ปริศนาโบราณคดี : ‘โลซานน์’ สถานศึกษาขององค์ยุวกษัตริย์ (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ทุกคนทราบกันดีว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงผ่านชีวิตวัยเยาว์กว่า 2 ทศวรรษ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมกับสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระเชษฐาธิราช

สถานศึกษาแต่ละแห่งของพระองค์ เป็นอย่างไร ในฐานะที่ผู้เขียนเคยใช้ชีวิตในเมืองโลซานน์ สมาพันธรัฐสวิส อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง (พ.ศ.2535-2539)

จึงขอนำเรื่องราวเท่าที่พอจะติดตามรอยได้ มาเล่าสู่กันฟัง

cfn01-p0017312-0000

สมเด็จย่า เสด็จมาสวิสก่อนแล้ว 2 ครั้ง

ก่อนที่จะปักหลักการใช้ชีวิตอย่างยาวนานในเมืองโลซานน์ สมาพันธรัฐสวิส ระหว่าง พ.ศ.2472-2534 “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า “สมเด็จย่า” หรือพระนามเดิมคือ หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา นั้น เคยเสด็จไปประทับพักผ่อน ณ เมืองโลซานน์มาก่อนแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2463 ปีเดียวกันกับที่ได้อภิเษกสมรสกับ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เลื่อนเป็นกรมหลวงสงขลานครินทร์ และปี 2513 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชบิดาว่า “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก”)

ขณะที่หม่อมสังวาลย์ฯ มีอายุ 20 ปี ได้เดินทางมาสวิตเซอร์แลนด์เป็นครั้งแรก อันที่จริงเป้าหมายนั้นเพื่อไปยังสหรัฐอเมริกา ประเทศที่พระราชสวามีทรงกำลังศึกษาวิชาแพทย์ สมัยนั้นการเดินทางค่อนข้างยาวไกล จำต้องแวะพักยุโรปครึ่งทางก่อน

การเดินทางไปยุโรปต้องลงเรือ “Julandia” ของเดนมาร์ก ที่ท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย เรือแวะที่ศรีลังกา จากนั้นมาขึ้นฝั่งที่เมืองเจนัว (เจโนวา Genova) เมืองท่าสำคัญของประเทศอิตาลี จากนั้นขึ้นรถไฟต่อผ่านเมืองมิลานข้ามเทือกเขาแอลป์ไปยังเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

จากหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” (ว่าด้วยพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2523 นั้นกล่าวว่า

“ครั้งแรกที่ทรงพักเมืองนี้ ทูลหม่อมฯ (สมเด็จพระบรมราชชนก) ทรงเลือกโรงแรมที่ใหญ่และโก้ที่สุดเป็นที่พักคือ โรงแรม Beau Rivage ทูลหม่อมฯ ทรงพาคณะไปเที่ยวเบิร์น เมืองหลวงของประเทศด้วย ที่นั่นมีนักเรียนไทยอยู่บางคนที่ต้องเข้ามาอาศัยอยู่และเรียนต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง”

นัยยะของข้อความนี้มีความน่าสนใจ 2 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก โรงแรมดังกล่าว ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Beau-Rivage-Palace Hotel อ่านว่า
เป็นภาษาฝรั่งเศส แยกแปลทีละคำได้ว่า beau-สวยงาม, rivage-ชายหาด, palace-วัง รวมความว่า โรงแรมแห่งนี้มีความงามสง่าอลังการและตั้งอยู่ที่ริมชายหาดอูชชี่ (Ouchy) ส่วนหนึ่งของทะเลสาบเลมอง (Lac Leman) ปรับปรุงมาจากวังของขุนนางเก่า ปัจจุบันยังคงไว้ซึ่งความหรูหราคลาสสิกระดับห้าดาวอยู่

hotel_beau_rivage_palace
Beau Rivage Palace Hotel

ประเด็นที่สอง คือการหล่อหลอมตัวเข้ามาเรียนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ของนักเรียนไทยหลายพระองค์/คนนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศสวิเตเซอร์แลนด์ประกาศตัวเป็นกลาง ไม่ขอฝักใฝ่กับฝ่ายใดทั้งสิ้น ทำให้เป็นสถานที่ที่ค่อนข้างปลอดภัยมากกว่าประเทศอื่นๆ

สามารถสืบทราบรายพระนามและรายนามจากทำเนียบนักเรียนเก่าสวิสได้ว่าช่วงนั้นมี หม่อมเจ้าทรงวุฒิไชย วุฒิชัย (พระโอรสองค์โตในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) กับหม่อมเจ้ารัศมีสุริยน สุริยง (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส) นายเอนก สาตราภัย เป็นต้น

หลังจากทรงแวะประทับพักผ่อนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครั้งแรกแล้วนี้ ระหว่างปี 2463-2464 ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Harvard และ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ในขณะที่หม่อมสังวาลย์ฯ เป็นนักเรียนพิเศษหลักสูตรเตรียมพยาบาล ศึกษาที่ Simmons College กรุง Boston

cfn01-p0017320-0000

เสด็จโลซานน์ครั้งที่ 2 ช่วงรัชกาลที่ 6 สวรรคต

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ เสด็จกลับเมืองไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2469 (เอกสารเขียนเป็น พ.ศ.2468 เพราะยังนับเดือนตามแบบโบราณ) เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ และประทับอยู่ต่อจนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

ในระหว่างนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ได้รับคำแนะนำจาก Dr.Sayre ชาวอเมริกันซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศในสยาม ว่าควรส่งหม่อมสังวาลย์ฯ พร้อมพระธิดา (ขณะนั้นพระราชอิสริยยศ คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา) และพระโอรสองค์โต (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8) ไปประทับชั่วคราวที่เมืองโลซานน์ก่อน เนื่องจากอากาศดี และมีสถานที่ดูแลเด็กอ่อนที่ถูกอนามัยและน่าพอใจมากกว่าที่อื่น สถานที่แห่งนั้นมีชื่อว่า Champ Solei

ส่วนพระองค์เจ้าภูมิพล หรือต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ยังไม่ได้ประสูติในห้วงเวลานั้น

หม่อมสังวาลย์ฯ พร้อมด้วยพระธิดาพระโอรสจึงเสด็จมายังโลซานน์อีกครั้ง โดยพาพระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนาไปฝากศึกษาที่โรงเรียน Champ Solei อ่าน “ชอง โซเลย” champ-แปลว่าทุ่ง, สนามหญ้า solei-พระอาทิตย์ หากแปลทับศัพท์น่าจะเรียกว่า “โรงเรียนทุ่งแสงตะวัน” ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนรับเด็กอยู่ประจำที่นั่น

ในขณะที่ หม่อมสังวาลย์ฯ กับพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทรงประทับอยู่ด้วยกันที่โรงแรม Montana ก่อนในช่วงแรกๆ กระทั่งพระองค์เจ้าอานันทมหิดลทรงหย่านมก็ส่งไปอยู่ด้วยกันกับพระเชษฐภคินีที่ Champ Solei

จนถึงเดือนกรกฎาคม 2469 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ เสด็จกลับมาสมทบรับครอบครัวทั้งสามพระองค์พาเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง กระทั่งปี 2470 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ประสูติ ณ โรงพยาบาล Mt. Auburn Cambridge

ในปี 2471 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ทรงพระประชวรอย่างหนัก ด้วยโรคพระวักกะ (ไต) โรคไส้ติ่งอักเสบ เข้ารับการผ่าตัด และในปลายปีนั้นได้กลับมากรุงเทพฯ ทรงสิ้นพระชนม์ในปี 2472 ด้วยโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) กับโรคพระปับผาสะ (ปอด) บวมน้ำ และพระหทัยวาย

ครั้งที่สามแห่งการมาโลซานน์
นานตราบนานนับต่อแต่นี้

หลังจากที่ต้องสูญเสียผู้นำครอบครัวแล้ว ในปี 2476 หม่อมสังวาลย์ฯ ได้ตัดสินใจย้ายนิวาสสถานพาพระธิดา-พระโอรสทั้ง 3 พระองค์ไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เหตุเพราะทรงเห็นว่า พระโอรสองค์โตสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง น่าจะไปอยู่ในประเทศที่มีอากาศเย็นสบายปลอดโปร่ง

การเดินทางไปโลซานน์คราวนี้ นั่งรถไฟไปลงปีนัง และโดยสารเรือของบริษัทอเมริกันชื่อ President Pierce ไปขึ้นที่เจนัว แล้วต่อรถไฟลอดอุโมงค์ยาวที่เทือกเขาแอลป์เหมือนเดิม

สถานที่ประทับในช่วงแรกๆ ต้องเช่าโรงแรม Hotel Windsor (อยู่ตรงข้ามกับ Hotel Montana ที่เคยประทับคราวก่อน เจ้าของเป็นคนเดียวกัน) ประมาณหนึ่งเดือนก่อน จากนั้นก็ส่งพระธิดา-พระโอรสไปอยู่ที่ Champ Solei บ้านทุ่งแสงตะวัน โรงเรียนกินนอนและฝึกภาษาแห่งเดิมอีกครั้ง

ในขณะที่หม่อมสังวาลย์ฯ ประทับอยู่กับครอบครัว de Rham ซึ่ง M.de Hoinville ผู้ดูแลนักเรียนไทยในสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้แนะนำให้

ฉบับหน้าจะกล่าวถึงการย้ายนิวาสสถานไปอยู่ที่แห่งใหม่คือแฟลตที่ถนนติสโซ่ Avenue Tissot และย้ายโรงเรียนสำหรับพระธิดาพระโอรสไปอยู่ที่ “เมียร์มงต์” Ecole Miremont

cfn01-p0017300-0000

cfn01-p0017299-0000

k8185820-5