A Taxi Driver

วัชระ แวววุฒินันท์

ยามนี้ประเทศไทยกำลังต่อสู้กับความเป็น “ประชาธิปไตย” ที่เหมือนจะเป็นแค่ชื่อไว้อ้างถึงเวลาบอกกล่าวกับคนอื่น แต่ในความเป็นจริงนั้นยังคงห่างไกลจากหมุดหมายที่ตั้งไว้ว่า “เสียงของประชาชนเป็นใหญ่” อยู่มากโข

การต่อสู้ของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเราตอนนี้ เป็นการใช้ “กฎหมาย” มาเป็นอาวุธแทนการใช้กระบอกปืนและรถถังเหมือนแต่ก่อน ซึ่งกฎหมายบางฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญบางมาตรานั้นก็ไม่ได้เป็นธรรมกับสังคมและประชาชนจริง

ความรู้สึกของผู้คนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากผลการเลือกตั้งที่ให้คะแนนกับพรรคที่เป็นหัวหอกพะยี่ห้อ “ประชาธิปไตย” อย่างก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีมากถึง 25 ล้านเสียง กลับถูกทำให้เป็นหมันเสียดื้อๆ เป็นใครก็ต้องมีอารมณ์โกรธ รู้สึกผิดหวัง ถูกหักหลัง และเจ็บช้ำ

เปรียบเหมือนเกมทุบลูกเหม็นในงานวัด ก้อนลูกเหม็นที่เปรียบดั่งเสียงของพี่น้องประชาชน ได้ไหลลงจากรางด้านบนที่เขียนว่า “การเลือกตั้ง” ลงสู่ปากรางด้านล่างที่เขียนว่า “สภา” เมื่อผ่านพ้นมาได้ก็มีฆ้อนมาทุบให้ลูกเหม็นนั้นแตกละเอียดต่อหน้าต่อตายังไงยังงั้น

และตอนนี้กลิ่นเหม็นของมันได้ขจรขจายเข้าไปในความรู้สึกของผู้คนอย่างมาก เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ยังไม่เห็นว่าอนาคตของบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

ผมได้มีโอกาสดูหนังเกาหลีเรื่องหนึ่งชื่อว่า “A Taxi Driver” ออกฉายมาตั้งแต่ปี 2017 ก็ราว 6 ปีมาแล้ว ภาพโปสเตอร์ของหนังจะเป็นคนขับรถแท็กซี่สีเขียวโผล่ออกมายิ้มเผล่จากตัวรถ ดูเหมือนน่าจะเป็นหนังในแนวสนุกสนาน

แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะหนังจะออกจริงจัง กดดันสะเทือนใจ และมีดราม่าเข้ามาผสม

ด้วยเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กับอำนาจเผด็จการทหารของรัฐบาลเกาหลีใต้

เรื่องนี้นำมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1980 ตอนนั้นประเทศเกาหลีปกครองด้วยเผด็จการทหาร ยังไม่มีประชาธิปไตยเหมือนทุกวันนี้

และก็เป็นเหมือนทุกที่คือรัฐบาลที่มาจากเผด็จการใช้ปืนและรถถังเข้าควบคุม ตัดสิน และเข่นฆ่าชีวิตผู้เห็นต่าง หรือใช้ความที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในมือแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวและพวกพ้อง โดยไม่ฟังเสียงประชาชนที่เดือดร้อน ย่อมจะถูกการลุกฮือต่อต้านเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การประท้วงของนักศึกษาและประชาชนเกิดขึ้นในเมืองต่างๆ ของเกาหลี ส่วนในเรื่องนี้เหตุเกิดระหว่างกรุงโซลและเมืองกวางจู โดยเฉพาะในเมืองกวางจูที่อยู่ไกลจากโซลไปราว 700 ก.ม. กองทัพได้ยึดครองและปิดการเข้าออกของผู้คนเพื่อปราบปรามผู้ต่อต้านให้สิ้นซาก

ตัวเอกของเรื่องมีสองคน คนหนึ่งเป็นนักข่าวชาวเยอรมันชื่อ “เจอร์เก้น ฮินซ์ปีเตอร์” เขาต้องการจะไปกวางจูเพื่อนำข้อมูลจริงๆ มาบอกกับชาวโลกให้ได้ทราบ จึงว่าจ้างรถแท็กซี่จากโซลให้ไปส่งที่กวางจู

ตัวเอกอีกคนก็คือคนขับแท็กซี่ ในเรื่องใช้ชื่อว่า “คิมมันซอง” แสดงโดย “ซงคังโฮ” นักแสดงเกาหลีที่หลายคนติดใจจากเรื่อง “Parasite” มาแล้ว

ซึ่งเขาได้ขับรถในเรื่อง A Taxi Driver ไว้ก่อนจะไปขับรถใน Parasite สองปี

หนังเดินเรื่องจากมุมมองของคิมมันซองเป็นหลัก เขามีชีวิตที่แร้นแค้นจากหนี้สิน โดยอาศัยอยู่กับลูกสาววัย 11 ปีกันสองคน

เขาก็เหมือนคนขับแท็กซี่ทั่วไปที่ดิ้นรนหาผู้โดยสารเพื่อให้พอกับค่ายังชีพ และเขาก็เกลียดการประท้วงของนักศึกษาในโซลเพราะทำให้ลูกค้าลดน้อยลง จากการที่ทางการประกาศกฎอัยการศึก กำหนดเคอร์ฟิวส์ และสั่งปิดมหาวิทยาลัย การถูกว่าจ้างให้ไปกวางจูโดยค่าจ้างอัตราสูงจึงเป็นโอกาสที่เขารีบคว้าไว้ โดยหารู้ไม่ว่ามีอันตรายที่เมืองกวางจูรออยู่ คิดเพียงว่าไปส่งแล้วก็กลับ สบายมาก

เขาพอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง แต่ไม่ได้ชำนาญ จึงเกิดช่องว่างการสื่อสารกับเจอร์เก้นตลอดการเดินทาง และเมื่อไปถึงกวางจูเขาก็พาเจอร์เก้นผ่านด่านตรวจของทหารเข้าไปได้ โดยบอกว่าเจอร์เก้นเป็นนักธุรกิจกำลังจะขึ้นเครื่องกลับประเทศ แต่ลืมของไว้ที่กวางจู กลับมาเอาและจะรีบไปส่ง

เมื่อได้เข้ามาถึงตัวเมืองกวางจูแล้ว เขาก็ได้พบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ จากการประท้วงและปราบปราม จากที่เขาวางตัวอยู่ห่างๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไร คิดเสียว่าพอเสร็จธุระรับเงินแสนวอนแล้วก็จะเดินทางกลับโซลไปหาลูก

กลายเป็นว่าเขาได้กลายเป็นเหยื่อคนหนึ่งของการปราบปราม โดยติดร่างแหไปกับเจอร์เก้นที่เป็นนักข่าวต่างประเทศที่ถูกไล่ล่าจากทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบ

เมื่อได้สัมผัสกับการถูกกดขี่รังแกของผู้คนจากน้ำมือทหาร เห็นการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ เห็นการยิงคนบริสุทธิ์ตายและบาดเจ็บหน้าต่อหน้าต่อตา ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป

แม้ต่อมาเขาได้มีโอกาสกำเงินค่าจ้างและขับรถมุ่งหน้ากลับไปกรุงโซลโดยทิ้งเจอร์เก้นไว้ที่กวางจูแล้วก็ตาม แต่ระหว่างทางความคิดของเขาก็ว้าวุ่นและสับสนถึงความถูกต้อง เขาได้หันหัวรถกลับ ไปกวางจูอีกครั้ง ด้วยความตั้งใจว่าหากสามารถพาเจอร์เก้นกลับออกมาจากกวางจูได้ ภาพเหตุการณ์ที่บันทึกผ่านกล้องวิดีโอก็จะสามารถประกาศความจริงให้โลกรับรู้

นั่นคือบทบาทของคนขับแท็กซี่ที่เขาพอจะทำให้กับความยุติธรรมในประเทศนี้ได้ โดยเขาบอกว่า “ผมไม่เคยทิ้งผู้โดยสารของผม” แม้ลึกๆ แล้วเขารู้ว่าเขาอาจจะต้องทิ้งชีวิตลงที่กวางจูก็ตาม

ในที่สุดเขาก็สามารถพาเจอร์เก้นออกมาจนได้ แม้การไล่ล่าในหนังช่วงท้ายๆ จะดูเกินจริงเพื่อความบันเทิงไปสักหน่อยก็ตาม แต่หน้าที่ของเขาก็เสร็จสมบูรณ์เมื่อภาพข่าวที่กวางจูนั้นได้ถูกเผย แพร่ออกไป

นี่คือหนังที่แน่นอนต้องปรุงแต่งเรื่องราวเพิ่มเติมเพื่อให้ดูสนุกและชวนติดตาม ซึ่งในความจริงนั้น คนขับแท็กซี่ตัวจริงไม่ได้ขับรถแท็กซี่สีเขียวส่วนบุคคล แต่ขับรถสีดำที่เป็นของโรงแรม และเขารู้ดีว่าเหตุการณ์ที่กวางจูเป็นอย่างไร พร้อมกับมีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี

นักข่าวเยอรมันคนนี้ไม่รู้ชื่อจริงของคนขับ เพราะชื่อที่บอกมานั้นเป็นชื่อปลอม จึงทำให้ในอีกหลายปีต่อมาที่เจอร์เก้นพยายามติดตามหาตัวคนขับคนนี้เพราะยังซาบซึ้งใจในมิตรภาพอันดียิ่งของเขาจึงไม่สามารถพบเจอได้ เพราะตัวคนขับก็เสียชีวิตลงหลังจากเหตุการณ์ที่กวางจูได้เพียง 4 ปี

ที่น่าเสียดายคือ เจอร์เก้นเองก็มาเสียชีวิตลงในปี 2016 โดยอีกหนึ่งปีถัดมาหนังเรื่องนี้ก็เข้าฉาย และกลายเป็นหนังที่ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นอันดับสองของหนังที่ฉายในเกาหลีของปีนั้นทีเดียว

ผลพวงจากความดังของหนังคือ ลูกชายของคนขับแท็กซี่ได้ออกมาแสดงตัวพร้อมรูปถ่ายเก่าระหว่างพ่อของเขากับเจอร์เก้นเป็นหลักฐาน แม้คนทั้งสองจะไม่อยู่แล้วก็ตาม

ในหนังได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมในการปราบปรามผู้ประท้วง เห็นการพยายามต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่และประชาชน เป็นการต่อสู้กับผู้มีอำนาจที่ต้องการสืบทอดอำนาจนั้นโดยใช้กำลัง

เหตุการณ์ประท้วงที่กวางจูนั้นเกิดขึ้นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2523 ต่อสู้กันนานถึง 10 วัน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 150 คน บาดเจ็บนับพันคน และสูญหายกว่า 80 คน

ภรรยาของสามีที่จากไปเล่าว่า วันนั้นสามีออกไปทำธุระและหายตัวไป เธอออกตามหาในทุกที่ รวมทั้งคอยเปิดผ้าคลุมศพที่เรียงรายอยู่ในที่ต่างๆ และในโรงพยาบาลเพื่อหาสามีตัวเอง มันเป็นความเจ็บปวดที่ไม่รู้จะบรรยายออกมาอย่างไร

นับแต่ปี 1992 เป็นต้นมา เกาหลีใต้ไม่มีการทำปฏิวัติรัฐประหารอีกเลย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนผลัดกันมาบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาลดำเนินการใดๆ ที่ไม่ถูกต้องหรือมีทีท่าเอาผลประโยชน์เข้าพรรคควก ก็จะมีการประท้วงอยู่บ่อยๆ ดังที่เราได้ยินข่าวมาโดยตลอด

นั่นคือการแสดงออกในหนทางประชาธิปไตยที่ทั้งโลกเป็นอยู่

สําหรับประเทศไทย ในอายุประชาธิปไตย 91 ปี เรามีการทำรัฐประหารโดยใช้อาวุธเข้ายึดอำนาจสำเร็จมาแล้วถึง 13 ครั้ง เฉลี่ย 7 ปีครั้ง และมันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า รัฐประหารไม่ได้ตอบโจทย์ของประเทศในระยะยาวได้แท้จริง

หวังว่าจะไม่มีการทำรัฐประหารโดยการใช้อาวุธเข้ายึดครองและทำลายล้างเกิดขึ้นอีก

และหวังว่า แม้จะไม่มีการยึดอำนาจด้วยอาวุธปืน ก็ขออย่าได้มีการยึดอำนาจด้วยการใช้กฎหมายและกลไกรัฐสารพัดวิธีเป็นอาวุธเข้าเล่นงานผู้เห็นต่างด้วย

แม้ภาพที่เราๆ ท่านๆ เห็นอยู่ตอนนี้ จะเป็นความหวังบนความเลือนรางอยู่สักหน่อยก็ตาม

ในหนังมีประโยคหนึ่งที่คิมมันซองพูดกับลูกสาวอย่างเจ็บปวดว่า “รู้จักอดทนไว้ ชีวิตไม่มีวันยุติธรรมกับเราหรอก”

แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังจะหวัง…นะครับพี่น้อง •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์