คุยกับ เมษ ธราธร ผู้กำกับ “อ้าย…คนหล่อลวง” เลือก ‘ณเดชน์’ เพราะ มีบุคลิกที่ดีของนักต้มตุ๋น

มองผ่านสายตาผู้กำกับฯ เทียบณเดชน์ คูกิมิยะ กับ “นักต้มตุ๋น”

เหมือนเคย-เมษ ธราธร บอกอย่างนั้น เมื่อถามถึงที่มาที่ไป อันเป็นต้นเหตุให้มากำกับภาพยนตร์เรื่อง “อ้าย…คนหล่อลวง”

นั่นคือ 2 โปรดิวเซอร์ของจีดีเอช 559 เก้ง-จิระ มะลิกุล กับวรรณ-วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ มีไอเดียเด็ดมานำเสนอ เผื่อว่าเขาฟังแล้วจะสนใจ นำไปคิดต่อ แล้วก็ลงมือทำ

“เป็นคนชอบทำงานแบบมีโจทย์น่ะครับ ถ้ามีอะไรเป็นสารตั้งต้น แล้วได้เดเวล็อปต่อจะรู้สึกสนุก” อธิบายความเป็นตัวเองแบบนี้ แล้วเมธในวัย 32 ปีก็ยิ้ม

จากนั้นก็พูดถึงภาพยนตร์ซึ่งมีกำหนดจะเข้าฉายในวันที่ 3 ธันวาคม ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการหลอกลวง ต้มตุ๋น ซึ่งตั้งใจให้ “เป็นรสชาติแบบที่ดูง่าย สนุก ทำอยู่บนรสมือแบบไทยๆ”

“อ้าย…คนหล่อลวง” จึงไม่ใช่หนังจารกรรมแบบฮอลลีวู้ด ไม่มีสะลิง ไม่มีอุปกรณ์ไฮเทค หรือใช้เทคโนโลยีแปลงโฉม ที่มีก็เป็นเรื่องโรแมนติก คอมเมดี้ ที่ทำด้วยความตั้งใจว่าอยากให้คนดูขำ

“ให้ 2 ชั่วโมงนี้เขามีความสุขที่สุด บรรจุมันให้ได้เยอะที่สุด ให้คนคุ้มค่าตั๋วที่สุด”

ทั้งนี้ เนื้อหาที่เขาและทีมเขียนบทช่วยกันคิด ช่วยกันเขียน โดยใช้เวลานานถึง 2 ปี คือเรื่องราวของ “อินา” ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยทันคนเท่าไหร่ ทำให้โดนแฟนเด็กหลอกเอาเงินไป แถมยังมีหนุ่มคอลเซ็นเตอร์โทร.มากะจะหลอกซ้ำ ยังดี๊ที่จับไต๋ได้ เลยเกิดการต่อรองว่าจะไม่แจ้งตำรวจจับ หากเขาช่วยหลอกเอาเงินจากแฟนเด็กกลับมา

“ยากที่สุดเท่าที่เคยเขียนมาเลยครับ” เมธบอก ก่อนให้เหตุผลแบบออกตัวแรง ว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะ “ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องหลอกคน หรือต้มตุ๋นใคร”

แหม-แหม

บอกอีกว่าในระหว่างการเตรียมบท ใจเขาน่ะ อยากจะได้พบนักต้มตุ๋นตัวจริงสักคน จะได้สอบถามพื้นฐานวิธีคิด และการวางแผนต่างๆ หากก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จึงต้องอาศัยการอ่านข่าวและคดีความต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เคยเกิดขึ้นแล้วนำมาปรับใช้

จนได้งานที่สามารถพูดด้วยความมั่นใจว่า “สนุก” และ “เข้มข้น”

ก่อนส่งมอบให้ณเดชน์ คูกิมิยะ, ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์, แบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์, แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช และเผือก-พงศธร จงวิลาส ร่วมกันถ่ายทอด

ที่เลือกณเดชน์ เมธบอกว่าเป็นเพราะ “เขามีบุคลิกที่ดีของนักต้มตุ๋น” ด้วยเหตุผลว่าทุกครั้งที่ได้เห็นณเดชน์เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ สินค้าหรือบริการใดๆ “มันดูน่าซื้อ น่าใช้ น่าเชื่อถือไปหมด”

และเมื่อได้ร่วมงานกัน

“ผมว่าตัวละครกับณเดชน์มีความคล้ายกันมาก คือนักต้มตุ๋นต้องเป็นคนจริงจัง แบร์รี่ก็เป็นคนจริงจัง คนไม่จริงจังหลอกคนไม่ได้ หรือหลอกได้ แต่ก็ไม่สำเร็จเท่า เขาต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะทำอะไร วางแผน คิดแทนคนที่จะถูกหลอก คิดสถานการณ์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น คิดวิธีในการหลอก แล้วณเดชน์เป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ ตั้งใจ แล้วก็ร่วมตีความตัวละครไปกับผม ซึ่งบางทีผมยังไปไม่ถึงตรงนั้นเลย ในบทเล่มที่เราให้ไป ผมเห็นลายมือเขาจดพอๆ กับตัวหนังสือที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษ ทุกประโยคเขามีสิ่งที่เขาคิดแนบไว้ ว่าเขาพูดแบบนี้เพราะอะไร อินเนอร์ก่อนจะพูดคำนี้เขาคิดอะไรอยู่ ซึ่งผมทึ่งนะ”

ขณะที่ใบเฟิร์นก็ได้อย่างใจกับ “บทที่ต้องเล่นเหมือนคนที่ไม่รู้อะไรเลย” ซึ่ง “ผมว่าเล่นยาก”

ส่วนเผือกนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะรู้มือกันจากการร่วมงานหลายครั้ง

“แบงค์เองก็ดีมาก ตอนไปชวนก็บอกว่าบทจะเป็นคนไม่ดีนะ เป็นตัวที่ไปหลอกคนนะ ถ้าแบงค์เล่นดีคนจะไม่ชอบแคแร็กเตอร์ แต่จะชอบแบงค์ และแบงค์เล่นออกมาโอเคมากๆ”

สําหรับแหม่ม คัทลียา เมธบอกว่า ตอนทำลุคตัวละคร นี่คือตัวละครที่ทำยากที่สุด

“กว่าจะหาดีกรีที่ฉุดพี่แหม่มจากคนโครงหน้าดี ผิวหน้าดี ลงมาให้เป็นครูที่ไม่ค่อยดูแลตัวเองสักเท่าไหร่ มีรสนิยมการแต่งหน้าที่ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์มาก ค่อนข้างยากที่จะทำให้ดูน่าเชื่อถือ ลองทำกันอยู่ 3 แบบ พี่แหม่มก็ว่านี่แกล้งกันหรือเปล่า” นึกถึงคำแซวของแหม่มแล้ว คนเป็นผู้กำกับฯ ก็หัวเราะ

“พี่แหม่มบอกเมธ เธอทำอะไรกับพี่ ตอนเล่าเรื่องให้ฟัง ตอนชวนมาเล่น ไม่บอกแบบนี้นะ แต่พี่เขาเต็มที่มาก บอกเอาอีกเมธ ตรงไหนที่รู้สึกว่าจะดีกับหนัง ทำอีก ทำให้สุดไปเลย”

ซึ่งแน่นอนว่าเขาทำอย่างนั้น

“สมัยเด็กๆ ผมชอบดูตลกคาเฟ่ ไปเช่าวิดีโอมาดู แล้วมันตลก สนุก มีความสุข ก็เลยกลายเป็นว่าผมก็อยากจะเป็นคนที่ทำให้คนอื่นสนุกบ้าง เหมือนที่พี่ๆ ตลกคาเฟ่เขาทำให้ผมสนุก”

สนุกผ่านผลงานภาพยนตร์ที่เขาเขียนบทและกำกับฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “บ้านฉัน…ตลกไว้ก่อนพ่อสอนไว้” เมื่อปี 2553, “ATM เออรัก..เออเร่อ” ปี 2555 และ “ไอฟาย..แต๊งกิ้ว เลิฟยู้” ปี 2557 และ “อ้าย…คนหล่อลวง” เรื่องนี้