วัยว้าวุ่น วัยแห่งความสับสน

วัชระ แวววุฒินันท์

ช่วงนี้หลายคนให้ความสนใจกับเรื่องราวของเด็กสาววัย 14 ปีเศษๆ ที่ชื่อ “หยก” ซึ่งกรณีนี้ได้ขยายวงผู้ที่เกี่ยวข้องกว้างมากขึ้นจนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการ

บางคนอาจรู้สึกขวางๆ กับวิธีคิดและปฏิบัติของหยก ในขณะที่หลายคนก็เห็นด้วย ทั้งเห็นด้วยทั้งหมด หรือในบางเรื่องก็ตาม บางคนตั้งคำถามว่าทำไมเด็กสาวคนหนึ่งวัยไม่เต็ม 15 ปีดีถึงได้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอะไรดังที่เป็นข่าว

จะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว น่าจะมีเด็กอายุในช่วง 11-15 ปีที่อาจจะคิดและกระทำอะไรบางอย่างที่ดูแผลงๆ ในสายตาของผู้ใหญ่อีกมาก เพียงแต่ไม่ได้ตกเป็นข่าวเท่านั้น

เพราะวัยนี้ คือ ช่วงของวัยรุ่นตอนต้นนั้น เป็นวัยแห่งความว้าวุ่น และสับสนอย่างแท้จริง

เป็นช่วงที่เปลี่ยนจากวัยเด็ก ก้าวสู่วัยรุ่นที่จะเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่เด็กก็ไม่เชิง

แม้แต่ตัวของเราเอง บางครั้งเราก็ยังแทบไม่รู้จักเลยว่า เราเป็นใคร ต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งหากอายุมากขึ้นจนเป็นวัยรุ่นตอนปลายคือ 16-18 ปี ก็จะโตพอที่จะเรียนรู้จักตัวเองมากขึ้น

 

ย้อนนึกถึงลูกชายของตนเอง ก็นึกภาพออกมาเลยว่าในช่วงที่ว่านี้เขาก็สับสนอลหม่านในวิธีคิดและการกระทำอยู่พอแรง จำได้ว่าเราที่เป็นพ่อแม่ต้องปรับตัวเรียนรู้ในตัวเขาตลอดเวลา เพราะจะเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกวัน

ย้อนหลังไปอีกถึงสมัยของตน ก็จำภาพเลาๆ ได้ว่า เราก็มีความสับสนและวิธีคิดที่แตก ต่างไปจากเดิมอยู่มากเหมือนกัน หนังสือที่เราได้อ่านก็จะไม่แค่หนังสือการ์ตูน หรือนิทานเด็กและวรรณกรรมเยาวชนเท่านั้น เราสนใจอ่านหนังสือที่พูดถึงชีวิตจริงมากขึ้น และดำดิ่งไปกับเรื่องของสังคมนิยมที่มาตอบคำถามบางอย่างของเราได้พอดี

เพราะวัยนี้เป็นวัยแห่งการตั้งคำถาม สงสัยไปหมดตั้งแต่ตัวเอง ไปจนถึงจักรวาลว่า มนุษย์เราคืออะไรกันแน่ และเราเกิดมาทำไม

พอคิดแล้วก็กระทำ โดยการแสดงความคิดเห็นแหวกๆ ลงในหนังสือพิมพ์ของชั้น จนครูต้องเรียกไปพูดคุยด้วยว่า “เธอคิดอะไรอยู่หรือนายวัชระ?”

แต่เชื่อว่าครูคงเข้าใจกับพฤติกรรมของเด็กในวัยแห่งการก้าวข้ามอายุนี้ได้ดี หากเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกขานกัน เขาเรียกว่าเป็นวัย Coming of Age ซึ่งได้กลายเป็นชนิดของภาพยนตร์หรือละครแนวหนึ่งที่ระบุความเป็นเนื้อหาเรื่องราวของเรื่องนั้นๆ ได้

มีภาพยนตร์แนวนี้ถูกสร้างออกมามากมาย ทั้งโทนสนุกสนาน จริงจัง จนถึงแนวดราม่า ผมได้ชมภาพยนตร์อยู่สองเรื่องที่ผ่านเวทีออสการ์ในปีนี้มาที่เป็นแนวนี้ คือ เรื่อง “Close” และเรื่อง “Aftersun”

เรื่อง “Close” เป็นภาพยนตร์จากประเทศเบลเยียม ฝีมือการกำกับการแสดงของ “ลูคัส ดอนต์” ได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แม้จะพลาดออสการ์ไป แต่ก็ได้รับรางวัลในเวทีอื่นและได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมอยู่ไม่น้อย

ส่วน “Aftersun” นั้นเป็นหนังจากผลงานของผู้กำกับฯ หญิงชาวสกอตแลนด์ที่ชื่อ “ชาร์ลอตต์ เวลส์” ได้เข้าชิงนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ที่สร้างความประหลาดใจมากว่า หนังอินดี้ทุนต่ำเรื่องนี้ มีนักแสดงนำที่ฝีมือฉกาจจนได้เป็น 1 ใน 5 ของผู้ถูกเสนอชื่อเลยล่ะ

นั่นก็คือ “พอล เมสคัล”

เรื่อง “Close” เล่าถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทสองคน คือ “เลโอ” และ “เรมี่” ทั้งสองอยู่ในวัย 13 ปี หนังแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมกันอย่างมากของทั้งสองคน ที่พลอยสนิมสนมไปถึงครอบครัวของเพื่อนสนิทด้วย ตัวเอกของเรื่องคือ เลโอ ซึ่งแสดงโดย “เอดิน ดัมบริน” ที่แบกหนังทั้งเรื่องได้อย่างน่าอัศจรรย์กับการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกของเขา

ความสับสนของทั้งคู่คือ เพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียนตั้งคำถามถึงความสนิทที่ดูเกินพอดีของเพื่อนผู้ชายของทั้งคู่ โดยยิงคำถามตรงๆ ว่า เป็นคนรักกันเหรอ แม้ทั้งคู่จะปฏิเสธโดยบอกว่าเป็นเพื่อนที่สนิทกันมากจนเหมือนเป็นพี่น้องกันเลย แต่เพื่อนๆ ก็ยังล้อว่าเป็นตุ๊ดบ้าง เป็นแฟนกันบ้างอย่างสนุกสนาน

เลโอ เริ่มสับสนกับสังคมในโรงเรียน แม้จะไม่ได้สับสนกับความเป็นตัวตนจริงๆ ของตนเอง แต่ก็สับสนว่าควรจะทำตัวอย่างไรดี และเขาก็เลือกที่จะเริ่มตีตัวออกห่างจากเรมี่

จนเรมี่รู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นแผลในใจที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

และเรื่องราวก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเรมี่ นั่นยิ่งทำให้เด็กชายวัย 13 ปีอย่างเลโอยิ่งสับสนไปใหญ่ และโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้ เขาต้องทนเก็บซ่อนความรู้สึกนี้อยู่ลึกๆ ในใจ แม้ภายนอกจะพยายามใช้ชีวิตต่อไปอย่างปกติก็ตาม แต่แน่นอนที่ทุกอย่างย่อมไม่ปกติ

ตัวละครอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “โซฟี” แม่ของเรมี่ ที่เลโอสนิทสนมด้วย ในพาร์ตของความสุขในช่วงต้นเรื่อง เธอได้พูดถึงความรักที่มีต่อเด็กทั้งสองคน กับเลโอที่เธอก็บอกว่าเหมือนเป็นลูกคนหนึ่งทีเดียว

จู่ๆ เธอต้องมาสูญเสียลูกชายคนเดียวไป แม้เธอยังคลางแคลงใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่เธอก็ไม่ได้รับความกระจ่างจากเพื่อนสนิทอย่างเลโอเลย ถึงกระนั้นเธอก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับเลโอเปลี่ยนไป เธอยังต้อนรับเขาและยังทำตัวให้เหมือนเดิมมากที่สุด

จนวันหนึ่งที่เลโอทนไม่ไหว ต้องยอมเปิดปากกับโซฟีเป็นครั้งแรกว่า “ที่เรมี่ต้องจากไป เพราะผมเองเป็นคนผลักไสเขาออกไป” โซฟีอึ้งและสับสนไปหมด ความเสียใจนานาประดังเข้ามาจนบอกด้วยเสียงดังให้เลโอลงจากรถของเธอไป

เลโอเหมือนเด็กใจสลาย เขาสับสนไปหมดจนคิดจะทำร้ายตัวเอง แต่โซฟีนั่นเองเป็นฝ่ายตามเขามาและเข้าไปสวมกอดเขาด้วยความรักเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา และทั้งคู่ก็ร้องไห้ออกมาเหมือนอยากระบายความทุกข์ทั้งหลายทั้งมวลที่อัดอั้นอยู่ข้างในให้มลายสิ้นไป

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากหนังเรื่องนี้คือ “ความรักจากครอบครัว” หนังให้เห็นว่าทั้งสองครอบครัวนั้นอบอุ่นเป็นอย่างมาก คนเป็นพ่อและแม่ใกล้ชิดกับลูกและพยายามเข้าใจลูกอยู่เสมอ ยิ่งเมื่อเกิดเรื่อง ครอบครัวยิ่งจับตาดูเลโออย่างมาก เพราะรู้ว่าเขาต้องสะเทือนใจที่สุด ทุกการกระทำและคำพูดของผู้เป็นพ่อ แม่ และพี่ชาย ล้วนเป็นที่พักพิงให้กับเลโอได้อย่างดี

โดยเฉพาะกับความรักของครอบครัวเรมี่เช่นโซฟี ก็ได้ช่วยให้เลโอไม่รู้สึกผิดและโทษตัวเองมากกว่านี้ นึกไม่ออกเลยว่าเด็กชายอายุ 13 ปี ที่เป็นต้นเหตุให้เพื่อนรักต้องจบชีวิตลง หากไม่มีความรักจากคนใกล้ชิด ที่เป็นดั่งฟูกยามเขาต้องล้มลง เด็กคนนี้จะเป็นอย่างไร

นั่นชี้ให้เห็นว่า พ่อแม่มีความสำคัญกับผู้เป็นลูกมากแค่ไหน โดยเฉพาะในวัยแห่งความสับสนนี้

ส่วนในหนังเรื่อง “Aftersun” เล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์ของพ่อวัยสามสิบกว่าๆ กับลูกสาววัย 11 ปี ที่ได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวด้วยกันในช่วงวันหยุด เป็นช่องว่างระหว่างวัยของคนสองคนที่คนดูได้พลอยเรียนรู้ชีวิตและปัญหาของพวกเขา

ลูกสาวที่ว่าชื่อ “โซฟี” แสดงโดย “แฟรงกี้ โคริโอ้” ซึ่งเป็นการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกของเธอเช่นกัน เพราะพ่อกับแม่แยกทางกัน โซฟีเลยต้องแบ่งเวลาที่อยู่กับแม่เป็นหลัก มาใช้ชีวิตกับพ่อในช่วงวันหยุดยาว ทั้งสองเดินทางมากับทัวร์เพื่อมาเที่ยวและพักที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในประเทศตุรกี

แม้จะวัยเพียง 11 ปี แต่โซฟีก็ดูเก่งกล้าเกินอายุ เธอมีวิธีคิดและการแสดงออกที่เป็นตัวของตัวเอง

ซึ่งคนเป็นพ่อคือ “คาลัม” (พอล เมสคัล) ก็ไม่เข้าใจเธอในหลายเรื่องเหมือนกัน และแน่นอนที่จะมองว่าลูกยังเด็กอยู่เสมอ และชดเชยกับการที่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกมา โดยการสอนทุกอย่างที่คิดว่าจำเป็นในชีวิตให้กับโซฟี หรือ พยายามทำให้ทริปนี้สนุกสนานเต็มที่ แม้บางครั้งบรรยากาศจะไม่เป็นใจเลยก็ตาม

หลายเรื่องโซฟีสื่อสารกับพ่อไม่เข้าใจ หลายคำถามที่เธอถามเพราะอยากรู้ความเป็นจริง แต่ผู้เป็นพ่อก็หลีกเลี่ยงที่จะตอบหรือแสดงความรู้สึกจริงๆ ออกมา เธอเลยพยายามหาคนที่อายุใกล้เคียงกันเพื่อคุยด้วย แม้พ่อจะบอกว่า เธอสามารถคุยกับเขาได้ทุกเรื่องก็ตามที

สุดท้ายแล้วแม้ทั้งสองจะใช้ชีวิตในช่วงวันหยุดด้วยกันท่ามกลางช่องว่างระหว่างกันก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ “ความรักที่มีให้แก่กัน” นั้น เป็นสิ่งสำคัญและเป็นเกราะให้ชีวิตทั้งสองเดินทางต่อไปได้

เรื่องช่องว่างระหว่างวัยนั้นมีอยู่ในทุกประเทศ ในสังคมไทยของเราเองก็มีกรอบและแนวคิดความเชื่อที่ส่งต่อกันมายาวนาน กับเด็กๆ ในสังคมยุคใหม่นี้ที่มีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างอย่างไร้ขีดจำกัด ก็ยิ่งจะทำให้ช่องว่างนั้นห่างมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งสำคัญที่สามารถประคองและเยียวยาปัญหาลงได้คือ “ความรักของครอบครัว” โดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ หรือ ปู่ย่าตายายที่คนเป็นพ่อแม่ทิ้งหลานไว้ให้เลี้ยง ยิ่งต้องใกล้ชิดและเปิดใจกับพวกเขาให้มากขึ้น

เรียนรู้พวกเขา อย่าผลักไสพวกเขาออกไป เพราะเขาต้องการความรักความเข้าใจ หากเรามีให้ก็เท่ากับเราจะได้ความไว้วางใจจากเขาตามมา ความสับสนใดๆ ที่เกิดขึ้นในวัยนี้ ก็ยังจะพอมีคนร่วมรับรู้และก้าวผ่านมันไปด้วยกัน

แค่ช่วงวัยก็ว้าวุ่นพออยู่แล้ว อย่าทำให้ชีวิตพวกเขาวุ่นวายแบบไร้ทิศทางเลย •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์