จากภาษีมรดกถึงภาษีที่ดิน รื้อ-แก้-ลดหย่อนเอาใจฝุดๆ แค่ล้างอาถรรพ์…เพิ่มรายได้รัฐยังห่างเป้า

ความพยายามของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผลักดันกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สิน คือ ภาษีการรับมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใกล้จะสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ล่าสุด ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านการพิจารณากฤษฎีกา และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 หลังจากนี้จะบรรจุวาระในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า พร้อมจะรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐบาล และผู้ที่ได้รับผลกระทบ คาดว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ไม่เกินเดือนกันยายน 2560 นี้

ถ้าการพิจารณาของ สนช. เป็นไปตามที่นายพรเพชรประเมินไว้ คาดว่ากฎหมายจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในต้นปี 2561 โดยในกฎหมายให้เวลาท้องถิ่นเตรียมเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1 ปี

ดังนั้น กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562

 

หากการพิจารณากฎหมายเดินได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้ ถือว่าภารกิจของรัฐบาล คสช. ในเรื่องภาษีทรัพย์สิน สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ถือเป็นการล้างอาถรรพ์ภาษีทั้ง 2 ฉบับ ที่ผลักดันมานานกว่า 30 ปี แม้แต่รัฐบาลชุด คสช. เกือบพับกฎหมายใส่ลิ้นชัก เนื่องจากมีเสียงคัดค้านค่อนข้างมาก เพื่อให้กฎหมายเกิดได้ คสช. โอนอ่อนผ่อนตามกลุ่มผู้คัดค้านในหลายเรื่อง

กรณีของ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ปรับแก้สาระสำคัญที่สุดของกฎหมายในชั้นของกรรมาธิการ สนช. โดยปรับแก้มูลค่ามรดกยกเว้นภาษีเป็น 100 ล้านบาท จากข้อเสนอเดิมคือยกเว้นเพียง 50 ล้านบาท และมรดกที่จะเสียภาษีนั้นคิดจากคนรับ ดังนั้น หากมีมรดก 300 ล้าน แบ่งให้ลูก 3 คน คนละ 100 ล้านบาทก็ไม่เสียภาษี

ดังนั้น ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กฎหมายยังไม่สามารถเก็บภาษีมรดกได้แม้แต่บาทเดียว แม้จะมีเศรษฐีเสียชีวิตไปหลายรายเมื่อช่วงปี 2559 แต่เมื่อสมบัติยังไม่โอนไปยังทายาท หรือผู้รับมรดก การเสียภาษีจึงยังไม่เกิดขึ้น

ทำให้หลายคนมองว่ากฎหมายภาษีมรดกที่ออกมานั้น เป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์ เพราะไม่ได้ช่วยให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น ในทางกลับกันทำให้ภาระของสรรพากรในฐานะหน่วยงานหลักเก็บภาษี มีงานเพิ่มขึ้น

หลังจากนี้ ต้องมาติดตามการพิจารณาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ สนช. ว่าจะมีการปรับแก้จากร่างเดิมที่เสนอเข้าไปหรือไม่

 

ร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรับแก้จากร่างของกระทรวงการคลังไปพอสมควร กฤษฎีกาปรับแก้ 3-4 ประเด็น อาทิ แนวทางการประเมินภาษี หากใช้ที่ดินหลายประเภทในแปลงเดียวกัน คิดจากภาษีตามการใช้งาน จากเดิมหากใช้พื้นที่ใดสัดส่วน 3 ใน 4 เสียภาษีตามการใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ เช่น พื้นที่เกษตร หากมีพื้นที่ 100 ไร่ ทำเกษตร 75 ไร่ ที่เหลือ 25 ไร่ ทำรีสอร์ต เดิม อาจเสียภาษีเป็นเกษตร แต่ของใหม่ เสียภาษีอัตราเกษตร 75 ไร่ อีก 25 ไร่ เสียภาษีเชิงพาณิชย์

สำหรับตึกแถวย่านสีลม เยาวราช เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ค้าขาย เสียภาษีตามการใช้จริง เช่น ตึก 4 ชั้น อาศัย 3 ชั้น เสียภาษีที่อยู่อาศัย 3 ชั้น ค้าขาย 1 ชั้น เสียภาษี 1 ชั้น จากเดิมอาจต้องเสียภาษีที่อยู่อาศัย

สำหรับบ้านอยู่อาศัยเดิม การเสียภาษีมี 2 แบบ แบ่งเป็นบ้านหลังหลัก ซึ่งเสียคนละอัตรา กับบ้านหลังที่สอง โดยบ้านหลังที่สอง แยกย่อยภาษีตั้งแต่บ้านราคา 5 ล้านบาทเป็นขั้นบันไดจนถึงบ้านราคา 100 ล้านบาท คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับใหม่เป็นอัตราเดียวกัน แต่บ้านหลังหลักยกเว้นในส่วนของ 50 ล้านบาทแรก

ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า เดิมอยู่ในกลุ่มที่ดินอื่นๆ โดยมีเพดานเก็บภาษี 5% แต่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าควรแยกประเภทออกมา กำหนดเพดานเริ่มต้น 2%

ทำให้กฎหมายแบ่งประเภทที่ดินเป็น 4 ประเภท จากเดิมกำหนดเพียง 3 ประเภท แม้ที่ดินรกร้างว่างเปล่ามีอัตราเพดานที่สูงมาก แต่การจัดเก็บจริงคาดว่าจะอิงที่ดินประเภทอื่นๆ ดังนั้น อัตราจัดเก็บจริงเริ่มต้นของที่ดินรกร้างว่างเปล่าและที่ดินอื่นๆ อยู่ในระดับเท่ากัน ถ้าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะปรับอัตราภาษีขึ้นทุก 3 ปี

นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกายังเสนอให้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยภาษี ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งระหว่างผู้เสียภาษีกับผู้เก็บภาษี หากประเมินไม่ถูกต้อง ต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้เสียภาษี จากขณะนี้กฎหมายปกติทั่วไปคืนแต่เงิน ไม่มีดอกเบี้ย

 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กฎหมายนี้จะต้องสำเร็จในรัฐบาลนี้ หลังจากที่ผ่านมากฎหมายถูกเสนอมาเกือบทุกรัฐบาลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยร่างล่าสุดถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอย่างละเอียดทุกมาตรา ใช้เวลาถึง 8 เดือน โดยกฤษฎีกาปรับแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการปฏิบัติ และแบ่งอัตราจัดเก็บให้เหลือน้อยที่สุด

กฎหมายล่าสุดกำหนดประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภทคือ 1.ที่ดินเกษตร มีเพดานจัดเก็บ 0.2% 2.ที่อยู่อาศัย เพดานจัดเก็บ 0.5% 3.อื่นๆ เพดานจัดเก็บ 2% 4.ที่ดินเปล่า เพดานเริ่มต้น 2% แต่ถ้าไม่ใช้ประโยชน์ ภาษีปรับขึ้นทุก 3 ปี เพิ่มปีละ 0.5% เพดานสูงสุด 5%

แต่นายอภิศักดิ์กล่าวว่า อัตราจัดเก็บจริงจะต่ำกว่าเพดานมาก โดยยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับที่ดินเกษตรและบ้านหลังหลัก มูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทสำหรับที่ดินเกษตร เสียภาษี 0.05% ถือว่าน้อยมาก ทุก 1 ล้านบาท เสียภาษีเพียง 500 บาทเท่านั้น ส่วนบ้านอยู่อาศัยหลังหลักที่เกินกว่า 50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05% บ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป หากมีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% เกินกว่า 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% ส่วนที่ดินประเภทอื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม โรงงาน มูลค่าต่ำกว่า 20 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% หลังจากนั้นปรับภาษีแบบขั้นบันไดตามมูลค่า หากมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เสียภาษี 0.9% สูงสุดกว่า 3,000 ล้านบาท เสียภาษี 1.5%

ที่ดินเสียภาษีแพงสุดคือที่ดินว่างเปล่า ขณะนี้กำหนดเพดานที่ดินว่างเปล่าไว้ 2% ถ้าไม่ใช้ประโยชน์จะถูกปรับภาษีขึ้นทุก 3 ปี เพิ่มปีละ 0.5% เพดานสูงสุดที่ 5% ถ้าจะเสียภาษีเต็มเพดานใช้เวลานานเป็นสิบปี แต่กฎหมายฉบับนี้ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีไว้หลายประเภท เช่น โรงเรียนเอกชน เปิดช่องให้ลดหย่อนได้ถึง 90% ที่ดินสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รอการพัฒนาเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ

อีกเหตุผลที่นายอภิศักดิ์ยกขึ้นมาในการทำกฎหมายภาษีที่ดินใหม่ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับภาษีของท้องถิ่น ให้อำนาจท้องถิ่นเก็บภาษีและนำเงินไปพัฒนาท้องถิ่นเอง

ประเมินว่าภาษีดังกล่าวทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 60,000 ล้านบาท จากขณะนี้เก็บรายได้จากภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เพียงปีละ 20,000 ล้านบาท

หากเก็บภาษีมากขึ้น ช่วยลดงบประมาณของส่วนกลางที่นำไปช่วยเหลือท้องถิ่นมากขึ้น แต่ละปีใช้เงินจากส่วนกลางจัดสรรให้ท้องถิ่นสูงกว่า 2 แสนล้านบาท

 

ถ้าดูจากเสียงสะท้อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างล่าสุด เสียงคัดค้านดูจะน้อยกว่าเสียงสนับสนุน โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ได้ตามที่ขอเกือบทุกเรื่อง ทั้งข้อเสนอเรื่องยกเว้นภาษีบ้านราคา 50 ล้านบาท ยกเว้นภาษีที่ดินส่วนกลางของโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ยกเว้นภาษีที่ดินรอการพัฒนาของบริษัทอสังหาฯ ซึ่ง นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ถึงกับออกปากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์คงจะไม่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ในชั้นของกรรมาธิการ สนช.

ส่วนหน้าตากฎหมายหลังผ่าน สนช. จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ล่าสุดกฎหมายปรับอัตรา และเพิ่มค่าลดหย่อนไปพอสมควร

ทำให้ธงในเรื่องรายได้ลดลงไปมากเช่นกัน จากเดิมประเมินสร้างรายได้ปีละ 2 แสนล้านบาท เหลือเพียงปีละ 6 หมื่นล้านบาท เท่านั้น!!