ภาพยนตร์ : RESISTANCE ‘มาร์เซล มาร์โซ’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

 

RESISTANCE

‘มาร์เซล มาร์โซ’

 

กำกับการแสดง

Jonathan Jakubowicz

 

นำแสดง

Jesse Eisenberg

Clemence Poesy

Bella Ramsey

Matthias Schweighofer

Ed Harris

 

ในโลกของการละครและศิลปะการแสดง มาร์เซล มาร์โซ นับเป็นนักแสดงไมม์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแบบที่ต้องเรียกว่า “หนึ่งเดียวคนนี้”

เขาทำให้ศิลปะของไมม์ หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “ละครใบ้” ก้าวล่วงจากการแสดงมโนสาเร่ในคลับกระจอกงอกง่อยหรือโชว์ที่เรียกว่าคาบาเร่ต์ ออกมาสู่โลกกว้างและก้าวขึ้นสู่เวทีใหญ่ในฐานะศิลปะเต็มตัว

อิทธิพลของมาร์เซล มาร์โซ ปรากฏให้เห็นในพื้นฐานของการแสดงหรือการฝึกเป็นนักแสดง ด้วยการกระตุ้นให้คนดูสร้างมโนภาพในหัวขึ้นล้วนๆ จากการแสดงที่นักแสดงไม่ต้องอาศัยเครื่องประกอบการแสดงหรือพรอพส์/ฉาก เพื่อเล่าเรื่อง

เขาเรียกศิลปะที่เขาช่วยพัฒนาขึ้นว่า ศิลปะแห่งความเงียบ (The art of silence)

 

ทุกวันนี้ถ้าเราไปเที่ยวต่างประเทศ เราจะยังเห็นนักแสดงใบ้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากมาร์เซล มาร์โซ ทาหน้าขาววอกและแต่งตัวคล้ายตัวตลก ออกมายืนแสดงตามจุดต่างๆ อาจจะเพื่อฝึกฝนศิลปะของตัวเอง เพื่อหาคนดู หรือเพื่อหาเศษเงินประทังชีพ

แต่อย่าคิดว่านักแสดงละครใบ้จะกระจอกขนาดนั้นนะคะ

มาร์เซล มาร์โซ มีมิตรภาพยาวนานกับดารานักร้องบรรลือโลกอย่างไมเคิล แจ๊กสัน โดยที่เราจะเห็นอิทธิพลของการแสดงไมม์ที่ได้จากมาร์โซในท่าเต้นของไมเคิล แจ๊กสัน

ท่าที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุดคือ ท่าเดินอยู่กับที่ โดยที่นักแสดงใช้ความเคลื่อนไหวของร่างกายทำให้เหมือนกับการเคลื่อนตัวไปในระยะทาง ขณะที่อยู่ในจุดเดียวบนเวที

ถึงไม่บอก ใครๆ ก็จำได้ว่าเป็นท่าเดินอยู่กับที่ซึ่งมาร์เซล มาร์โซ ใช้อยู่บ่อยๆ แต่ไมเคิล แจ๊กสัน ก็ประกาศเองว่าเขาได้ท่าเต้นบรรลือโลกนี้มาจากมาร์โซเพื่อนเขา

ผู้เขียนเคยโชคดีได้ชมการแสดงสดของมาร์เซล มาร์โซ ในไทย และได้พูดจากับเขาหลายคำหลังเวที เนื่องจากรับผิดชอบในด้านการจัดโชว์ครั้งนั้น

แต่ไม่เคยรู้ประวัติความเป็นมาของเขามากไปกว่าว่าเขาเป็นคนฝรั่งเศสเชื้อสายยิวที่อพยพมาจากโปแลนด์

มาได้ดูหนังเรื่องนี้แหละค่ะ ที่ได้รู้จักตัวตนและวีรกรรมของเขาก่อนที่จะมาเป็นนักแสดงไมม์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างที่โลกรู้จัก

 

หนังเปิดเรื่องที่มิวนิกในตอนที่หนูน้อยเอลส์เบธ (เบลลา แรมซีย์) ถามพ่อว่าทำไมพวกเขาถึงได้เกลียดเรา พ่อตอบว่าพวกเขาไม่ได้เกลียดเราหรอก แต่ฮิตเลอร์โทษพวกเราสำหรับเรื่องเลวร้ายที่เกิดแก่คนชั้นแรงงาน และพวกเขาก็เชื่อ แต่ลูกไม่ต้องห่วงไปหรอก อีกหน่อยเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นและพ่อจะยังสนับสนุนคนเยอรมันต่อไป…ไม่ทันไรหลังจากนั้น พ่อก็ถูกพวกนาซีมาจับตัวไปสังหารอย่างเลือดเย็น

แล้วหนังก็พาเราไปสู่ฉากที่นายพลแพตตัน (เอ็ด แฮร์ริส) ปราศรัยบนเวทีกลางแจ้งต่อหน้าทหารนับร้อยนับพัน ว่าด้วยจิตวิทยาของความกล้าหาญ ว่าความกล้าหาญใช่ว่าจะเป็นการไม่กลัวอะไรเลย แต่ความกล้าหาญคือความกลัวต่อเนื่องที่ทำให้คนเราอึดที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องที่เราเห็นว่าควรจะทำ

ฉากนี้จะย้อนกลับมาอีกในตอนสุดท้าย โดยที่นายพลแพตตันกำลังแนะนำนักแสดงไมม์ที่ชื่อมาร์เซล มาร์โซ ที่กำลังจะเปิดการแสดงครั้งแรกต่อหน้าผู้คนนับร้อยนับพันในบทบาทของตัวละครที่ทำให้เขาโด่งดังไปทั่วโลกต่อมา คือ Bip the Clown

 

เราได้พบมาร์เซล (เจสซี ไอเซนเบิร์ก) ตอนแรกในวัยยี่สิบ แสดงโชว์ย่อยอยู่ในคาบาเร่ต์ในเมืองสตราสบูร์กในฝรั่งเศส พ่อของมาร์เซลเป็นพ่อค้าขายเนื้อ และดุด่าว่าลูกชายที่ออกนอกลู่นอกทางไปทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่ขยันทำมาหากินในกิจการของครอบครัวเลย

ดูท่าว่ามาร์เซลก็จะยังไม่เป็นโล้เป็นพายอยู่จริงๆ คิดถึงแต่เรื่องของตัวเองและหลงใหลอยู่แต่ในความใฝ่ฝันส่วนตัว จวบจนกลุ่มชาวยิวรวมตัวกันเป็นขบวนการใต้ดินช่วยเหลือเด็กกำพร้าชาวยิวให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของพวกนาซี

เอลส์เบธเป็นหนึ่งในเด็กกำพร้าเหล่านั้น ซึ่งถูกพาไปเก็บตัวไว้ในปราสาทเก่าๆ

และมาร์เซลใช้ทักษะในด้านการแสดงของเขาปลอบใจและทำให้เด็กเพลิดเพลินไม่กระจองอแงและไม่สร้างปัญหาแก่หมู่คณะ

นอกจากนั้น ยังใช้ความชำนิชำนาญในเชิงศิลปะปลอมแปลงหนังสือเดินทางให้แก่ชาวยิวจำนวนมาก รวมทั้งตัวเขาเองก็เปลี่ยนชื่อจากมาร์เซล มานเจล เป็นมาร์เซล มาร์โซ ให้ฟังดูเป็นชื่อฝรั่งเศสมากขึ้น

เมื่อเยอรมนีแผ่อิทธิพลเข้ายึดครองฝรั่งเศส เมืองสตราสบูร์กของฝรั่งเศสอยู่ใกล้ชายแดน และเป็นอันตรายแก่เด็กๆ พวกเขาจึงต้องลอบอพยพเด็กๆ ไปอยู่ที่เมืองลีอง โดยปรับเปลี่ยนยุทธวิธีไปตามสถานการณ์

ในช่วงนั้น ซึ่งอยู่ระหว่าง ค.ศ.1942 เยอรมนีส่งนาซีตัวเอ้ไปปกครอง ชื่อ เคลาส์ บาร์บี (มัทธิอัส ชไวโกเฟอร์) บาร์บีฆ่าและทรมานชาวยิวอย่างโหดเหี้ยมจนได้ฉายาว่า The Butcher of Lyon

ในหนังเราเห็นการสังหารอันเลื่องลือในโรงยิมที่ดัดแปลงเป็นที่กักกันตัวชาวยิว และการเค้นข้อมูลจากคนที่ถูกจับ…เป็นเรื่องทางจิตวิทยา…เราไม่ได้เห็นภาพที่เกิดขึ้นจริงหรอกค่ะ แต่เขาสร้างมโนภาพให้เราคิดต่อเอาเอง ไม่ผิดกับศิลปะของละครใบ้ที่ปล่อยให้คนดูสร้างมโนภาพขึ้นในหัวเพื่อเติมลงในช่องว่างเอาเอง

ต่อให้ถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมและชวนโกรธแค้น แต่มาร์เซลก็ตัดสินใจเลือกหนทางที่จะไม่แก้แค้นด้วยความพยาบาท เขาเลือกที่จะต่อต้านนาซีด้วยการทำสิ่งตรงข้ามกับสิ่งที่พวกนาซีต้องการ นั่นคือการกำจัดเด็กชาวยิวให้หมดไปจากโลก

ขบวนการต่อต้านที่มาร์เซลและพรรคพวกทำคือการลอบพาเด็กกลุ่มเล็กๆ เดินข้ามภูเขาไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนที่เป็นกลางและพ้นจากเงื้อมมือของฮิตเลอร์

ดูถึงตอนนี้ทำให้นึกถึงตอนจบของมิวสิเคิลที่ตราตรึงเรื่อง The Sound of Music เชื่อว่าคนในรุ่นเดียวกันก็ยังจำเพลง Climb Every Mountain และยังร้องฮัมอยู่ในใจได้

 

หนังจบอย่างลงตัวด้วยฉากการแสดงไมม์ครั้งปฐมทัศน์บนเวทีใหญ่ท่ามกลางสายตานับพันคู่ที่เมืองนูเรมเบิร์ก และภาพของมาร์เซล มาร์โซ ในตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวเขาต่อมาอีกช้านานและจะเป็นที่จดจำตลอดไป

พร้อมเครดิตปิดท้ายที่ขึ้นว่า มาร์เซล มาร์โซ ช่วยชีวิตเด็กไว้ได้ถึง 123 คนโดยส่วนตัว ขณะที่ขบวนการใต้ดินนี้ช่วยเด็กไว้นับพันคน

ยังมีบางแง่บางมุมดีๆ ที่น่าประทับใจที่ยังไม่ได้เล่าถึงอีกนะคะ แต่หมดเนื้อที่แล้วค่ะ