โลกแปรสัณฐาน : มิติการเมือง [เกษียร เตชะพีระ]

เกษียร เตชะพีระ

ในทางธรณีวิทยา มีแนวคิดเรื่อง “ธรณีแปรสัณฐาน” (techtonics) ซึ่งหมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงสัณฐานเบื้องลึกของโลก ที่เกิดการสร้างและทำลายแผ่นเปลือกโลกหรือแผ่นธรณีภาค (plate) อยู่ตลอดเวลามาตั้งแต่ปางบรรพ์

ทำนองเดียวกัน ในทางเศรษฐกิจการเมือง เราก็อาจคิดถึง “การแปรสัณฐานของโลกทางเศรษฐกิจการเมือง” (political economic techtonics) โดยมุ่งหมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงสัณฐานเบื้องลึกของเศรษฐกิจการเมืองโลก ที่เกิดการสร้างและทำลายฐานรากที่รองรับระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลกดังที่เป็นอยู่ตลอดเวลาได้เช่นกัน

เสมือนหนึ่งพื้นธรณีทางเศรษฐกิจการเมืองใต้ฝ่าเท้าเรากำลังขยับเคลื่อน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากเบื้องลึกของมันในแง่การเมือง, ประชากรศาสตร์, การเงิน, ทรัพยากร และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

จึงน่าสนใจที่เราจะมาสำรวจพิเคราะห์พิจารณ์การแปรสัณฐานของโลกเศรษฐกิจการเมืองดังที่เป็นอยู่ในแง่ต่างๆ เพื่อสามารถเล็งเห็นว่ามันจะไปกำหนดรูปโฉมอนาคตสิบยี่สิบปีเบื้องหน้าเราอย่างไร มิไยว่าบรรดาราษฎรอาวุโสผู้ยกร่างและกำกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีจะตระหนักถึงมันหรือไม่ เช่นใดก็ตาม

เพราะโลกและเมืองไทยในอนาคตอีกยี่สิบปีข้างหน้าย่อมไม่ใช่ของพวกท่านผู้กำลังจะจากไป…

เริ่มจากการแปรสัณฐานของโลกทางการเมือง… ในแก้วเบียร์ ณ ผับอังกฤษแห่งหนึ่ง

เมื่อคราวประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีนเยือนกระชับสัมพันธไมตรีกับอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2015 นั้น นายกรัฐมนตรีอังกฤษตอนนั้นคือ นายเดวิด คาเมรอน ได้พา ฯพณฯ สีไปสัมผัสสถาบันพื้นบ้านอังกฤษเก่าแก่ขนานแท้ดั้งเดิมแห่งหนึ่ง ได้แก่ ผับบ้านนอกชื่อ The Plough at Cadsden ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่เขตบักกิ้งแฮมไชร์ ใกล้บ้านพักตากอากาศชนบททางการสำหรับนายกฯ อังกฤษทั้งหลายมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบหก

โดยสองเกลอสีกับคาเมรอนดื่มเบียร์ขม (ale) ยี่ห้อ Green King IPA แกล้มอาหารอังกริ๊ดอังกฤษซึ่งก็คือปลากับมันฝรั่งทอดจิ้มซอสตาตาร์สูตรของทางร้านทำเอง

ภาพข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ The Plough at Cadsden กลายเป็นผับอังกฤษที่น่าจะโด่งดังที่สุดในโลก มีทัวริสต์จีนทยอยแวะไปเที่ยวดื่มกินที่ผับดังกล่าวหลังจากนั้นมาไม่ขาดสาย

จนกระทั่งในที่สุดเมื่อปลายปี ค.ศ.2016 บริษัทจีนชื่อ SinoFortone Investment ได้ซื้อกิจการผับดังกล่าวไปและวางแผนจะเปิดเครือข่ายผับสไตล์อังกฤษซึ่งกำลังเป็นที่นิยมขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วเมืองจีน

ทว่า…ชั่วปีเดียวที่ผับแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงความเป็นชาติอังกฤษเข้ากับโลกาภิวัตน์ ชาวอังกฤษก็ลงประชามติด้วยเสียงข้างมากถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ไปเสียฉิบ!

และไม่นานหลังจากนั้น ชาวอเมริกันก็โหวตเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ อภิมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ที่วางท่าทีเป็นนักประชานิยมคนนอกต่อต้านโลกาภิวัตน์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอีกเล่า!

กลายเป็นว่าสองประเทศมหาอำนาจตะวันตกซึ่งเคยเป็นกองหน้าและโฆษกโลกาภิวัตน์ช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ได้พลิกฐานะบทบาทกลับตาลปัตร กลายเป็นแบบอย่างกองหน้าและโฆษกต่อต้านโลกาภิวัตน์ไปเสียฉิบ?!?!

แล้วใครกันที่ยื่นมือมารับธงโลกาภิวัตน์แล้วชูขึ้นโบกสะบัดนำขบวนชาวโลกสืบต่อแทน?

คําตอบคือ สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ผู้กล่าวปราศรัยต่อหน้าบรรดาชนชั้นนำนักธุรกิจและผู้วางนโยบายจากทั่วโลก ณ ที่ประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ประจำปี ค.ศ.2017 ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อมกราคมศกนี้ ความบางตอนว่า :

“…ปัญหาจำนวนมากที่กำลังก่อความเดือดร้อนให้โลกทุกวันนี้หาได้เกิดจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจไม่ ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ก็ตาม เศรษฐกิจโลกคือมหาสมุทรที่ท่านหนีไม่พ้น การดำเนินลัทธิคุ้มครองการค้า (protectionism) ก็เหมือนใส่กลอนขังตัวเองไว้ในห้องมืดที่ซึ่งลมฝนอาจถูกกันไว้ภายนอกก็จริง แต่แสงสว่างและอากาศก็พลอยถูกกันออกไปด้วย ไม่มีใครจะโผล่ออกมาเป็นผู้ชนะในสงครามการค้าได้หรอก” (แปลจาก http://www.china.org.cn/node_7247529/content_40569136.htm)

ชั่วสามวันให้หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็กล่าวปราศรัยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกัน ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยถ้อยคำสวนทวนกระแสคำท้าทายของประธานาธิบดีสี บางตอนว่า :

“เราต้องปกป้องชายแดนของเราจากความพินาศฉิบหายอันก่อขึ้นโดยประเทศอื่นที่แย่งผลิตผลิตภัณฑ์ของเรา ขโมยบริษัทของเราไป และทำลายการงานอาชีพของเรา การคุ้มครอง (การค้า) จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและเข้มแข็งอันยิ่งใหญ่” (แปลจาก http://edition.cnn.com/2017/01/20/politics/trump-inaugural-address/index.html)

ดังจะเห็นได้จากตารางสรุปท่าทีทางนโยบายที่ต่างกันของสองผู้นำประเทศอภิมหาอำนาจของโลกโดยสังเขป (ดูตาราง : http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/Trump-Xi-paint-contrasting-pictures-of-international-order)

สําหรับคำถามที่ว่าการกลับตาลปัตรท่าทีของประชาชนในสองประเทศมหาอำนาจตะวันตกจนเกิดแผ่นดินไหวทางการเมืองดังกล่าว มีที่มาจากอะไร? เราพอจะเห็นได้จากกราฟภาพหนึ่งด้านล่าง :

คุณมาร์ก สักซาร์ (Marc Saxer) ปัญญาชนสาธารณะชาวเยอรมัน อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริก เอแบร์ต สำนักงานประเทศไทยอยู่ 5 ปี ก่อนจะย้ายไปอินเดียเมื่อสองปีก่อน เป็นผู้นำภาพกราฟดังกล่าวมาเผยแพร่ในหน้าเฟซบุ๊กของเขา เพื่อเชื่อมโยงการผงาดขึ้นของนักการเมืองประชานิยมในหลายประเทศทุนนิยมพัฒนาตะวันตกเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ช่วงสองทศวรรษจาก ค.ศ.1988-2008

กราฟนี้แสดงรายได้ที่เติบโตขึ้นของผู้คนทั่วโลก (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์) ในช่วงยี่สิบปีดังกล่าว (ผ่านเส้นแดง/แกนตั้ง) โดยจำแนกคนทั่วโลกเจ้าของรายได้ออกเป็นกลุ่มๆ ตามระดับรายได้ (เป็นเปอร์เซ็นต์เช่นกัน) จากจนที่สุด (ซ้ายมือของแกนนอน) ไปถึงรวยที่สุด (ขวามือของแกนนนอน)

เช่น คนจนที่สุดในโลก 5% แรก (ซ้ายสุดของแกนนอน) มีรายได้คงที่เท่าเก่าไม่เพิ่มพูนขึ้นเลยในช่วงยี่สิบปี (0% จุดแดงซ้ายสุดของกราฟ) เหมือนถูกลั่นกลอนกันท่าออกไปให้อยู่ข้างนอกการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะคนรวยที่สุดในโลก 5% สุดท้าย (ขวาสุดของแกนนอน ถัดจาก 95 ขึ้นไป) มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 60% ในช่วงยี่สิบปี (จุดแดงขวาสุดของกราฟ เท่ากับระดับ 60%) กลายเป็นชนชั้นนำของโลกที่กำลังรุ่งเรืองสุดยอด

อีกสองกลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้สูงขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายโดยเฉพาะจีน (เส้นกราฟสีแดงที่โด่งขึ้นของกลุ่มที่มีรายได้อยู่ในระดับ 15-65% ในโลกตามแกนนอน) นี่คือผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นจากเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในช่วงยี่สิบปีดังกล่าว

ขณะกลุ่มชนชั้นกลางในโลกทุนนิยมที่พัฒนาแล้วกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากหรือบ้างก็ถึงกับลดต่ำลงในช่วงยี่สิบปี (เส้นกราฟสีแดงที่ตกวูบต่ำลงของกลุ่มที่มีรายได้อยู่ในระดับ 70-95% ในโลกตามแกนนอน) นี่คือผู้รู้สึกว่าตนสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยมีเคยได้ไปจากเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในช่วงยี่สิบปีเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในโลก

กลุ่มคนชั้นกลางในโลกทุนนิยมพัฒนา (เส้นกราฟสีแดงที่ตกวูบต่ำลงในวงกลมสีดำ) นี่แหละคือฐานเสียงที่มาของพลังการเมืองแบบประชานิยม-ชาตินิยมที่เรียกร้องต้องการนโยบายคุ้มครองการค้า-ต่อต้านโลกาภิวัตน์ในอังกฤษ-อเมริกาและที่อื่นๆ

สอดคล้องกับกราฟอีกแผ่นที่แสดงว่าในประเทศทุนนิยมก้าวหน้าของตะวันตกซึ่งมีระดับรายได้สูง 25 ประเทศนั้น ครัวเรือนถึงราว 2 ใน 3 ของทั้งหมดมีรายได้จริงจากค่าจ้างแรงงานบวกดอกผลจากเงินทุนอยู่ในระดับคงที่หรือกระทั่งตกต่ำลงระหว่าง ค.ศ.2005 ถึง 2012-2014 ภาวะรายได้ครัวเรือนชะงักงันดังกล่าวแพร่หลายยิ่งในอิตาลี (กว่า 90%) และสหรัฐอเมริกา (80% ของครัวเรือนทั้งหมด) อันเป็นฐานที่มาของปรากฏการณ์ประชานิยมผงาดขึ้น

คนเหล่านี้จึงรู้สึกโกรธแค้นระบบระหว่างประเทศที่ทอดทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง การค้าเสรีได้ล้างผลาญการงานอาชีพและบั่นทอนรายได้ของพวกเขาลง แต่กลับทำเงินมหาศาลให้กับชนชั้นนำเบื้องบน

พลังความคับแค้นของพวกเขานี่แหละที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังการแปรสัณฐานของโลกทางการเมืองจนแผ่นดินไหวด้วยประชามติ Brexit และชัยชนะของประธานาธิบดีทรัมป์

แต่อะไรคือทางเลือกที่เป็นจริงและเป็นไปได้ของพลังต้านโลกาภิวัตน์เหล่านี้?

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)