หนุ่มเมืองจันท์ : ต้นไม้-นก

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ปัญหาเรื่อง “เด็กรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” ถือเป็นปัญหาของยุคสมัย

ไม่ใช่แค่สมัยนี้

แต่ทุกยุคทุกสมัย

“เด็กรุ่นใหม่” ที่มีปัญหากับ “คนรุ่นเก่า” ในอดีต

วันนี้กาลเวลาก็ได้ขยับคนคนเดิมจาก “เด็กรุ่นใหม่” กลายเป็น “คนรุ่นเก่า” ไปแล้ว

และกำลังมีปัญหากับ “เด็กรุ่นใหม่” ในยุคนี้

เพียงแต่ตัวปัญหาอาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

อย่างวันนี้ปัญหาหนึ่งที่คนทำงานมานานไม่เข้าใจ “เด็กรุ่นใหม่” ก็คือ ทำไมตัดสินใจลาออกเร็วจัง

ทำงานได้ไม่กี่เดือนก็ลาออกแล้ว

ยอมเป็น “ฟรีแลนซ์” ดีกว่าทำงานที่ไม่ชอบ

ในมุมของ “คนรุ่นเก่า” จะมองว่า “เด็กรุ่นใหม่” ไม่อดทน จับจด เชื่อมั่นในตัวเองมากไป

แต่สำหรับ “เด็กรุ่นใหม่” ผมเคยอ่านใน Pantip มีบางคนเคยตั้งคำถามกลับอีกมุมหนึ่ง

ไม่ใช่เขา “ไม่อดทน”

แต่สงสัยว่า “ทำไมต้องทน”

ประเด็นนี้น่าสนใจนะครับ เพราะเรื่องเดียวกันแต่มุมคิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“คนรุ่นเก่า” คิดว่าเรื่องแบบนี้น่าจะทนได้

หรือเพิ่งทำงานได้ไม่เท่าไร ทำไมไม่ทนไปก่อน สักพักก็จะเข้าใจว่าทำไมถึงทำแบบนี้

แต่ “เด็กรุ่นใหม่” กลับรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องทน

เขามี “ทางเลือก”

“เวลา” ในการตัดสินใจก็เช่นกัน

“เด็กรุ่นใหม่” ตัดสินใจเร็ว

แป๊บเดียวก็ถึงขีดสุดแล้ว

“ความเปลี่ยนแปลง” เป็นเรื่องธรรมดาที่เขายอมรับได้

แต่ “คนรุ่นเก่า” จะใช้เวลาในการตัดสินใจว่าจะออกหรือไม่ออกนานกว่า

นาฬิกาที่ชื่อ “ความอดทน” ของคน 2 รุ่นแตกต่างกัน

แต่มีบางคนก็แย้งว่าเวลาพูดถึง “เด็กรุ่นใหม่” แบบนี้

น่าจะหมายถึง “เด็กรุ่นใหม่” ที่มาจากชนชั้นกลางขึ้นไป

ไม่เคยลำบากมาก่อน

ขีดความอดทนจึงต่ำ

แต่สำหรับเด็กรุ่นเดียวกัน ถ้าเป็นคนที่เคยผ่านความลำบาก เคยช่วยเหลือครอบครัวทำงานมาตั้งแต่เล็ก

นาฬิกา “ความอดทน” ของเขาจะเดินช้า

เรื่องที่คนทั่วไปรู้สึกว่าหนัก

เขาจะรู้สึกว่าธรรมดา

เพราะตอนที่ช่วยงานครอบครัวตอนเด็กหนักกว่านี้อีก

ผมชอบแนวคิดของ “เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ของ MFEC ที่ค้นพบ “ความลับของฟ้า”

จากเดิมที่เคยรับเด็กเกียรตินิยม จากสถาบันดังๆ

วันนี้เขาเปลี่ยนมารับ “เด็กรุ่นใหม่” ที่มีฐานะครอบครัวยากจน

ถ้า “จน” มีสิทธิ์ก่อน

เพราะอดทน

และมองงานที่ได้เป็น “โอกาส”

เขาจะไม่ยอมปล่อยโอกาสนี้ไปง่ายๆ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ การมองบริษัทจากมุม “เด็กรุ่นใหม่”

“เด็กรุ่นใหม่” เหมือนกับ “นก”

อย่าไปคิดเปลี่ยนนิสัยของ “นก”

แต่ต้องเข้าใจว่า “นก” ต้องการอะไร

บริษัทที่ดีต้องทำตัวเป็น “ต้นไม้ใหญ่”

มีร่มเงา มีดอกผลเป็นอาหาร

สร้างบรรยากาศให้ “นก” ชอบ

แล้ว “นก” ก็จะบินมาอยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้ต้นนี้เอง

บรรยากาศของบริษัทที่ “นก” ชอบนั้นเป็นอย่างไร

ผมนึกถึงบริษัทแรบบิทส์เทล

บริษัทดิจิตอลเอเยนซี่ของ “คนรุ่นใหม่”

“เล็ก” รุ่งโรจน์ ตันเจริญ ซีอีโอของบริษัทอายุไม่ถึง 30 ปี

สำนักงานของบริษัทนี้ปรับปรุงจากโกดังเก่า

เพดานสูง กว้างขวาง

มีต้นไม้ใหญ่อยู่กลางสำนักงาน

มีสไลเดอร์

มีโต๊ะปิงปอง

ดีไซน์สวยแบบ “คนรุ่นใหม่” ชอบ

น้องคนหนึ่งเคยบอกว่าขนาดกินมะม่วงน้ำปลาหวานในออฟฟิศยัง “เท่” เลย

คือ อาหารจะธรรมดาสามัญประจำบ้านแค่ไหน

แต่ถ้ามากินที่นี่

คนกินจะเท่ขึ้นทันที

คนทำงานที่นี่แค่ถ่ายรูปที่ทำงานโชว์เพื่อน

ก็ “เท่” แล้ว

การดีไซน์สำนักงานนั้นใช้มุมคิดเดียวกับบริษัทชั้นนำ อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก

คือ ทำให้คนได้ปฏิสังสันทน์กัน

ถ้าทำงานต่างหน่วยงานจะคุยกันเรื่องงานก็แปลกๆ

แต่ “โต๊ะปิงปอง” ทำให้เขาได้รู้จักกัน

พอรู้จักอย่างไม่เป็นทางการ

ต่อไปก็คุยกับเรื่องอื่นๆ ต่อ

รวมทั้งเรื่องงาน

การแลกเปลี่ยนทำให้เกิด “ความคิดสร้างสรรค์”

“พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์ เคยบอกว่าไอเดียดีๆ ของ “เวิร์คพอยท์” ไม่เคยเกิดขึ้นในห้องประชุม

แต่อาจเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร

หรือการยืนคุยกัน

นอกจากนั้น “แรบบิทส์เทล” ยังมีกิจกรรมสนุกๆ อยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานปาร์ตี้ในสำนักงาน

ทำเทศกาลสินค้ามือสอง ให้ทุกคนเอาของมาขาย

หรืออื่นๆ อีกมากมาย

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ภาพของสำนักงาน “แรบบิทส์เทล” และเรื่องราวสนุกๆ ที่มีการบอกต่อ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ “แรบบิทส์เทล” ทำงานง่ายขึ้น

ตอนที่บริษัทนี้ได้ลงในเว็บไซต์หนึ่ง

“เล็ก” บอกว่าฝ่ายขายทำงานง่ายขึ้น

พอยื่นนามบัตร ลูกค้าเห็นชื่อบริษัทก็บอกว่าบริษัทที่ออฟฟิศสวยๆ มีต้นไม้ใช่ไหม

เขาไม่ต้องแนะนำบริษัทเลย

หรือฝ่าย HR ก็ชอบ เพราะเวลาประกาศรับสมัครงานทีไร

คนสมัครเยอะมาก

เพราะชอบบรรยากาศของออฟฟิศนี้

ครับ นี่คือกลยุทธ์หนึ่งในการทำ “ต้นไม้ใหญ่” ที่ “นก” ชอบ

“สกาย” เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ทำงานที่เดียวนานมาก

นานจนเพื่อนตกใจ

วันหนึ่ง เพื่อนก็ถาม “สกาย” ว่าทำไมถึงอดทนจัง

“ไม่ได้อดทนว่ะ” สกายตอบ

เขาบอกว่าตัวเขาเป็นคนลังเล ตัดสินใจช้า

ปัญหาเดียวกัน เพื่อนทนไม่ไหว ลาออกไปแล้ว

แต่เขายังลังเล

ออกหรือไม่ออกดี

ลังเลไปลังเลมา สุดท้าย “ปัญหา” ที่คิดว่าเป็น “ปัญหา” ก็ผ่านไป

พอจะตัดสินใจ

“ปัญหา” เดิมก็แก้ได้แล้ว