สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (3) แรงบันดาลใจของครู

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างส่วนบนทั้งหมด แต่อยู่ที่การขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติในระดับพื้นที่ซึ่งเป็นระดับผู้ปฏิบัติ”

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรองประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ 2560 คนที่ 1 อภิปรายในการนำเสนอรายงานผลการศึกษาเรื่อง “การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม” ต่อที่ประชุม สปท.วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2560

“ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาจากคำสั่งมาตรา 44 เป็นการขับเคลื่อนเชิงกฎหมาย ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เป็นความเปลียนแปลงโครงสร้างส่วนบน”

ผมนำเอาคำอภิปรายของอาจารย์ยักษ์ ที่นักการศึกษาไทยเรียกขานกันด้วยความคุ้นเคย มาเล่าต่อ ใน “ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” แม้ไม่ถึงกับวิจารณ์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารการศึกษาในส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาอย่างร้อนแรง ออกแนวๆ กัลยาณมิตรมากกว่า

แต่ข้อคิดเห็นที่ว่า “จำเป็นต้องสร้างกลไกความร่วมมือให้เกิดขึ้นโดยเร็ว” กับข้อเสนอโมเดลพัฒนากลไกการศึกษาประชารัฐ โดยมีคณะกรรมการการศึกษาประชารัฐจังหวัด เป็นกลไกผลักดันการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในระดับพื้นที่ ทำงานเป็นเครือข่ายในจังหวัดและระหว่างจังหวัด ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าคิด

 

ครับ เป็นมุมมองเกี่ยวกับระบบ โครงสร้าง บริหารจัดการที่ต่างออกไป ซึ่งได้รับการอภิปรายสนับสนุนจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ อย่างหลากหลาย

โดยเฉพาะประเด็นการปฏิบัติของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กรรมาธิการการศึกษาและสมาชิก สปท. หลายคนอภิปรายไปในแนวทางเดียวกัน

“ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การบริหารจัดการ รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง คณะกรรมการการศึกษาประชารัฐจังหวัด เสนอให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการเป็นประธาน”

ความเคลื่อนไหวทั้งสองเวที คือ เวทีประชุมนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กับเวทีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

ทั้งคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คำอภิปรายของ สปท. สะท้อนความเชื่อตรงกันว่า กระบวนการบริหารจัดการศึกษา ที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาส่งผลถึงนักเรียน ครู โรงเรียน อย่างแท้จริง ต้องเชื่อมโยงกับชุมชน ให้บทบาทภาคประชาชนมากขึ้น โดยการทำงานแบบเครือข่าย ทำงานแนวระนาบมากกว่าสั่งการแนวดิ่ง

ประเด็นจึงมีว่า กลไก กระบวนการบริหารตามคำสั่งที่ 10 และ 11 ที่กำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ จะมีจุดเชื่อมโยงกับแนวคิดคณะกรรมการการศึกษาประชารัฐจังหวัด อย่างไร เมื่อไหร่ จนปรากฏผลเป็นรูปธรรมทั้งคุณภาพและโอกาสทางการศึกษา ความสามารถทางปัญญา ทางวิชาการ กับทักษะชีวิต พฤตินิสัย และทักษะวิชาชีพของนักเรียนทุกระดับ

 

ผมเชื่อว่าแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดการพัฒนาที่ครูเป็นหัวใจ เป็นคำตอบที่มีน้ำหนัก เป็นจุดคานงัดความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะยึดแนวทางให้บทบาทภาครัฐเป็นหลักหรือภาคประชาชนเป็นสำคัญก็ตาม สุดท้ายมาบรรจบพบกันที่คน คือ ครู ครับ

ฉะนั้น บทเรียน ประสบการณ์ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทั้ง 11 ท่านที่นำมาเล่าขานในวงประชุมนานาชาติ ครั้งแรก จึงน่านำไปคิดอย่างยิ่ง

แบ่งหัวข้ออภิปรายออกเป็น 5 ข้อตามลำดับ ข้อแรก สะเต็มศึกษา (STEM Education) แตกเป็น 5 ประเด็น ให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ 3 ท่านแรก จาก 3 ประเทศเล่าก่อน

ครู Mr.Zainuddin Zakaria ประเทศมาเลเซีย ครู Mr.Herwin Hamid ประเทศอินโดนีเซีย และ ครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ประเทศไทย

ประเด็นแรก แรงบันดาลใจในการเป็นครู

 

ครู Zainuddin บอกว่า อยากเป็นครูเพราะรักในการสอน อยากแบ่งปันความรู้ของตนเองให้นักเรียน และอยากให้ห้องเรียนมีความสนุกสนาน นักเรียนมีความสุข โดยมีคุณพ่อซึ่งเป็นครูโรงเรียนเอกชนมา 40 ปีเป็นแรงบันดาล

คุณพ่อเป็นครูที่ดี ท่านสนับสนุนทุกสิ่งทุกอย่างที่ครู Zainuddin ทำ เพราะเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในวันข้างหน้า นอกจากนี้ คุณแม่และพี่สาวของครู Zainuddin ก็เป็นครูเช่นกัน

ในขณะที่ครู Herwin Hamid อยากเป็นครู เพราะมีปณิธานของตัวเองว่า “อยากสร้างคุณภาพที่ดีให้กับนักเรียนและสังคม” จึงต้องการแบ่งปันความรู้และทัศนคติที่ดีให้กับนักเรียน อยากช่วยนักเรียนประสบความสำเร็จ ซึ่งจะช่วยสร้างคุณลักษณะที่ดีให้แก่ชุมชนต่อไป

ครู Herwin ได้รับแรงบันดาลใจในการเป็นครูจากหลายท่าน ท่านแรกคือคุณแม่ ซึ่งแม้ว่าคุณแม่จะไม่ได้เป็นครู แต่ได้สอนลูกทุกคนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนต่อผู้อื่น อีกท่านหนึ่งคือคุณครูในระดับประถมศึกษา ที่ปฏิบัติกับศิษย์เหมือนกับลูกของท่าน และสอนให้ลูกศิษย์ปฏิบัติตนต่อเพื่อนต่างศาสนา ท่านจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ครู แต่ยังเป็นเหมือนเพื่อนด้วย

สำหรับครูเฉลิมพร มีครูที่เคยสอนเป็นแรงบันดาลใจ เนื่องจากครูเป็นผู้สอนให้ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม ให้ความอบอุ่น ให้ความเมตตา คอยดูแลเอาใจใส่ อีกทั้งครูยังเป็นนักแสดงที่ดี สามารถแสดงได้ทุกบทบาท สิ่งเหล่านี้ทำให้อยากเป็นครู ดูแลเด็กๆ ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ โดยยึดในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้นแบบในการเป็นครู ด้วยทรงเป็นเหมือนครูแห่งแผ่นดิน พระองค์ทรงสอนพสกนิกร โดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทุ่มเททั้งชีวิต แรงกายแรงใจในการสอนให้อยู่อย่างพอเพียง และทรงงานหนัก

ครูเฉลิมพรได้น้อมนำพระราชดำรัสมาใช้ในการเป็นครู และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จเรื่อยมา

 

ประเด็นต่อไป การที่ได้เป็นบุคคลต้นแบบ ส่งผลต่อนักเรียนอย่างไร

ครูเฉลิมพรเริ่มก่อน เห็นว่าการเป็นแบบอย่างที่ดีและปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ช่วยสนับสนุนให้นักเรียนประสบความสำเร็จได้

ส่วนครู Zainuddin Zakar เห็นว่าแบบอย่างที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต และนักเรียนมักจะมองดู และทำตาม

นอกจากนี้ ครู Herwin บอกว่านักเรียนจะได้รับแรงบันดาลใจจากพฤติกรรม ที่สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต นักเรียนจะเกิดความกระตือรือร้น อยากที่จะสำเร็จเหมือนกับครูของเขา

ประเด็นที่ 3 ความท้าทายและการแก้ปัญหาในการทำงาน ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 3 คนจาก 3 ประเทศ สะท้อนอย่างไร น่าฟังทั้งนั้น ตอนหน้าค่อยว่ากัน