คนมองหนัง : เมื่อหนังสยองขวัญมาเลเซีย บุกตีตลาด (ออนไลน์) โลก

คนมองหนัง

 

เมื่อหนังสยองขวัญมาเลเซีย

บุกตีตลาด (ออนไลน์) โลก

 

ท่านผู้อ่านที่เป็น “คอเน็ตฟลิกซ์” อาจเคยได้ยินชื่อหรือเคยชมภาพยนตร์ผี-สยองขวัญ-เหนือธรรมชาติเรื่อง “Roh” (แปลว่า “วิญญาณ”) จากประเทศมาเลเซียกันมาบ้างแล้ว

 

นี่คือผลงานหนังยาวเรื่องแรกของ “เอเมียร์ อาซวาน” ซึ่งเป็นภาพยนตร์สยองขวัญทุนต่ำเรื่องล่าสุดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สร้างกระแสฮือฮาระดับนานาชาติได้ในปีนี้

“Roh” ใช้เวลาถ่ายทำ 2 สัปดาห์ในป่าตอนใต้ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ด้วยทุนสร้างราว 88,500 เหรียญสหรัฐ (ไม่ถึง 3 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้กลับประสบความสำเร็จด้านรายได้ในการเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ที่มาเลเซียและสิงคโปร์ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

ก่อนที่ธุรกิจโรงหนังจะต้องปิดตัวลงอีกครั้ง เพราะการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

สำหรับประชาคมโลก “Roh” เริ่มถูกจับตามองเป็นครั้งแรก เมื่อได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนประเทศมาเลเซีย เพื่อเข้าชิงชัยในสาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมของการประกาศรางวัลออสการ์หนที่ผ่านมา

แม้จะทะลุไปไม่ถึงรอบสุดท้ายบนเวทีออสการ์ แต่หนังยังได้ตระเวนเดินทางไปตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

รวมถึงได้รับความสนใจจากบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับอินเตอร์ ตลอดจนแฟนๆ หนังสยองขวัญทั่วโลก

“Roh” คือหนังสยองขวัญว่าด้วยวิญญาณปีศาจที่เข้าสิงร่างมนุษย์ในบริบทย้อนยุค ซึ่งทีมงานผู้สร้างมิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นยุคสมัยไหน โดยมีฉากหลังเป็นพื้นที่ป่าร้อนชื้น

เมื่อครอบครัวที่มีสายสัมพันธ์แตกร้าวได้ต้อนรับหญิงแปลกหน้าร่างเปื้อนโคลนและเลือดเข้ามาในบ้าน ก่อนที่คำสาปแช่งและเหตุขนพองสยองเกล้าต่างๆ จะบังเกิดขึ้นหลังจากนั้น

ภาพยนตร์มาเลเซียเรื่องนี้โดดเด่นขึ้นจากการผสมผสานองค์ประกอบของนิทานพื้นบ้านที่อิงคำสอนของศาสนาอิสลามเข้ากับความเชื่อเรื่องมนต์ดำไสยศาสตร์แบบมาเลย์ แล้วชูรสด้วยบรรยากาศป่าทึบแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเครื่องแต่งกายของชาวมลายูยุคเก่า

จึงไม่แปลกอะไรที่ “เอ็ดการ์ ไรต์” ผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญชื่อดังชาวอังกฤษ จะยกย่อง “Roh” ว่าเป็น “ผลงานอันน่าทึ่ง”

“โธมัส บาร์เกอร์” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม วิทยาเขตมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์กับ “มาร์โก เฟอร์รารีส” ผู้สื่อข่าวแห่งสำนักข่าวอัลจาซีรา โดยวิเคราะห์ว่าคนทำหนังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักมีความคิดสร้างสรรค์แหวกแนวในการทำหนังประเภทที่แลดูตกยุคไปแล้วในโลกตะวันตกให้ฟื้นคืนความน่าสนใจ

ผ่านวิธีการอุปมาเปรียบเทียบ เส้นเรื่อง และเหล่าภูตผีปีศาจ ที่พวกเขาคุ้นเคย

ด้วยเหตุนี้ ผู้กำกับภาพยนตร์จากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จึงสามารถนำคติชนและประสบการณ์แบบท้องถิ่นไปปรุงแต่งด้วยความเข้าใจที่พวกเขามีต่อทิศทางของหนังตระกูลสยองขวัญในตลาดโลกอย่างลึกซึ้ง จนก่อเกิดเป็นไอเดียสดใหม่ และบรรดาปีศาจซึ่งคนดูจำนวนมากไม่คุ้นชิน

แน่นอนว่าเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ-เรื่องผีนั้นเป็นที่นิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียน ผู้กำกับฯ และศิลปินแขนงต่างๆ ของภูมิภาคนี้ มารุ่นแล้วรุ่นเล่า

โดยเรื่องเหนือธรรมชาติ-เรื่องผีของมาเลเซีย ก็ได้รับอิทธิพลจากทั้งศาสนาอิสลามและจักรวาลวิทยาแบบฮินดู-พุทธที่ดำรงอยู่มาก่อนหน้า

ด้วยองค์ประกอบข้อหลังนี่เอง ที่ทำให้หนัง-เรื่องเล่าสยองขวัญจากประเทศนี้ มีตัวละครในลักษณะ “ผีตายทั้งกลม” “กุมาร” “กระสือ” อันเป็นวัฒนธรรมร่วมซึ่งสอดคล้องกับ “ผีไทย”

สืบเนื่องจากประเด็นดังกล่าว “ก้อง ฤทธิ์ดี” คอลัมนิสต์ด้านภาพยนตร์ของไทย เคยสัมภาษณ์ “เอเมียร์ อาซวาน” ผู้กำกับฯ และ “อามีร์ มูฮัมหมัด” โปรดิวเซอร์ของ “Roh”

หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นกลางวงสนทนาก็คือ อะไรเป็นความแตกต่าง (และความพ้องกัน) ของหนังสยองขวัญมาเลเซียและหนังสยองขวัญไทย?

โปรดิวเซอร์หนังสยองขวัญมาเลเซียตอบว่า ในแง่เทคนิคงานสร้าง ผลงานของทางฝั่งไทยมีคุณภาพเหนือกว่าผลงานของพวกตน

แต่หนังสยองขวัญสองประเทศก็มีพื้นฐานวิธีคิดบางประการที่คล้ายคลึงกัน แม้จะมี “ศาสนาหลัก” ต่างกัน เช่น แนวคิดที่มองว่ามนุษย์จะต้องถูกลงโทษหรือได้รับผลจากการกระทำ/ความผิดบาปของตนเอง

“อามีร์ มูฮัดหมัด” ยังตั้งสมมติฐานด้วยว่าหนังสยองขวัญที่จะประสบความสำเร็จได้ นั้นต้องมีศักยภาพในการปลุกพลังความเชื่อ-ความหวังแห่งการอยู่รอดของผู้ชม

นักวิชาการ เช่น “โธมัส บาร์เกอร์” เชื่อว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก อาทิ เน็ตฟลิกซ์ เอชบีโอ หรือดิสนีย์พลัส ซึ่งกำลังแข่งขันขับเคี่ยวในตลาดคอนเทนต์อย่างหนักหน่วงนั้น กำลังให้ความสนใจมายังหนังสยองขวัญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งเพราะเรื่องราวที่มีรสชาติ “แปลกใหม่” สำหรับคนดูส่วนใหญ่ และราคาที่ถูกกว่า หากเปรียบเทียบกับผลงานจากยุโรปและออสเตรเลีย

สภาวะดังกล่าวสอดรับกับอนาคตอีกด้านที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคนี้

ดังที่ “อามีร์ มูฮัมหมัด” แสดงทัศนะว่า ภายในปี 2021 การนำผลงานเข้าฉายในโรงภาพยนตร์จะยังเป็นไปได้ยาก ทั้งเพราะปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายทางการตลาดซึ่งย่อมนำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้นของบริษัทผู้สร้าง และข้อกำหนดในการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดจากภาครัฐ

ดังนั้น หนทางประสบความสำเร็จของหนังสยองขวัญจากประเทศมาเลเซีย จึงต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลายเป็นหลักอยู่ดี

 

ข้อมูลจาก

https://www.aljazeera.com/news/2021/6/2/zombie-films-breathe-new-life-into-malaysian-and-indonesia-horror

https://www.bangkokpost.com/life/arts-and-entertainment/2136319/a-new-spirit-of-malaysian-horror