SHOPLIFTERS ‘ลักเล็กขโมยน้อย’

นพมาส แววหงส์

นี่เป็นหนังที่ได้รับรางวัลปาล์มดอร์จากเทศกาลภาพยนตร์ที่คานส์ เมื่อ ค.ศ.2018 และรางวัลเกียรติยศอีกมากมาย และมีฉายทางเน็ตฟลิกซ์อยู่ขณะนี้

ด้วยฝีมือของฮิโรคาสุ โคเรเอดะ คนทำหนัง (สร้างเรื่อง เขียนบทและกำกับฯ แบบเบ็ดเสร็จในลักษณะของ auteur ไม่ใช่แค่ director) ชาวญี่ปุ่นผู้ฝากผลงานสะท้อนปัญหาสังคมอันตราตรึงน่าประทับใจมาแล้วหลายเรื่อง อาทิ Nobody Knows, Like Father Like Son

เนื้อหา หรือ “ธีม” ที่ปรากฏครั้งแล้วครั้งเล่าในหนังของโคเรเอดะ คือ “ความเป็นครอบครัว”

และเขาสำรวจลงไปถึงแก่นโดยตั้งคำถามว่า อะไรคือความหมายของครอบครัว

…สายเลือด หรือว่า ความรักความเอื้ออาทรในกันและกัน…

หนังของโคเรเอดะจึงนำเสนอเรื่องราวของเด็กที่จับพลัดจับผลูไปเติบโตอยู่ในหมู่คนที่ไม่ได้เกี่ยวพันกันทางสายเลือด

Shoplifters เปิดฉากอันชวนระทึกใจของสองพ่อลูก โอซามุ (ลิลี แฟรงกี) กับ โชตะ (คาอิริ โจ) ในระหว่างปฏิบัติการ “จิ๊ก” สินค้าในร้าน

ทั้งสองทำท่าเสมือนพ่อลูกไปเดินจับจ่ายซื้อสินค้าใช้สอยอยู่ในร้านค้าเหมือนในชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางระดับล่างทั่วไป

ฝ่ายพ่อหยิบของใส่ตะกร้าไปเรื่อยๆ ขณะดูต้นทาง ยืนบังสายตาและส่งสัญญาณให้ลูกชายซึ่งทำสัญญาณมือเป็นโค้ดให้รู้ แล้วจึงค่อยๆ หยิบของหย่อนใส่เป้ที่วางอยู่ข้างตัว

ก่อนจะเดินออกจากร้านไปอย่างเนียนๆ ทิ้งตะกร้าใส่สินค้าที่ทำทีเหมือนจะซื้อ แต่ก็เปลี่ยนใจไม่ซื้อ แล้วเดินออกจากร้าน แวะซื้อโครเกต์กินและฝากคนอื่นๆ ก่อนจะเดินกลับบ้านไปด้วยกันท่ามกลางความหนาวเหน็บของฤดูหนาว

ใกล้จะถึงที่พัก พ่อลูกเดินไปเจอเด็กหญิงวัยห้าขวบคนหนึ่งถูกทิ้งไว้ในความหนาวเย็นนอกบ้านและมีท่าทางอ้างว้างหิวโหย โอซามุจึงพาหนูน้อยกลับไปบ้านด้วย เพื่อจะหนีจากอากาศหนาวเหน็บในขณะนั้น

ครอบครัวชิบาตะเป็นครอบครัวที่ยากจนแร้นแค้น แต่อบอุ่นผาสุกพร้อมหน้าพร้อมตา ประกอบด้วยคนสามรุ่น

ผู้สูงวัยที่สุดคือฮัตสุเอะ (กิริน กิกิ) ซึ่งมีส่วนเลี้ยงดูครอบครัวด้วยเงินบำนาญของสามีที่ล่วงลับ

ลูกสาวคือโนบุโยะ (ซากุระ อันโดะ) ทำงานในโรงซักรีด

ลูกเขยโอซามุ เป็นกรรมกรรับจ้างรายวัน

ลูกสาวคนเล็กอาคิ (มายุ มัตสุโอกะ) ทำงานเป็นสาวรุ่นนักเต้นปลุกใจลูกค้าผู้ชายที่จ่ายเงินเพื่อหาความสำราญเป็นสัดเป็นส่วนในห้องหับมิดชิด

และหลานชายโชตะ ซึ่งไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ถูกเทรนในอาชีพ “นักจิ๊กของตามร้าน”

เรื่องราวจะเผยต่อมาว่า “สายสัมพันธ์ในครอบครัว” นี้ไม่ได้มาจากสายเลือด แต่ทว่าทุกคนได้มา “พบ” กันด้วยเหตุบังเอิญอันเกื้อกูล

และหนูน้อยยูริ (มิยุ ซาซากิ) ดูเหมือนจะไม่เป็นที่ต้องการของพ่อแม่และมีบาดแผลและร่องรอยโดนทำร้ายร่างกาย

การตัดสินใจนำยูริเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวนั้นจะผันแปรชีวิตของพวกเขาไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

เห็นได้ชัดแต่แรกแล้วว่า ครอบครัวชิบาตะต่างเป็นคนที่มีบาดแผลและไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขาเป็นคนหาเช้ากินค่ำและชักหน้าไม่ถึงหลัง จนเลือกทางหาเงินมาจุนเจือด้วยหนทางไม่สุจริต

แต่ก็พยายามสอนลูกให้เป็นโจรด้วยคติที่ยึดถือ “ความสุจริตในหมู่โจร” แบบบิดเบี้ยว โดยที่โชตะถูกสอนว่า การขโมยของในร้านนั้นไม่ผิด เพราะของเหล่านั้นยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ

และมีแต่เด็กที่ครอบครัวไม่สามารถสอนหนังสือให้ที่บ้านได้เท่านั้นที่ต้องไปโรงเรียน

การเก็บเด็กที่ถูกทิ้งๆ ขว้างๆ และพ่อแม่ไม่ต้องการมาอยู่ด้วยนั้น ไม่ใช่ “การลักพาตัว” เนื่องจากการลักพาตัวนั้นต้องมีการเรียกค่าไถ่ ฯลฯ

หนังสะท้อนปัญหาสังคมและปัญหาในจิตใจมนุษย์ที่สลับซับซ้อนยากแท้หยั่งถึงและยากจะคลี่คลายปม แต่ขณะเดียวกันหนังก็ไม่ได้หนักอึ้งจนหมดสนุก แต่เล่าเรื่องอย่างอบอุ่นกระทบใจด้วยความเรียบง่ายและซื่อบริสุทธิ์ของจิตใจที่มีพื้นฐานดีงาม

การนำเสนอภาพและองค์ประกอบของเรื่องทุกบททุกตอนเล่าเรื่องได้อย่างเรียบง่ายและโดนใจ รวมทั้งการแสดงของนักแสดงอาชีพในบทหลัก และนักแสดงเด็ก ซึ่งโคเรเอดะสามารถกำกับได้อย่างเป็นธรรมชาติและน่าเชื่อมาก

ผู้เขียนชอบฉากที่ครอบครัวนี้นั่ง “ฟัง” โดยมองไม่เห็นการเฉลิมฉลองด้วยพลุและดอกไม้ไฟ ในบ้านที่เปิดช่องขึ้นไปสู่ท้องฟ้าไม่มากพอที่จะมองดูปรากฏการณ์ภายนอกมากนัก

และฉากที่ตัดต่ออย่างดีในช่วงท้ายๆ ซึ่งให้โนบุโยะเล่าเรื่องราวของเธอโดยมองตรงสู่กล้อง โดยเฉพาะประเด็นที่เธอโดนกล่าวหาว่า ทำลายศพโดยโยนทิ้งไป เธอแย้งว่าบุคคลที่กล่าวถึงนั้นโดนคนอื่นโยนทิ้งมาต่างหาก

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

สิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นองค์ประกอบในหนังเล่าเรื่องได้ดีจนทำให้ความยาวสองชั่วโมงเต็มๆ ไม่มีขาด ผ่านไปอย่างแทบไม่รู้สึกตัว และตอนจบของหนังก็ดูลงตัวพอดิบพอดี…ถึงจะไม่ใช่ตอนจบแบบที่คนดูปรารถนาจะเห็นและอยากให้เกิดแก่ชีวิตของตัวละครพวกนี้

นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าจบแบบอื่น จะโดนใจขนาดนี้ไหม

โชตะซึ่งมาอยู่กับครอบครัวนี้ในตอนที่เขาโตและรู้ความแล้ว ไม่ยอมเรียกโอซามุว่าพ่อมาตลอด แต่ฉากสุดท้ายที่พวกเขาจากกัน โดยโชตะนั่งรถประจำทางจากโอซามุผู้ยังคงห่วงหาอาลัยมา เด็กชายเหลียวไปมองพร้อมกับพึมพำคำว่า “พ่อ” ออกมา

ฉากสุดท้ายของสุดท้าย คือ หนูน้อยยูริคืนกลับไปอยู่กับครอบครัวในสายเลือด และหวนสู่ชีวิตเดิม แม่หนูปีนรั้วมองออกมาทางทิศที่เป็นบ้านที่เคยให้ความอบอุ่นและสายใยแห่งความอาทร…อย่างอ้างว้างและยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรตามมาในอนาคต •

SHOPLIFTERS

กำกับการแสดง

Hirokazu Kore-eda

แสดงนำ

Lily Franky

Sakura Ando

Kairi Jo

Kirin Kiki

Mayu Matsuoka

Miyu Sasaki

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์