เพ็ญสุภา สุขคตะ : หนังสือ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ทำถวายเป็นสังฆบูชา เชิดชูตนบุญแห่งล้านนา สู่บุคคลดีเด่นของโลกต่อยูเนสโก

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เชื่อว่าหลายท่านคงสงสัยมานานแล้วว่าทำไม 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ดิฉันจึงนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ค่อนข้างมากและเจาะลึกแทบในทุกๆ มิติ

แถมยังมีวี่แววว่ายิ่งเขียน ก็ยิ่งค้นพบเงื่อนงำอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายเหลือเกิน เสมือนสายน้ำที่ไหลเรื่อยรินมาอย่างมิรู้สุดสิ้น

ทั้งๆ ที่ภาพลักษณ์ของดิฉันในอดีตคือผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “หริภุญไชยศึกษา” “ศิลปะตะวันตก” กับด้าน “กวีนิพนธ์ วรรณกรรมไทย-เทศ” ซะละมากกว่า

แล้วจู่ๆ ไฉนหันมาสนใจเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างหัวปักหัวปำ

 

การที่ดิฉันสืบค้นเรื่อง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” นี้ ก็เนื่องมาจากดิฉันได้รับมอบหมายจาก ดร.ชัยณรงค์ ณ ลำพูน ด้วยการประสานผ่าน พันตรีบัญชา ชัยปฏิยุทธ (อดีตรองราชเลขาธิการ ผู้บังคับบัญชาเก่าของดิฉันตั้งแต่สมัยอยู่สำนักราชเลขาธิการ) ให้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ จัดทำต้นฉบับหนังสือขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อเชิดชูเกียรติของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ในฐานะที่ทั้งสองท่านต่างเป็นชาวลำพูนโดยกำเนิด หนังสือเล่มนี้จึงจัดทำในนามสมาคมชาวลำพูน สาขากรุงเทพมหานคร

ดิฉันยินดีรับเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย ซึ่งมีผู้ร่วมทีมงานที่เป็นทั้งนักวิจัยหลักและผู้ช่วยนักวิจัยหลายท่าน อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ภูเดช แสนสา นายนเรนทร์ ปัญญาภู นายศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตรี ฯลฯ

โดยเริ่มลงมือปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2557 เป็นต้นมา กระทั่งใกล้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่มในช่วงต้นปี พ.ศ.2561

อันเป็นวาระพิเศษหรือศักราชที่ครบรอบ “140 ปีชาตกาลของครูบาเจ้าศรีวิชัย” พอดี (ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำอาร์ตเวิร์กและตรวจสอบความถูกของต้นฉบับ)

 

หนังสือชุดนี้แยกเป็น 3 เล่ม แบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่

เล่มที่ 1 นำเสนอเรื่อง สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี เล่มแรกนี้แบ่งออกเป็น 3 บท

บทที่ 1 ว่าด้วย สิริชีวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย นับแต่ ชาติกำเนิดจนถึงมรณภาพ

บทที่ 2 ว่าด้วย วัตรปฏิบัติ และหลักธรรมคำสอน

บทที่ 3 ว่าด้วย มงคลบารมี บทนี้จำแนกแยกย่อยออกไปเป็นเรื่อง กู่บรรจุอัฐิ อนุสาวรีย์ สารูป สหธรรมิก และศิษยานุศิษย์ ของครูบาเจ้าศรีวิชัย

การเรียบเรียงหนังสือเล่มแรกนี้ ดิฉันและคณะทำงานเริ่มศึกษาวิจัยด้วยการรวบรวมหนังสือและเอกสารที่มีผู้เขียนถึงครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้ทุกประเภทมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารชั้นต้นที่เขียนขึ้นร่วมสมัยกับยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีชีวิตเป็นหลัก ตั้งแต่ พ.ศ.2466 เป็นต้นมา ประกอบกับการใช้เอกสารทางราชการ หนังสือพิมพ์ที่ลงเรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัย

พร้อมด้วยบทสัมภาษณ์ที่ได้มาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล

 

หลังจากที่ดิฉันและคณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับครูบาเจ้าศรีวิชัยทั่วทุกจังหวัดในล้านนา ได้สัมภาษณ์บุคคล ได้ตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารประเภทตำนาน บันทึก เอกสารโต้ตอบจำนวนมากแล้ว

ดิฉันได้นำข้อมูลชุดใหม่ที่เรียบเรียงนั้นมาเข้าสู่เวทีประชุมแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างเข้มข้นระหว่างคณะนักวิจัยกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนหลายครั้งหลายครา เพื่อให้เกิดความรอบคอบและรัดกุมในด้านการระบุปีศักราช รวมถึงนามเฉพาะของบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ต่างๆ

ปัญหาที่พบในการวิจัยครั้งนี้คือ หนังสือที่เขียนประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ผ่านมาแม้จะมีจำนวนมาก แต่กลับพบว่าเนื้อหาหลายตอนมิได้สอดคล้องเป็นเอกฉันท์ไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าเรื่องศักราชปีที่ท่านกำเนิด วันเดือนปีที่มรณะ เชื้อสายชาติพันธุ์บรรพบุรุษของครูบาเจ้าศรีวิชัย จำนวนวัดที่ก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ ใครลงจอบแรกสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ฯลฯ

ล้วนแต่เป็นปริศนาหรือเป็นโจทย์ที่ทำให้คณะทำงานต้องใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในเรื่องปลีกย่อยทั้งหมดนั้นอย่างละเอียดลออ

 

อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบข้อมูลใหม่หลายประเด็น อาทิ การไขปริศนาเรื่องศักราชปีเกิดที่สับสนระหว่าง พ.ศ.2420 กับ 2421 การค้นพบคำตอบเรื่องวันมรณภาพระหว่างวันที่ 20, 21 กุมภาพันธ์ กับวันที่ 22 มีนาคม

ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยตอนบรรพชาเป็นสามเณร นามของพระกรรมวาจาจารย์ตอนครูบาเจ้าศรีวิชัยอุปสมบท คร่าว (กวีนิพนธ์ล้านนา) ว่าด้วยการเคลื่อนศพครูบาเจ้าศรีวิชัยจากวัดบ้านปางไปวัดจามเทวีในปี 2489 ซึ่งต้องแวะพักตามวัดต่างๆ

เอกสารสำคัญที่พระเทพเวที (อาจ อาสภมหาเถระ) หรือพระพิมลธรรม ขอพระราชทานเพลิงศพให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เอกสารการประชุมรัฐสภาเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ขอให้รัฐบาลส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาอาการอาพาธให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัย

เอกสารตอบโต้ระหว่างศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับหลวงศรีประกาศ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่าด้วยการจัดสร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยระหว่างปี 2499 ถึง 2506 เป็นต้น

ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์ในเอกสารเล่มใดมาก่อน

 

ส่วนหนังสือเล่มที่ 2 และเล่มที่ 3 เป็นเรื่องการตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดต่างๆ ประกอบด้วย จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก และสุโขทัย ดิฉันและคณะนักวิจัยต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้งสิ้นจำนวนไม่ต่ำกว่า 300 วัด แต่สามารถคัดกรองเฉพาะวัดที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในทางใดทางหนึ่งว่าเป็นผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างแท้จริง

โดยในแต่ละจังหวัดได้จัดเรียงแยกประเภทของวัดเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่

กลุ่มแรก ปรากฏรายชื่อวัดในบัญชีที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยลงลายเซ็นจัดทำขึ้นเองในระหว่าง พ.ศ.2476-2478 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ผู้สำเร็จราชการในพระองค์

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มวัดที่พบหลักฐานลายลักษณ์มีการบันทึกในคัมภีร์ใบลาน ปั๊บสา จารึกบนแผ่นปูน แผ่นไม้ เก็บรักษาตามวัดต่างๆ

และกลุ่มสุดท้ายคือ วิเคราะห์จากรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรม สำหรับวัดที่เหลืออีกประมาณ 60 กว่าแห่ง ซึ่งข้อมูลยังคลุมเครือหรือไม่มีหลักฐานชัดเจนมากพอ ก็มิได้ตัดทิ้ง แต่ได้รวบรวมจัดทำหมายเหตุเป็นข้อสังเกตไว้ในภาคผนวก เผื่อว่ามีผู้สนใจนำไปใช้ศึกษาค้นคว้าต่อยอดในอนาคต

การเรียบเรียงข้อมูลวัดแต่ละแห่ง ดิฉันทำการศึกษาทั้งประวัติความเป็นมาของวัด รายนามเจ้าอาวาสจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการศึกษาที่เน้นผลงานการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะของครูบาเจ้าศรีวิชัยและคณะศิษยานุศิษย์ในวัดนั้นๆ เป็นการเฉพาะเจาะจง ว่ายังมีร่องรอยอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง เสนาสนะหลังไหนเป็นฝีมือดั้งเดิม หลังไหนได้รับการซ่อมแซมใหม่ หลังไหนรื้อไปแล้ว ฯลฯ

ด้วยการเปรียบเทียบภาพถ่ายปัจจุบันกับภาพถ่ายเก่า ในส่วนนี้ได้วิเคราะห์เรื่องรูปแบบศิลปกรรม ผังอาคาร ฝีมือช่าง รสนิยม บทบาทของสล่า (นายช่าง) การเลือกสรรวัสดุ การใช้สัญลักษณ์ขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย เช่น รูปเสือ นกยูง ลายดอกสับปะรด ฯลฯ

พร้อมกันนี้ได้จัดทำแผนที่และแผนผังอาคารระบุพิกัดสถานที่ตั้งของวัด กับเสนาสนะที่เป็นผลงานของครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการตามรอยจาริกแสวงบุญของสาธุชน

 

วัตถุประสงค์หลักของการที่สมาคมชาวลำพูน (กรุงเทพมหานคร) มอบหมายให้คณะนักวิจัยเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ นอกเหนือไปจากการเก็บรวบรวมและชำระสะสางข้อมูลในทุกๆ มิติที่เกี่ยวข้องกับครูบาเจ้าศรีวิชัยเพื่อเรียบเรียงขึ้นใหม่คล้ายเป็น “สารานุกรมสืบค้นเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัย” อย่างละเอียดแล้วนั้น

ยังมีจุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อให้ข้อมูลนี้กระจายเผยแพร่ไปสู่ผู้อ่านทุกระดับชั้นในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเฉพาะสถาบันการศึกษาหรือกลุ่มนักวิชาการเท่านั้น งานเขียนจึงไม่ใช้ภาษาวิชาการที่ดูยุ่งยากและซับซ้อนเกินไปสำหรับประชาชนทั่วไป

ในส่วนของภาพประกอบ จำนวนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือชุดนี้ เป็นผลงานการถ่ายภาพของคณะนักวิจัย ซึ่งทำในนามของสมาคมชาวลำพูน (กรุงเทพมหานคร) ส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์นั้น มีทั้งภาพถ่ายเก่าครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ได้รับการเผยแพร่ต่อๆ กันมาตามสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์อยู่แล้ว

และมีทั้งการได้รับความอนุเคราะห์เพิ่มเติมจากเครือข่ายในพื้นที่ที่คณะนักวิจัยได้ประสานงาน

 

หนังสือชุดดังกล่าวมีความหนาทั้งสิ้นประมาณ 1,400 หน้า บรรจุในกล่องอย่างดี พิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตา มีภาพสีแทรกเล่มละ 8 หน้า แต่เนื่องจากงบประมาณในการจัดพิมพ์เป็นงบฯ บริจาคจากสาธุชน จึงพิมพ์ในจำนวนจำกัดประมาณ 3,000 เล่ม กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับคือ

1. นำถวายตามวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิริชีวประวัติของครูบาเจ้าศรีวิชัย ทั้งวัดที่ท่านก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ วัดที่มีกู่อัฐิ วัดของศิษยานุศิษย์รูปสำคัญ แม้กระทั่งวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกต้องอธิกรณ์ก็ตาม ซึ่งดิฉันทำลิสต์ไว้หมดแล้ว

2. อภินันทนาการตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ (เน้นสถาบันสงฆ์ และสถาบันระดับอุดมศึกษา)

3. เพื่อมอบให้นักวิชาการ นักปราชญ์ นักการศาสนา ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับแปลเรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นภาษาอังกฤษ ในการนำเสนอครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลดีเด่นของโลกต่อยูเนสโก ในวาระชาตกาล 150 ปี (ซึ่งเขามีเงื่อนไขว่า สามารถเสนอได้แค่วาระ 100 ปี, 120 ปี หมายถึง 10 รอบนักษัตร, 150 ปี และ 200 ปี ชาตกาลหรือมรณกาลเท่านั้น ไม่มีตัวเลขอื่น) ไม่เป็นไรอีก 10 ปีเรารอได้

และหากมีข้อมูลอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนเดี๋ยวเราชำระใหม่กันอีกรอบ

 

หนังสือชุดนี้จึงตั้งใจพิมพ์เป็นธรรมทาน ด้วยงบฯ ของผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการค้าหรือมุ่งหวังผลทางกำไร ไม่ได้วางจำหน่ายทั่วไป

แต่เนื่องจากได้มีเสียงเรียกร้องจากแฟนเพจในเฟซบุ๊กก็ดี และจากแฟนคอลัมน์ปริศนาโบราณคดีที่ติดตามดิฉันมาอย่างเหนียวแน่นก็ดี ได้ตัดพ้อและทักท้วงว่า หากไม่วางจำหน่ายแล้ว พวกเขาจะหาอ่านแง่มุมต่างๆ ของครูบาเจ้าศรีวิชัยชนิดที่เนื้อหาปะติดปะต่อได้จากที่ไหนอย่างไรกัน ในเมื่อดิฉันเอามานำเสนอในคอลัมน์นี้เพียงบางส่วนเสี้ยวเท่านั้นเอง พวกเขามิต้องไปขอยืมอ่านตามห้องสมุด ตามวัดในภาคเหนือ และขอยืมเหล่านักวิชาการอ่านดอกล่ะหรือ?

ดิฉันจึงปรึกษากับคณะกรรมการสมาคมชาวลำพูน ได้ข้อสรุปว่า ถ้าเช่นนั้น หากมีผู้สนใจอยากร่วมบุญเป็นเจ้าของหนังสือชุดนี้จริงๆ ทางเราควรจะมีการพิมพ์เพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งสำหรับผู้สั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น โดยคิดราคาเท่าทุนแค่ค่าพิมพ์ค่ากล่องพร้อมแผ่นซีดีรอมในลักษณะอีบุ๊ก ในราคาชุดละ 2,200 บาท (รวมค่าพัสดุไปรษณีย์แล้ว)

ซึ่งดิฉันก็รู้สึกกริ่งเกรงใจนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์มาก หากประชาสัมพันธ์ตรงพื้นที่นี้มากเกินไป รบกวนผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดดิฉันโดยตรงดีกว่านะคะ ในกล่องข้อความเฟซบุ๊กชื่อ Pensupa Sukkata