สารคดีเกี่ยวกับเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากลในคดี JFK

วัชระ แวววุฒินันท์

JFK เป็นชื่อย่อของ John Fitzgerald Kennedy ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คนที่ 35 จากพรรคเดโมแครต

และเป็นชื่อหนังที่ออกฉายเมื่อปี 2534 หรือ 32 ปีมาแล้ว ผลงานของผู้กำกับฯ โอลิเวอร์ สโตน นำแสดงโดยพระเอก เควิน คอสเนอร์

เป็นภาพยนตร์ที่นำมาจากเหตุการณ์จริงของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ที่ถูกลอบสังหารคารถเปิดประทุนกลางเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 ซึ่งสร้างความตกใจอย่างใหญ่หลวงให้ไม่แต่กับประชาชนชาวอเมริกัน แต่รวมถึงประชาชนและผู้นำทั่วโลก

ว่าแม้แต่ประเทศประชาธิปไตยจ๋า ที่เชิดชูเสรีภาพอย่างอเมริกา ก็เกิดการลอบสังหารคนระดับผู้นำกลางวันแสกๆ ได้อย่างอุกอาจเหลือเชื่อ

ในหนัง เควินรับบทอัยการของเมืองนิวออร์ลีน ชื่อ “จิม แกร์ริสัน” ที่ได้ลุกขึ้นมารื้อฟื้นการพิจารณาคดีลอบสังหารเคนเนดี้ขึ้นใหม่ โดยมีข้อมูลหลักฐานที่ไม่ชอบมาพากล และขัดกับข้อสรุปของคณะกรรมาธิการวอร์เรน ที่รับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการสืบสวนคดีนี้อย่างชนิดที่คณะลูกขุนได้ฟังก็ต้องกรอกตาไปมา

คณะกรรมาธิการวอร์เรน สรุปคดีนี้ว่าอย่างไรน่ะหรือ? สรุปว่า จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ถูกลอบสังหารโดยชายที่ชื่อ ลี ฮาร์วีย์ ออสวัลด์ ที่ลงมือทำเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยมีแรงจูงใจจากที่ออสวัลด์มีประวัติเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และสนับสนุนผู้นำคิวบาอย่างฟิเดล คาสโตร

สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้…จบ

 

ตอนนี้ได้มีการนำสารคดีเกี่ยวกับเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากลในคดีนี้มาฉาย ในชื่อ “JFK” โดยโอลิเวอร์ สโตน เช่นกัน เป็นการนำเสนอในรูปแบบของเรื่องจริง ข้อมูลจริง ที่โทนต่างจาก JFK เวอร์ชั่นที่เป็นหนัง เพราะอัดด้วยข้อมูลลึกที่นำมาปะติดปะต่อให้ผู้ชมได้เห็นว่า จริงๆ แล้วมีผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนี้ ที่ทำกันเป็นขบวนการใหญ่อย่างเลือดเย็น ที่ก็คือ CIA และกลุ่มนายทุนพ่อค้าสงครามที่ได้รับผลประโยชน์หากไม่มีเคนเนดี้อยู่ในโลกนี้แล้ว

ถามว่า หากเคนเนดี้อยู่ เขาจะทำอะไรหรือที่ไปขัดผลประโยชน์คนมีอำนาจเหล่านี้

ใครๆ ก็รู้ว่า อเมริกาเป็นประเทศที่หากินกับสงคราม โดยวางตัวเป็นตำรวจโลกที่เข้าไปวุ่นวายกับการเมืองการปกครองของประเทศต่างๆ โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นข้ออ้าง และที่สำคัญหน้าฉากจะอย่างไรก็ตาม แต่หลังฉากนั้นก็ได้สนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ หรือศัตรูทางการเมืองของผู้นำที่ตนคิดจะโค่นล้มอย่างลับๆ

ดูจากกรณีของยูเครนในตอนนี้ หรือความขัดแย้งในประเทศแถบตะวันออกกลางที่ผ่านมาก็ได้

แต่คนอย่างประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ไม่ใช่ผู้นำในแนวทางนี้ หากเป็นผู้นำที่ต่อสู้และเรียกร้องเพื่อสร้าง “สันติภาพ” ให้กับไม่ใช่แค่อเมริกา แต่ให้กับโลก เขาได้เคยกล่าวความหมายของสันติภาพไว้ว่า

“หมายถึงการทำให้ชีวิตบนโลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้าน เช่น ด้านสิทธิและความเท่าเทียม รวมถึงในด้านเศรษฐกิจ ให้เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็ก เยาวชน และไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม”

เคนเนดี้ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของคนดำในประเทศอย่างชัดเจน คนดำทางตอนใต้ได้สิทธิ์ในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็เพราะเขา และเขาก็มีนโยบายระหว่างประเทศที่ใช้ไมตรีและความร่วมมือมากกว่าจะใช้อาวุธและการทำสงคราม

แม้แต่กับประเทศรัสเซียที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญ เคนเนดี้ก็มีความคิดที่จะสร้างความร่วมมือกันในหลายด้าน เช่น การร่วมกันไปดวงจันทร์อีกครั้งของสองชาติมหาอำนาจ

กับประเทศที่มีสงครามกลางเมือง เคนเนดี้ก็มีนโยบายที่จะไม่สนับสนุนเรื่องอาวุธให้กับฝ่ายใด ซึ่งใกล้ตัวบ้านเราหน่อยก็คือ “สงครามเวียดนาม” ที่เคนเนดี้ประกาศว่าจะถอนกองทัพอเมริกันออกจากสงครามเวียดนาม

ซึ่งแน่นอนว่านโยบายเหล่านี้ย่อมไปเหยียบตาปลากลุ่มอำนาจเก่าอย่างจัง จะเป็นใครบ้างในสารคดี JFK ได้เล่าไว้อย่างจะแจ้ง

JFK Revisited : Through the Looking Glass

ย้อนมาถึงเรื่องคดีลอบสังหารที่ได้มีการตั้งผู้รับผิดชอบที่เรียกว่า คณะกรรมาธิการวอร์เรน จำนวน 7 คนขึ้นมา ที่แปลกคือล้วนเป็นคนในแวดวงการเมืองทั้งสิ้น คณะกรรมาธิการชุดนี้ซึ่งมีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง ก็ได้ใช้ทุกวิถีทางในการบิดเบือนรายละเอียดต่างๆ ของคดี เพื่อให้ออกมาว่า “เป็นฝีมือของคนคนเดียว”

เช่น เมื่อถูกยิง ร่างของเคนเนดี้ถูกนำส่งโรงพยาบาลของเมืองดัลลัส แต่แพทย์ที่เชี่ยวชาญในพื้นที่ไม่ได้ถูกเชิญให้มาร่วมทำการรักษา หากนำแพทย์มาจากที่อื่นที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง และแม้เมื่อเคนเนดี้เสียชีวิตลง ก็มีผลของการชันสูตรที่พิลึกพิลั่นจากความเป็นจริง

หากออสวัลด์เป็นคนยิงจริง ตำแหน่งที่ออสวัลด์ที่อยู่บนอาคารสูงจะต้องยิงเข้าด้านหลังศีรษะของเคนเนดี้ ทะลุออกมาด้านหน้า

แต่จากภาพจากฟิล์มที่ถ่ายไว้ได้ เห็นได้ชัดว่ามีการยิงมาจากด้านหน้าด้วย และกระสุนที่เด็ดชีพเคนเนดี้นั้นก็ต้องมาจากคนอื่นที่ไม่ใช่ออสวอลล์

ซึ่งแผลที่เกิดขึ้นจากรูกระสุนก็บ่งบอกอย่างนั้น แต่รายงานกลับเป็นตรงกันข้าม

ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลในภายหลังว่าลักษณะแบบนี้ในการผ่าตัดจะต้องเจอกระสุนฝังอยู่ แต่ไม่พบกระสุน แล้วกระสุนไปไหน

จู่ๆ ก็มีคนบอกว่าเจอกระสุนแล้ว ตกอยู่ในเปลที่หามเคนเนดี้นั่นเอง ซึ่งหากกระสุนนั้นเป็นกระสุนที่ฝังในจริง จะมีอะไรเหรอที่จะทำให้กระสุนนั้นหลุดออกมาได้

และสภาพของกระสุนก็อยู่ในสภาพดีเกินกว่าลักษณะของกระสุนที่เกิดจากการยิงแล้ว

ซึ่งเจ้ากระสุนนี้ เป็นกระสุนนัดเดียวที่ใช้ในการสังหารตามข้อสรุปของกรรมาธิการ และเกิดเป็น “ทฤษฎีกระสุนมหัศจรรย์” ที่สามารถยิงเคนเนดี้จากด้านหลังแล้วทะลุออกด้านหน้า เลี้ยวหักมุมไปโดนมือของรองประธานาธิบดีที่อยู่ข้างหน้า และหักมุมไปโดนตัวรถได้อีก เหลือเชื่อจริงๆ

แล้วเชื่อไหมตอนที่ออสวัลด์ถูกตำรวจจับได้นั้น เขากำลังนั่งดูหนังเพลินๆ อยู่ในโรงภาพยนตร์ใกล้ๆ บริเวณนั้น มันจะเป็นไปได้ยังไงที่คนที่เพิ่งลอบยิงประธานาธิบดีแล้ว แทนที่จะรีบหนีออกจากเมือง กลับใจเย็นมานั่งดูหนังให้ตำรวจมาจับง่ายๆ อย่างนั้นเหรอ

ซึ่งออสวัลด์ก็ได้พูดกับนักข่าวที่รุมทำข่าวว่า เขาไม่ได้ยิง เขาเป็นแพะ และในอีกสองวันต่อมาภายในสำนักงานตำรวจดัลลัส ขณะที่ตำรวจคุมตัวเขาเพื่อจะนำไปสอบสวน ก็มีชายคนหนึ่งยิงเขาจนเสียชีวิตลง

แน่นอนที่คนตายจะไม่สามารถลุกมาให้การต่อสู้ใดๆ ได้อีกต่อไป…จบข่าว

โอลิเวอร์ สโตน

ในหนังสารคดี JFK ได้ชี้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วออสวัลด์มีส่วนพัวพันกับคนของ CIA หลายคน แต่ก็ได้มีการลบประวัติส่วนนี้ของเขาออกไปจนสิ้นเพื่อไม่ให้โยงไปได้ถึง

และจากการสืบหาข้อมูลเชิงลึกพบว่าก่อนหน้านี้ก็ได้มีความพยายามจะสังหารเคนเนดี้ในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 2 ครั้ง แต่มีเหตุให้ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่ได้มีการเตรียมแพะอย่างออสวัลด์ไว้แล้วด้วย

ที่น่าตกใจคือว่า คดีใหญ่ระดับการสังหารผู้นำอย่างนี้ กลับมีการเผาหลักฐานทิ้งส่วนหนึ่งไปสิ้นหลังจากที่มีบทสรุปที่ออกมาอย่างรวดเร็วตามที่เล่าไปแล้วนั้น และมีคำสั่งห้ามเปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับคดีนี้โดยสิ้นเชิง

สำหรับ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ แล้ว เขาได้เป็นประธานาธิบดีอยู่เพียง 3 ปี ก่อนจะจบชีวิตลงในวัย 43 ปี แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่สิ่งที่เขาได้คิดและทำ และได้บอกกล่าวให้โลกได้ยินนั้นได้สร้างความหวังครั้งใหญ่ให้กับคนอเมริกันและคนในพื้นที่ต่างๆ ของโลก โดยมองว่าเขาเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงแนวคิดเดิมๆ ที่ผู้นำประเทศคนก่อนๆ ได้เคยทำกันมา

เป็นการเปลี่ยนไม่ใช่แค่กับประเทศอเมริกา แต่กับทั้งโลก

ความรัก ความประทับใจของผู้คนที่มีต่อเขา เห็นได้จากเมื่อเขาจบชีวิตลง ได้มีการนำชื่อของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ไปตั้งเป็นชื่อของสถานที่ต่างๆ เช่น ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล ห้องสมุด และมีรูปปั้นของเขาอยู่ในหลายประเทศ ไม่ใช่แต่ในอเมริกา

จอห์น เอฟ เคนเนดี้

หากกลับมาดูที่ประเทศของเรายามนี้ ก็คล้ายจะมีกรณีลอบสังหารผู้นำเฉกเช่นเดียวกับกรณีเคนเนดี้ ที่เกิดกับผู้ชายที่ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เช่นกัน

ที่คล้ายคลึงก็คือ เคนเนดี้นั้นได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศด้วยภาพลักษณ์ของคนหนุ่มวัย 43 ปี ที่เป็นความหวังครั้งใหญ่ของชาวอเมริกัน และถูกกลุ่มผู้มีอำนาจที่กุมผลประโยชน์แอบแฝงของประเทศจัดการสังหารเขาอย่างเลือดเย็น

ในขณะที่พิธานั้นก็เป็นคนหนุ่มวัย 42 ปีใกล้เคียงกัน ที่กลายมาเป็นความหวังครั้งใหม่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ หากจะดูจากผลการเลือกตั้งที่ปรากฏออกมา เช่นเดียวกับเคนเนดี้

เคนเนดี้กล้าลุกขึ้นมาประกาศแนวคิดที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติเดิมๆ โดยมุ่งหวังถึงสันติภาพอย่างแท้จริง

ในขณะที่พิธาและพรรคก้าวไกล ก็ได้แสดงแนวความคิดและนโยบายที่จะเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเน่าๆ เดิมๆ ของประเทศให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

ต่างกันที่ “จอห์น เอฟ. เคนเนดี้” นั้นถูกสังหารเมื่อเขาได้เป็นผู้นำประเทศแล้ว

แต่สำหรับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั้นยังไม่ทันได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตามความชอบธรรมที่ควรจะเป็น ก็มีอันต้องตกอยู่ในกระบวนการ “ลอบสังหาร” ด้วยวิธีต่างๆ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเสียแล้ว

 

22 พฤศจิกายน 2506 จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ จบชีวิตลง

มาดูกันว่าตามไทม์ไลน์ที่กำหนดว่าวันที่ 3 สิงหาคม 2566 จะเป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้มีชีวิตใหม่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่

หรือว่าจะโดนสังหารคาสภาผู้แทนราษฎร

ผมว่าน่าติดตามและลุ้นกว่าหนัง JFK เสียอีก •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์