) = the object of knowledge (ความเป็นไทย)

To know ความเป็นไทย = To be คนไทย โดยอัตโนมัติ อย่างนั้นเอง

การศึกษา “ความเป็นไทย” ของ “คนไทย/นักวิชาการไทย” ภายใต้ We-self/Insider discourse จึงมีลักษณะอัตวิสัย (subjective) สุดๆ กลายเป็นอัตศึกษา (Thai studies as the study of oneself) ไปโดยปริยาย ไม่ต่างจากการส่องกระจกดูเงาตัวเอง (Thai studies as self-mirror)

ที่มองไปทีไรก็เห็นแต่หน้าตัวเอง/เงาหน้าของตัวเองในกระจก มองแล้วก็อดนึกหลงใหลได้ปลื้ม ปลาบปลื้มดื่มด่ำชื่นชมตัวเองไม่ได้ว่า… อ้า ช่างงามจริงหนอ งามนัก งามอะไรอย่างนี้ ลุ่มหลงจนก้มลงจูบเงาหน้าตัวเองในกระจกอย่างดูดดื่ม…จ๊วบบบบบบ

ไม่ต่างจากเทพ Narcissus ในเทวปกรณัมของกรีกโบราณ ผู้เป็นเทพบุตรพรานหนุ่มรูปงามที่ดูหมิ่นถิ่นแคลนบรรดาผู้ที่มาหลงรักรูปโฉมอันงดงามของตัว จึงถูกเทพี Nemesis ลงทัณฑ์โดยดลใจให้ Narcissus มายังสระน้ำแห่งหนึ่งและก้มลงมองดูเงาหน้าตัวเองบนผิวน้ำ แล้วเกิดลุ่มหลงรักใคร่รูปโฉมอันงดงามที่ตนเห็นในน้ำนั้นอย่างโงหัวไม่ขึ้น โดยไม่ตระหนักว่ามันเป็นแค่ภาพเงา เขาจึงไม่ยอมลุกไปไหน ได้แต่ก้มเพ่งพิศเงาหน้าของตัวอยู่ริมสระเช่นนั้นจนสูญสิ้นเจตจำนงที่จะมีชีวิตอยู่ต่อและถึงแก่ความตายไปอย่างน่าสังเวช

เทพบุตร Narcissus ฉันใด นักวิชาการไทยศึกษาภายใต้อำนาจวาทกรรมตัวเราของเรา/คนในก็ฉันนั้น อันนับเป็นการหลงใหลได้ปลื้มตัวเองทางญาณวิทยาอย่างเอกอุ (epistemological Narcissism of the first degree) ทีเดียว

ราวกับกำลังถูกสะกดให้ตกอยู่ภายใต้มายาคติ (illusion) บางอย่างตลอดเวลา เหมือนเป็นโรคประสาทหลอนรวมหมู่ชนิดหนึ่งที่กำลังพากันหลอกตัวเอง

หากไล่เรียงไปตามตรรกะการนำเสนอเรื่อง “ความเป็นไทย” ในบทนำหนังสือ Siam Mapped ของธงชัยแล้ว ก็เท่ากับว่าเหตุแห่งการดำรงอยู่ (raison detre) ในทางวิชาการของไทยศึกษาเหลวไหลแหลกแตกกระจายไม่มีชิ้นดี

จนไม่เห็นว่ายังจะทำไทยศึกษาอยู่ต่อไปได้อย่างไรและทำไปทำไมในทางวิชาการ?

(ข้อวิพากษ์ไทยศึกษาของธงชัยที่ว่ามานี้ เอาเข้าจริงก็แว่วกังวานเสียงและเห็นเค้ารอยเงาสะท้อนของคำวิพากษ์ของ ครูเบ็น แอนเดอร์สัน ที่เคยเปรียบเทียบลักษณะพิเศษของไทยศึกษากับการศึกษาชาติอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ที่เคยตกเป็นอาณานิคมมาก่อน ซึ่งทำให้ไทยศึกษาตกอยู่ใต้อำนาจนำของวาทกรรม/มุมมองแบบราชาชาตินิยมมากกว่าการศึกษาชาติเพื่อนบ้านอื่น ทว่า ธงชัยได้ขบคิดวิเคราะห์เจาะลึกต่อไปในแง่การเมืองของความรู้จนพิสดารพันลึกยิ่ง ดู เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, “ศึกษารัฐไทย วิพากษ์ไทยศึกษา”, ใน ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา, น.7-14)