คนมองหนัง : ‘อีเรียมซิ่ง-The Serpent’ ‘ลาวดวงเดือน’ ที่เปลี่ยนไป และ ‘รัฐไทย’ ที่ล้มเหลว

คนมองหนัง

 

‘อีเรียมซิ่ง-The Serpent’

‘ลาวดวงเดือน’ ที่เปลี่ยนไป

และ ‘รัฐไทย’ ที่ล้มเหลว

 

ในบรรยากาศที่ไม่ได้ออกไปไหนมาไหนเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดหนักของโควิด-19 จึงมีโอกาสนั่งดูหนัง-ซีรีส์ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์แบบยาวๆ

หนังไทย-ซีรีส์ต่างประเทศคู่หนึ่งที่ผู้เขียนเพิ่งได้รับชมหน้าจอคอมพิวเตอร์ และคิดว่ามีอะไรให้คิดต่อ-เขียนถึงอยู่มากพอสมควร

ก็คือ “อีเรียมซิ่ง” และ “The Serpent” (นักฆ่าอสรพิษ)

 

“อีเรียมซิ่ง” เป็นหนังไทยทำเงินสูงสุดในปี 2563 ท่ามกลางภาวะขาลงของธุรกิจโรงภาพยนตร์ในสถานการณ์โรคระบาด นี่คือผลงานการกำกับฯ ของ “พฤกษ์ เอมะรุจิ” ที่สร้างชื่อจากหนังตลกชุด “ไบค์แมน”

“อีเรียมซิ่ง” เป็นหนังตลกเบาสมองผสมบทบู๊และเจือด้วยบรรยากาศย้อนยุคแบบปลอมๆ ขำๆ ซึ่งสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้ชมได้มากพอสมควร

“เบลล่า ราณี แคมเปน” พิสูจน์ตนเองได้อีกครั้งว่าเธอมีบุคลิกลักษณะ-ความสามารถที่เหมาะสมกับหนัง-ละครแนว “ย้อนยุคแต่ไม่พีเรียดจ๋า” ซึ่งนำอดีตมาหยอกล้อหรือปนเปแบบมั่วๆ กับปัจจุบัน

ขณะที่ “แพท-ณปภา ตันตระกูล” ผู้รับบท “อีแรม” พี่สาว “อีเรียม” ก็เล่นบทตลกกึ่งสองแง่สองง่ามและสามารถขโมยซีนจากนักแสดงคนอื่นๆ ได้อย่างร้ายกาจ

 

สองซีนที่สนุกสนานและน่าจดจำมากๆ ใน “อีเรียมซิ่ง” ก็คือฉากร้องเพลง “ลาวดวงเดือน” ช่วงต้นเรื่อง (ที่เบลล่า, ค่อม ชวนชื่น, โรเบิร์ต สายควัน, บอล เชิญยิ้ม และแพท ณปภา “เล่นตลก” ร่วมกันได้อย่างน่าทึ่ง) และฉากเจ้าแม่วานรเข้าสิงอีเรียม ซึ่งโชว์ทักษะการแสดงของเบลล่าในแง่มุมที่หลายคนไม่ค่อยได้พบเห็น

นอกจากนี้ ประเด็น “ฮีโร่ที่ถูกลืม” ในช่วงท้ายเรื่องของตัวละครสมทบซึ่งรับบทโดย “โรเบิร์ต สายควัน” ก็เป็นโมเมนต์เล็กๆ อันทรงพลังและน่าจดจำไม่น้อย

ถ้าจะมีอะไรน่าขัดใจอยู่บ้างใน “อีเรียมซิ่ง” นั่นก็เห็นจะเป็นการพยายามสอดแทรก “สาระ” เข้ามาในเรื่องราวตลกขบขัน เพราะ “สาระหลัก” ที่ผู้กำกับฯ-ผู้เขียนบทจัดวางไว้นั้นเป็นประเด็นค่อนข้างเบาหวิว ราวกับการเล่นละครหน้าห้องเรียนสมัยประถมศึกษา

นอกจาก “สาระเชยๆ” ที่เข้ามาขัดขวางอารมณ์เฮฮาโดยรวมแล้ว อีกหนึ่งจุดอ่อนของหนัง ก็คือตัวละคร “กลุ่มโจร” ที่ไม่เก่ง ไม่โหด และไม่ฮา จนมีสถานะเป็นเหมือนอุปสรรคกีดขวางเล็กๆ น้อยๆ ใน “ละคร 3 ช่า” มากกว่า

อย่างไรก็ดี สำหรับแฟนๆ ของ “โรเบิร์ต สายควัน” และ “น้าค่อม ชวนชื่น” ที่จากไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “อีเรียมซิ่ง” ย่อมถือเป็น “อนุสรณ์” ซึ่งชวนให้เรารำลึกถึงดาวตลกทั้งคู่เป็นครั้งท้ายๆ ผ่านฝีมือการแสดงที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้เสมอ

 

“The Serpent” ซีรีส์ 8 ตอนจบที่กำกับฯ โดย “ทอม แชงก์แลนด์” และ “ฮันส์ เฮอร์บอตส์” เล่าเรื่องราวของ “ชาร์ล โสภราช” ฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งมีเหยื่อเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวบุปผาชนในพื้นที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศในทวีปเอเชีย ณ ช่วงกลางทศวรรษ 1970

น่าสนใจว่าเหตุการณ์ตามท้องเรื่องในซีรีส์นั้นเกิดขึ้นก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่นาน ทั้งยังคาบเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองในยุคหลัง 14 ตุลาฯ ทว่าบริบท (ระดับประเทศ) ดังกล่าวมิได้ถูกกล่าวถึงใน “The Serpent”

โดยผู้สร้างได้เลือกบอกเล่าบริบทของภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบบางๆ ผ่านคำพูดของตัวละครนักการทูตตะวันตก รวมถึงเจ้าหน้าที่ไทย ขณะที่ตัวละครนำอย่าง “ชาร์ล โสภราช” ก็มีบทพูดวิพากษ์ลัทธิจักรรดินิยมอยู่เล็กน้อย

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือเวลาเราพูดเรื่อง “โลกไร้พรมแดน” ผ่านสื่อบันเทิงหรือวัฒนธรรมร่วมสมัย หลายคนอาจนึกถึงความไร้พรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งสะท้อนผ่านการเดินทางไปนู่นมานี่ตามใจปรารถนาของ “เจสัน บอร์น” เป็นต้น

แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับย้อนฉายภาพ “โลกไร้พรมแดน” ในทวีปเอเชียยุคสงครามเย็น ผ่าน “เส้นทางสายฮิปปี้” และการตระเวนก่ออาชญากรรมตามเส้นทางสายดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ฉากการขับรถหลบหนีความผิดจากทวีปเอเชียข้ามไปยังยุโรป หรือจากยุโรปกลับมายังเอเชียในอีพีหลังๆ ก็อาจเป็นประสบการณ์น่าตื่นตาสำหรับคนดูจำนวนไม่น้อย

 

โดยส่วนตัว ระหว่างดู “The Serpent” จะเกิดความรู้สึกขัดใจอยู่บ้างใน 1-2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือหน้าตาของ “ทาฮาร์ ราฮิม” นักแสดงนำผู้รับบทเป็น “ชาร์ล โสภราช” ที่ต่อให้แต่งเติมอย่างไรก็ยังไม่มีองค์ประกอบของคนเชื้อสายเวียดนามปรากฏขึ้น ผิดกับ “โสภราชตัวจริง” ซึ่งเป็นลูกครึ่งอินเดีย-เวียดนาม

ประเด็นต่อมา คือผู้ชมชาวไทยอาจจะติดขัดกับการใช้ภาษาไทยแบบแปลกๆ ที่ปรากฏผ่านชื่อบุคคล-ชื่อหน่วยงานในซีรีส์ต่างชาติเรื่องนี้อยู่บ้างตามสมควร

อย่างไรก็ตาม มีอาการ “ผิดฝาผิดตัว” ประการหนึ่งใน “The Serpent” ที่ทำให้ผมรู้สึกขำและชอบใจไปพร้อมๆ กัน นั่นคือฉากผู้หญิงไทยกลุ่มหนึ่งพากันร้องเพลง “ลาวดวงเดือน” แบบ “เล่นๆ” กลางห้องครัว (ประหนึ่งว่าเพลงไทยเดิมเพลงนี้เป็นเพลงสตริง-เพลงลูกกรุง-เพลงลูกทุ่งทั่วไป) เพื่อแซว-หยอกล้อตัวละครชื่อ “สุดา” สตรีชาวไทยที่เคยคบหากับ “ชาร์ล โสภราช”

เมื่อดูซีรีส์ต่างประเทศเรื่องนี้ต่อจาก “อีเรียมซิ่ง” ผมจึงเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า “ลาวดวงเดือน” นั้นได้กลายสถานะเป็นเพลงที่แสดงถึง “ความเป็นไทย” ไปพร้อมๆ กับการเป็น “เพลงตลก” ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน?

 

นอกจากนั้น “อีเรียมซิ่ง” และ “The Serpent” ยังมีอีก “จุดร่วมสำคัญ” ที่เราไม่ควรมองข้าม

กล่าวคือภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกกำลังพยายามพูดถึงบทบาท “วีรสตรี” และเงื่อนปมค้างคาใจของ “ลูกผู้หญิง” คนหนึ่ง ซึ่งมีทีมผู้ช่วยเป็น “กะเทยคู่หู” และบรรดาชายสูงวัยที่เป็น “คนขี้แพ้-คนชายขอบ” ในสังคม

ทั้งยังแอบวิพากษ์วิจารณ์ “อาการมาไม่ถึง” ของ “ตำรวจ/อำนาจรัฐ” ท่ามกลางภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่ชาวบ้าน-ผู้หญิง-เด็กต้องเผชิญภัยจากโจรร้ายตามลำพัง และ “การมาถึงช้า” ของตัวละครพระเอก ซึ่งปรากฏกายขึ้น ณ ซีนสุดท้ายของหนัง

ส่วนซีรีส์เรื่องหลังก็กล่าวถึงความไร้น้ำยาของ “รัฐราชการ/ตำรวจไทย” ที่ปล่อยให้ฆาตกรเช่น “ชาร์ล โสภราช” สังหารผู้คนอย่างต่อเนื่องและลอยนวลพ้นผิดไปได้

พร้อมๆ กับการพยายามฉายภาพของ “ผู้หญิง” ที่มีส่วนร่วมในภารกิจเสาะหาหลักฐานและสืบสวนคดีฆาตกรรม ท่ามกลาง “การไม่ยอมทำหน้าที่” และ “การลอยตัวเหนือปัญหา” ของผู้ชายไทย-เทศหลายๆ คน