เกษียร เตชะพีระ : โลกาภิวัตน์ไปไกลเกิน

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่านโลกแปรสัณฐาน (1)

คําถามที่ค้างต่อมาจากสัปดาห์ก่อนก็คือ สำหรับบรรดาผู้คับแค้นที่ถูกโลกาภิวัตน์ทอดทิ้งไว้ข้างหลังทั้งหลาย ซึ่งไม่เพียงรู้สึกว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ หากยังสูญเสียอำนาจควบคุมชะตากรรมของตัวเองในสภาพที่อธิปไตยแห่งชาติถูกกร่อนเซาะด้วยนั้น

อะไรคือทางเลือกที่เป็นจริงและเป็นไปได้ทางการเมืองในการต่อต้านทัดทานโลกาภิวัตน์ นอกเหนือจากแนวทางประชานิยมอย่างการไปโหวตให้ทรัมป์และประชามติเบร็กซิท?

ต่อเรื่องนี้ แดนี รอดริก ศาสตราจารย์ชาวตุรกีแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลักคนแรกๆ ที่เริ่มออกมาตั้งคำถามกับโลกาภิวัตน์แต่เนิ่นว่ามันไปไกลเกินไปแล้วหรือไร? (Has Globalization Gone Too Far?, 1997) เขาได้สรุปข้อสังเกตเชิงกรอบการมองของเขาไว้ว่า :-

“เราได้ยินได้ฟังครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อมีการลงนามข้อตกลงทางการค้าเหล่านี้ว่ามันไม่เกี่ยวกับการสูญเสียอธิปไตยแห่งชาติใดๆ ผมคิดว่านั่นเป็นเท็จเสียส่วนใหญ่ และเราก็ได้ยินครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นกันว่ากระบวนการประชาธิปไตยจะไม่ได้รับผลกระทบด้านกลับใดๆ ซึ่งผมคิดว่านั่นก็เป็นเท็จด้วยเหมือนกัน

“ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าเราถ่วงช้าหรือไม่ยอมตระหนักรับว่ามันเกิดการได้อย่างเสียอย่างเหล่านี้อยู่ก็นับเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ระเบียบสถาบันทางการเมืองทั้งหลายสูญเสียความน่าเชื่อถือไป

“เราไปไกลเกินไปในแง่ที่ไปบั่นทอนสถาบันบริหารปกครองแห่งชาติทั้งหลายให้อ่อนแอลง และก็ไปไกลเกินไปในแง่ที่มุ่งสู่การบูรณาการเศรษฐกิจโลกให้เป็นปึกแผ่นในลักษณะที่สร้างความเสียหายแก่สัญญาประชาคมในประเทศ”

(http://www.bbc.co.uk/programmes/p04vhftr)

ในงานเรื่อง Has Globalization Gone Too Far? ซึ่งตีพิมพ์ออกมาปีเดียวกับที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น (พ.ศ.2540) แดนี รอดริก เน้นไปที่ความตึงเครียด 3 ประการที่เกิดขึ้นระหว่าง [ตลาดโลก] กับ [เสถียรภาพทางสังคมภายในประเทศ] อันเขาสังเกตเห็นได้ในกระบวนการโลกาภิวัตน์

ทั้งนี้เพราะโลกาภิวัตน์มีลักษณะเขาควายสองแง่สองง่าม ที่ด้านหนึ่งก็ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างประเทศให้นานาชาติสามารถค้าขายลงทุนได้เสรีเหมือนกันหมด

แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เผยให้เห็นรอยปริแยกระหว่างรัฐชาติซึ่งเพียบพร้อมด้วยแรงงานที่มีทักษะและเงินทุนในอันที่จะประสบความสำเร็จได้ในตลาดโลก กับบรรดารัฐชาติที่ไม่มีข้อได้เปรียบเหล่านั้น ในแง่นี้ ระบบตลาดเสรีก็จะกลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางสังคมและปทัสถานในประเทศที่หยั่งรากลึกมายาวนานได้

สำหรับความตึงเครียด 3 ประการระหว่างตลาดโลกกับเสถียรภาพทางสังคมในกระบวนการโลกาภิวัตน์ตามทรรศนะของรอดริกได้แก่ :-

1) ความตึงเครียดอันเกิดจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ไปลดลัดตัดทอนด่านอุปสรรคขวางกั้นการค้าและการลงทุนโดยตรงของต่างชาติทั้งหลายลง ส่งผลให้เส้นแบ่งรอยแยกปรากฏชัดขึ้นระหว่างชาติและกลุ่มชนทั้งหลายซึ่งสามารถฉวยชิงความได้เปรียบจากสัมพันธภาพข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็น “ผู้ชนะ” กับชาติและกลุ่มชนทั้งหลายซึ่งไม่สามารถทำเช่นนั้นได้แล้วกลับเป็น “ผู้แพ้”

สำหรับกลุ่ม “ผู้ชนะ” ก็ประกอบไปด้วยแรงงานที่มีทักษะสูง ผู้ประกอบวิชาชีพและพวกที่สามารถเคลื่อนย้ายนำพาเอาทรัพยากรของตนไปยังที่ซึ่งมีอุปสงค์ต้องการมันมากที่สุดได้

ส่วนกลุ่ม “ผู้แพ้” ได้แก่แรงงานไร้ทักษะหรือกึ่งมีทักษะซึ่งภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์นั้นพลันกลับกลายเป็นปัจจัยตัวประกอบสำรองทางเศรษฐกิจที่ด้อยความจำเป็นลง หาใครมาแทนได้โดยง่าย มาตรฐานการครองชีพจึงพลอยตกต่ำลงไปด้วย

2) ความตึงเครียดอันเกิดจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ไปสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นทั้งภายในชาติหนึ่งๆ และระหว่างชาติต่างๆ เกี่ยวกับปทัสถานในประเทศและสถาบันทางสังคมทั้งหลาย เนื่องจากเทคโนโลยีและวัฒนธรรมถูกทำให้กลายเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นานาชาติซึ่งต่างก็มีปทัสถานและค่านิยมของตัวเองต่างๆ นานากันไปโน้มเอียงที่จะแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ปทัสถานรวมหมู่ดังกล่าวที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกในรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน

3) ความตึงเครียดอันเกิดจากโลกาภิวัตน์กลายเป็นตัวคอยสกัดขัดขวางรัฐบาลแห่งชาติทั้งหลายให้สนองตอบระบบสวัสดิการประกันสังคมแก่พลเมืองของตนได้ยากลำบากยิ่ง

(https://piie.com/bookstore/has-globalization-gone-too-far)

ปัญหาทำนองเดียวกันอันเนื่องมาจากโลกาภิวัตน์ปรากฏให้เห็นชัดในสังคมการเมืองไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 ดังที่ อาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้สรุปรวบยอดความคิดเรื่องนี้ไว้กระชับจับใจว่า :-

ปัญหาของประชาธิปไตยในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ได้แก่ :

– ปัญหาหนึ่งรัฐสองสังคม : ประเทศไทยมีรัฐเดียว แต่กลับประกอบไปด้วยสังคมสองสังคมที่เหลื่อมล้ำกันทั้งทางฐานะเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และความคิดค่านิยมเหลือเกินจนต่อไม่ติด และ

– ปัญหาประชาธิปไตยที่ไม่มีอธิปไตย : ถึงแม้ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง แต่พื้นที่ในการใช้อำนาจอธิปไตยของผู้แทนราษฎรและรัฐบาลจากการเลือกตั้งกลับหดแคบลงเนื่องจากถูกข้อกำหนดตกลงทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเข้ามาจำกัดกำกับควบคุมทับซ้อนไว้อีกชั้นหนึ่งโดยผ่านองค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจทั้งหลาย

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย, 2548)

ต่อมา อ.เสกสรรค์ ยังได้สะท้อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบทางรัฐศาสตร์มากขึ้นอีกว่า :-

“ถามว่ารัฐไทยกำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความจำเป็นในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจ… ” ในความเห็นของผม คิดว่าอาจจัดเป็นหมวดปัญหาใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ

“1) ปัญหาการบูรณาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับผลประโยชน์ของส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย (Economic Integration)

“2) ปัญหาความไม่ลงตัวในเรื่องการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมืองในสังคมแบบพหุลักษณะ (Political Disintegration)…

“ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ ผมคิดว่าคำถามใหญ่สุดสำหรับประเทศไทยในชั่วโมงนี้มีอยู่ 2 ข้อ คือ

หนึ่ง ในยุคโลกาภิวัตน์ มันเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะปฏิเสธการมีส่วนแบ่งในพื้นที่อำนาจของชนชั้นนำจากกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ และถ้าปฏิเสธไม่ได้จะทำอย่างไร จะออกแบบสถาบันการเมืองแบบไหนจึงจะทำให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่ทางการเมืองอันพอเหมาะพอควร?

สอง ในยุคโลกาภิวัตน์ รัฐไทยจะปกครองสังคมพหุลักษณ์ (Pluralized Society) ด้วยระบบรวมศูนย์อำนาจได้ต่อไปหรือไม่ และถ้าทำไม่ได้จะทำอย่างไร?”

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “โลกไร้พรมแดนในประเทศที่มีพรมแดน” ปาฐกถา 60 ปีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 20 พ.ย. 2552)

แม้จะตั้งโจทย์ต่างไปบ้างด้วยถ้อยวาทกรรมที่ต่างกัน แต่ แดนี รอดริก ก็กำลังเพ่งพินิจปรากฏการณ์เดียวกันและขบแก้ปมปัญหาคล้ายกันนี้แหละ เมื่อเขานำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “หนทางการเมืองสามแพร่งของเศรษฐกิจโลก” (The political trilemma of the world economy) ดังที่เขากล่าวว่า :

(อ้างจาก Dani Rodrik, The Globalization Paradox, Chapter 9)

“แนวคิดหนทางการเมืองสามแพร่งฯ บอกว่าคุณไม่สามารถมีไฮเปอร์โลกาภิวัตน์, อธิปไตยแห่งชาติ และประชาธิปไตยเต็มใบได้ในเวลาเดียวกัน เราต้องเลือกเอาซะสองอย่างจากสามอย่างนั้น” (http://www.bbc.co.uk/programmes/p04vhftr)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)