มุกดา สุวรรณชาติ : ความหวังและความกังวล… ในสถานการณ์ใหม่

มุกดา สุวรรณชาติ

เดือนธันวาคม 2559 ประชาชนมีความหวังว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองน่าจะดีขึ้นเนื่องจากมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นหลายประการ

1. เรามีพระมหากษัตริย์องค์ใหม่

2. เรามีรัฐธรรมนูญใหม่

3. เราจะมีการเลือกตั้งใหม่ มีรัฐบาลและสภาใหม่ ในอีกประมาณ 1 ปี

แม้มีความหวัง แต่ประชาชนก็มีความกังวลว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายหรือดีขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งความกังวลเหล่านั้นมีเหตุผลที่สามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้จากบทเรียนที่ผ่านมาตลอด 10 ปี

AFP PHOTO / SAEED KHAN
AFP PHOTO / SAEED KHAN

เหตุการณ์ยึดทำเนียบ
ยึดสนามบิน
ถึงวันนี้ก็ครบรอบ 8 ปี ให้บทเรียนอะไร?

แม้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารในปี 2549 แต่ในปี 2551 ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ 2550 และการยุบพรรคไทยรักไทยซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชนก็ยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ตั้งรัฐบาลได้ไม่นาน กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง ก็เคลื่อนไหวต่อต้าน

25 พฤษภาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ จัดชุมนุมใหญ่ บริเวณสะพานมัฆวาน และยึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ใช้แผน “ปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า” ใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายโดยนำมวลชนกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ต่อมา ศาลแพ่งได้มีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบรัฐบาล และเปิดทุกช่องการจราจร แต่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้น ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถยึดทำเนียบรัฐบาลได้ต่อไป

รัฐบาลและนายกฯ ไม่สนใจทำเนียบ และไม่ลาออก กลุ่มอำนาจเก่าจึงต้องใช้กฎหมายช่วย แต่หาจุดอ่อนนายกฯ สมัครไม่เจอ ด้วยความรีบร้อน 9 กันยายน 2551 ศาล รธน. จึงปลดสมัครแบบสุกเอาเผากิน ในข้อหาไปรับจ้างสอนทำกับข้าวออกทีวี แต่พลังประชาชนไม่ยอมแพ้ ตั้งนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมาแทน

เมื่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ยอมลาออก แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศใช้แผนม้วนเดียวจบ ปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน โดยยึดสนามบินดอนเมือง ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน ยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ…

วันที่ 2 ธันวาคม หลังการยึดสนามบินไม่กี่วัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุมซึ่งใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 193 วัน ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2551 งานเลี้ยงที่มีอาหารดี ดนตรีไพเราะ ก็จบลง พร้อมชื่อเสียงประเทศไทย และพันธมิตรฯ

ปิดท้ายด้วยการล็อกคอแกนนำพรรคที่ถูกยุบ ลากเข้าไปตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร

รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งได้ไม่นานก็มีการประท้วงของคนเสื้อแดงที่คิดว่ารัฐบาลนั้นตั้งขึ้นมาอย่างไม่ชอบธรรม ต้องการให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เมษายน ปี 2552 การประท้วงของคนเสื้อแดงทำไม่สำเร็จ แต่พอถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ก็กลับมาชุมนุมอีกครั้ง ครั้งนี้จบลงด้วยการถูกปราบ สลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม มีผู้เสียชีวิตร่วมร้อย บาดเจ็บ 2,000 คน

การยุบสภาไม่เกิดขึ้นในช่วงนั้น แต่ก็กลายเป็นแรงกดดันจึงมีการยุบสภาในปี 2554 และมีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ยังคงเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งมากกว่าเดิม ได้นายกฯ หญิงคนแรกคือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

Thai opposition Puea Thai candidate Yingluck Shinawatra (C), the sister of fugitive ex-premier Thaksin Shinawatra, parades in a convoy as she campaigns in Bangkok on July 2, 2011. Thailand's rival political camps launched a last-minute appeal for votes on the eve of a hard-fought election seen as crucial to the future of the kingdom after years of often bloody unrest. AFP PHOTO / AFP PHOTO / STR
AFP PHOTO / STR

มีการสรุปบทเรียน และนำไปใช้อีกครั้ง

ถามว่าเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2554 รวมเวลาแล้ว 5 ปี ได้ให้บทเรียนทำให้มองเห็นผลเสียของการต่อสู้ทางการเมืองแบบไร้กติกากฎเกณฑ์หรือไม่

คำตอบคือ มีการสรุปบทเรียนทั้งสองฝ่าย แต่…

ฝ่ายไทยรักไทย ก็สรุปว่า เสียงของประชาชนอยู่ข้างตนเอง จึงยึดการเลือกตั้งเป็นแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง เมื่อรัฐประหาร 2549 แล้วถูกยุบพรรค 2551 ยังชนะเลือกตั้งได้ ดังนั้น แม้ถูกล้อมปราบ และถูกจับ ปี 2553 ก็ยังใช้แผนเดิม และก็ชนะเลือกตั้งในปี 2554 จริงๆ ได้เป็นรัฐบาลอีก

แต่นั่นคือช่วงแรกของการเป็นรัฐบาล หลังจากนั้นเห็นได้ชัดว่าเสียงของประชาชนมีความหมายเฉพาะในการเลือกตั้ง ไม่ได้มีความหมายว่าอำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ตลอดไป เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย อำนาจที่แท้จริงแฝงเร้นอยู่ในองค์กรและกลไกต่างๆ สำหรับเมืองไทยแม้ชนะเลือกตั้งก็ยังไร้อำนาจ ดังนั้น จึงได้รับผลแบบเดิม

ฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่า ก็สรุปบทเรียน แต่ไม่ได้สรุปว่า การรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ และยึดสนามบิน ทำให้เสียหายอย่างไร พวกเขาสรุปว่าวิธีการต่างๆ ใช้ได้ผล ล้มรัฐบาลได้แน่นอน ใช้ซ้ำได้อีก

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็คือการย้อนเหตุการณ์กลับไปเหมือนครั้งที่นายกฯ สมัคร ตั้งรัฐบาลขึ้นมา เพียงแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ขึ้นมาขัดจังหวะ ทำให้คนบางคนคิดว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นนายกฯ ไร้ประสบการณ์ทางการเมือง เจอภัยพิบัติทางธรรมชาติ คงจะต้องล้มไปเองภายใน 3 เดือน 6 เดือน

แต่เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยืนอยู่ได้ถึง 2 ปี เหตุการณ์แบบปี 2551 จึงต้องเกิดขึ้น เป็นการสรุปบทเรียนการโค่นรัฐบาล 2551 เพื่อนำมาใช้ใหม่อีกครั้ง ในปี 2556-2557

ฝ่ายม็อบก็ไม่ไปยึดสนามบินอีกแล้วเพราะคราวที่แล้วโดนด่ามาอย่างหนัก คราวนี้ก็เลยปิดกรุงเทพฯ ยึดกระทรวงทบวงกรม

ฝ่ายรัฐบาลก็สรุปบทเรียน 2553 ของฝ่ายตรงข้ามเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่มีการปราบม็อบให้บาดเจ็บล้มตาย

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กุมแนวทางเลือกตั้งอย่างมั่นคง ยุบสภา หวังจะเลือกตั้งใหม่

แต่ฝ่ายตรงข้ามคัดค้านการเลือกตั้งใหม่ เพราะขืนเลือกไปก็แพ้ยับ ขนาดเป็นรัฐบาลยังแพ้

ดังนั้น ไม่เพียงแต่บอยคอต ยังปรับปรุงแผนไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง สุดท้ายการเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ

แต่แรงกดดันนี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ก็ต้องไปใช้บทเรียนเก่า…พึ่งกฎหมาย นี่คือการย้อนกลับไปใช้ตุลาการภิวัฒน์ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงถูกปลดจากตำแหน่งนายกฯ รักษาการ เพราะข้อหาย้ายเลขาฯ สมช. แต่ครั้งนี้ปลดนายกฯ แล้วไม่สามารถเปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้เนื่องจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวก็มีเสียงเกินครึ่งสภา พรรคเพื่อไทยยังสามารถแต่งตั้ง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นนายกฯ รักษาการคนใหม่

เปลี่ยนขั้วไม่ได้ เลือกตั้งใหม่ก็แพ้ ม็อบก็หมดแรง เหลือแต่ขาประจำ ประชาชนที่ออกมาร่วมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งแรกก็ถอยกลับไปแล้ว

สุดท้ายก็ต้องใช้บทเรียนที่เก่าแก่ที่สุด คือ ยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557

ครั้งที่ 2 ใช้เวลามากกว่าครั้งแรก คือประมาณ 200 วัน

ผ่านไป 8 ปี ทั้งสองฝ่ายสรุปบทเรียน นำมาใช้ใหม่ ยึดแนวทางวางแผนสู้ แต่แนวทางที่กุมอำนาจทางกฎหมาย และกุมปืน ได้เปรียบกว่าแนวทางเสียงสนับสนุนของประชาชน ผลจึงออกมาเป็นดังเช่นปัจจุบัน

ถึงคราวต้องถามตัวเองว่า…เป็นยังไง ดิ้นรนกันมา 10 ปี มีอะไรเปลี่ยนไปอย่างที่หวังหรือไม่ ได้อะไรบ้าง ได้ศัตรูเพิ่มกี่แสนคน (เสียอะไรไปบ้าง)

AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ความกังวลของชาวบ้านและผู้สนใจการเมือง
เป็นเรื่องมีเหตุผล

หลังยึดอำนาจ 2557 สถานการณ์เปลี่ยนไป อำนาจไม่ใช่สิ่งที่ได้มาแล้วจะยกไปให้ใครใช้เล่นง่ายๆ การเมืองแบบสามก๊กจึงเกิดขึ้นและพัฒนาไป เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็พอมองเห็นแล้วว่า ก๊กตาอยู่ น่าจะมีโอกาส มากกว่า ก๊กตาอิน และตานา

คำถามของประชาชนคือ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งใหม่จะได้รัฐบาลแบบไหน การยอมรับจะเป็นอย่างไร และจะต้องโค่นล้มกันอีกหรือไม่

คำตอบของเรื่องนี้ไม่ชัดเจน ต้องเป็นการคาดคะเนผลทางการเมืองที่จะเกิดจากการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งมีปัจจัยจากรัฐธรรมนูญ จากโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบัน จากอำนาจอิทธิพลของกลุ่มต่างๆ ในปัจจุบัน เป้าหมายที่เปิดเผยและเป้าหมายที่แฝงเร้นของแต่ละกลุ่ม

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA
AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

รัฐธรรมนูญใหม่ 2559
จะพาไปสู่สถานการณ์ใหม่ล่าสุด 2560

1.ตามโรดแม็ปรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะถูกนำมาใช้จริงในปลายปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงจากฉบับเดิมมากพอสมควรเปลี่ยนจาก 2540 และ 2550 ในประเด็นหลักคือ เปิดทางให้คณะบุคคลสามารถเข้าสู่อำนาจและครองอำนาจต่อเนื่องไปอย่างยาวนานอาจจะเป็น 5 ปี 8 ปี หรือ 20 ปี แม้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะไม่เลือก บทเฉพาะกาลและบางมาตราของรัฐธรรมนูญเปิดช่องเหล่านี้ และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกือบไม่มีโอกาสแก้ไขตามระบอบประชาธิปไตยเลย อำนาจนี้จึงสามารถอยู่ได้ต่อไปจนกว่าจะมีผู้มาฉีกรัฐธรรมนูญหรือพร้อมใจกัน ทั้งรัฐสภาถึงจะแก้ไขได้

2. ตามกฎหมายเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้คะแนนเสียงเกินครึ่งสภาแม้แต่เพียงพรรคเดียว การตั้งรัฐบาลจึงจะต้องเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน เสียง ส.ส. ที่ประชาชนเลือกไปจะถูกนำไปใช้เป็นองค์ประกอบให้อำนาจรัฐสมบูรณ์เพียงบางส่วน อีกส่วนหนึ่งถูกกำหนดแล้วว่าให้ไปเป็นฝ่ายค้าน

3. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คนสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ดังนั้น ทุกคนก็พอมองออกว่าเสียง ส.ว. 250 เสียงเป็นเสียงชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นนายกฯ ถ้าหากมีคนตั้งพรรคขึ้นมา 3-4 พรรค รวมกันกับ ส.ว. ก็จะสามารถผลักดันบุคคลเป็นนายกฯ ขึ้นมาตามที่ต้องการได้ และสามารถจะดันคณะบุคคลขึ้นมาเป็นคณะรัฐมนตรี ตามที่ตกลงแบ่งสันปันส่วนกันได้ไม่ยาก การที่นายกฯ จะตั้ง ส.ว. หรือ ส.ว. จะตั้งนายกฯ ก็จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

การประนีประนอมของกลุ่มอำนาจ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่มีเลยก็น่ากังวล ถ้ามีก็จะเห็นในช่วงเลือกตั้ง เรื่องแบบนี้สถานการณ์ที่ขยับไปตามเวลาจะค่อยๆ ชี้ทิศทาง