คนมองหนัง | เทคโนโลยีกับภาพยนตร์ เวลาแบบมาเลย์ และอันตรายของเทศกาลหนังยักษ์ใหญ่

คนมองหนัง

สําหรับผู้ที่เคยผ่านตางานเขียนในคอลัมน์นี้ คงพอจะคุ้นชื่อของ “ลาฟ ดิแอซ” หนึ่งในคนทำหนังแนวหน้าของวงการภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ร่วมสมัยกันอยู่บ้าง

ผลงานของดิแอซมักเล่าเรื่องราวว่าด้วยมหากาพย์แห่งสามัญชน ความโศกเศร้าจากอดีต และปัญหาในปัจจุบัน ผ่านระยะเวลาอันยาวนานกว่ามาตรฐานของภาพยนตร์สมัยใหม่โดยทั่วไป

สิ่งที่ช่วยยืนยันความสำเร็จในทางวิชาชีพของดิแอซได้ดี ก็คือที่ทางและรางวัลที่เขาได้รับจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับต้นๆ ของโลก

ไม่ว่าจะเป็นรางวัลหมีเงินของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน จากหนังความยาว 8 ชั่วโมง เรื่อง “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” รางวัลเสือดาวทองคำของเทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน (สวิตเซอร์แลนด์) จากหนังความยาว 5 ชั่วโมงครึ่ง เรื่อง “From What Is Before”

รวมถึงรางวัลสิงโตทองคำของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส จากหนังเรื่อง “The Woman Who Left” เมื่อปี 2016

ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของดิแอซมีชื่อว่า “The HALT” (ยาว 4 ชั่วโมง 36 นาที) ซึ่งเข้าฉายรอบปฐมทัศน์โลกในสาย “Directors” Fortnight” ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ เมื่อช่วงกลางปีนี้

หนังบอกเล่าถึงโลกอนาคตในปี 2034 ซึ่งเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดได้ปกคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้จมอยู่ภายใต้ความมืดมิด ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็ถูกปกครองโดยผู้นำเผด็จการใจโหดเหี้ยม ที่มุ่งทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ล่าสุด ดิแอซไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และได้ให้สัมภาษณ์กับ “โจวหนิงซู่” แห่ง https://thefilmstage.com

มีบางคำถาม-คำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้

: ดูเหมือนกระบวนการทำหนังในประเทศที่กำลังหันเหทิศทางการปกครองเข้าสู่ระบอบเผด็จการ เช่น ไทย บราซิล และที่ชัดเจนเลย ก็คือ จีน จะประสบความยากลำบากมากขึ้น อยากทราบว่าการทำหนังด้วยวิถีทางแบบของคุณในประเทศฟิลิปปินส์ ได้ประสบความยากลำบากทำนองนี้บ้างหรือไม่?

ไม่เลย กระทั่งถึงตอนนี้ ผมก็ยังไม่เคยเจอปัญหาแบบนั้น เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันโง่เขลาเกินไป พวกเขาไม่ได้สนใจศิลปินอย่างแท้จริง พวกเขาจึงไม่คิดว่าผลงานศิลปะของพวกเราจะส่งผลกระทบใดๆ ต่อประชาชน ดังนั้น เราจึงควรขอบคุณเป็นอย่างสูงในความโง่เขลาดังกล่าว

: คุณทำงานในฐานะผู้กำกับภาพ (ตากล้อง) ด้วย อยากทราบว่าคุณชอบถ่ายหนังแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่างระบบฟิล์มกับดิจิตอล?

ผมเคยมีปัญหากับเรื่องนี้มาก่อน มันเป็นเรื่องของคนหัวเก่า แต่ผมก็ผ่านมันมาได้ ณ ช่วงปี 2000 ต้นๆ

ก่อนหน้านั้น ผมไม่อาจทำใจยอมรับเทคโนโลยีดิจิตอลได้ แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่าผมไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ และเทคโนโลยีดิจิตอลได้มอบโอกาสให้ผมปลดปล่อยตนเองจากทรราชแห่งเงินตรา เทคโนโลยีประเภทนี้ช่วยให้ผมสามารถถ่ายทำหนังขนาดยาวๆ ได้

ขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่าคนทำหนังไม่ควรไปวิตกกังวลกับเรื่องวัสดุอุปกรณ์ให้มากนัก มันมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดำรงอยู่รายรอบตัวเรา

และท้ายที่สุด ภาพยนตร์ก็ควรจะยึดโยงอยู่กับตัวคนทำหนัง ไม่ใช่เรื่องกล้องหรือเรื่องแสง

: หนังของคุณมีชื่อเสียงในเรื่องความยาว อยากทราบว่า “เวลา” เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเล่าเรื่องราวของคุณหรือไม่? และการมีประสบการณ์เรื่องเวลาบางอย่างได้ส่งผลต่อการออกแบบเรื่องเล่าดังกล่าวหรือเปล่า?

ใช่เลย ผมไม่ต้องการให้การเล่าเรื่องราวในจอภาพยนตร์ไปกีดขวางภาวะไหลเลื่อนเคลื่อนไหวของชีวิตและกาลเวลา

ทั้งนี้เพราะภาพยนตร์ที่พวกเราคุ้นเคย มักดำเนินเรื่องแบบ “คัทชนคัท” ผ่านกระบวนการตัดต่อ แต่ผมอยากทำงานให้เหมือนกับคนเขียนนิยาย ซึ่งคนอ่านสามารถสัมผัสถึงภาวะขยายกว้างของกาลเวลา โดยปราศจากการยักย้ายถ่ายเท โดยปราศจากอุปสรรคขัดขวางใดๆ

มันก็คล้ายดนตรีแจ๊ซ ที่คุณสามารถจะบรรเลงเพลงท่อนเดิมไปได้เรื่อยๆ อย่างเปี่ยมพลวัต

นอกจากนี้ สำหรับวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “การรอคอย” นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ พวกเรานั่งรออยู่ใต้ต้นไม้หรือนอนคอยอยู่บนที่นอนกันทั้งวันทั้งคืน เพื่อรอคอยให้บางสิ่งบางอย่างบังเกิดขึ้น

นี่คือ “วิถีชีวิตแบบมาเลย์” มันไม่ใช่ความเกียจคร้านเฉื่อยชาแต่อย่างใด แต่มันคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเรา ซึ่งเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับวิถีธรรมชาติ ทั้งสภาพอากาศร้อนชื้น, ลมมรสุม, พายุไต้ฝุ่น, น้ำท่วม และดินถล่ม

: บริการสตรีมมิ่งภาพยนตร์ทางออนไลน์ดูจะเป็นที่นิยมมากขึ้น…

ใช่เลย ตอนนี้หนังของผมก็สตรีมอยู่บนเว็บไซต์ MUBI กับ Grasshopper นะ สตรีมมิ่งมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ไปแล้ว

: คุณไม่ได้คิดว่าระบบสตรีมมิ่งจะทำลายวงการภาพยนตร์

ไม่เลย ผมมักย้อนกลับไปอ้างอิงถึงสิ่งที่ “อ็องเดร บาแซ็ง” (นักวิจารณ์และนักทฤษฎีภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส) เคยระบุเอาไว้ว่า “พวกเราจะใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจธรรมชาติของภาพยนตร์”

ดังนั้น ภาพยนตร์ต้องมีวิวัฒนาการอยู่เสมอ

: สำหรับประเด็นนี้ (สตรีมมิ่ง) ผมเดาว่าคุณไม่ได้อยู่ในฝ่ายจารีตนิยม

ผมไม่ได้เป็นฝ่ายจารีต เพราะสำหรับผม ภาพยนตร์จะถึงกาลอวสาน ถ้าคนทำหนังเลือกยึดติดกับจารีตเดิมๆ และไม่ต้องการขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้า เทคโนโลยีมันถูกสร้างขึ้นมาให้เรา ทำไมพวกเราถึงจะไม่ใช้มันล่ะ?

: ผมอ่านเจอว่าคุณได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกของ AMPAS (สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐ) เมื่อปี 2017 อยากทราบว่าคุณมีส่วนร่วมกับการโหวตตัดสินรางวัลออสการ์มากน้อยแค่ไหน?

ผมแค่เข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ผมไม่ได้เข้าไปร่วมโหวตตัดสินออสการ์เลย

: ทำไมล่ะ? ทาง AMPAS ได้จัดส่งหนังที่เข้าข่ายได้รับการพิจารณารางวัลมาให้คุณดูบ้างไหม?

เขาส่งมาเต็มเลยแหละ ที่พักของผมเลยท่วมไปด้วยแผ่นหนังมากมาย นอกจากนี้ ผมยังได้รับเชิญให้ไปร่วมงานนู่นนี่ที่นิวยอร์กและฮ่องกง แต่ผมรู้สึกขี้เกียจที่จะต้องทำกิจกรรมจำพวกนั้น และผมก็ไม่เชื่อในงานประกวดภาพยนตร์

: เทศกาลภาพยนตร์ก็ถือเป็นงานประกวดภาพยนตร์ในอีกรูปแบบหนึ่ง คุณชอบเทศกาลพวกนั้นหรือเปล่า?

ผมรักเทศกาลภาพยนตร์เพราะมันช่วยเผยแพร่หนังไปสู่คนดู บางคนอาจเห็นว่าเทศกาลหนังเป็นกิจกรรมสำหรับชนชั้นนำ แต่วัฒนธรรมในการสนับสนุนหนังอาร์ตทั้งหลายก็เกิดขึ้นจากเทศกาลภาพยนตร์ ดังนั้น กิจกรรมชนิดนี้จึงเป็นสิ่งที่ดี

: คุณก็เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก…

แต่ผมชอบพวกเทศกาลเล็กๆ มากกว่า ผมเคยไปร่วมเทศกาลหนังภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่โครเอเชีย ทุกคนที่เข้าร่วมเทศกาลก็แค่ออกมาสังสรรค์และดูหนังกัน ผมชอบบรรยากาศแบบนั้น

: ผมเดาว่าที่นั่นไม่มีพรมแดง

ไม่มี ไม่มี ไม่มี พวกเราก็แค่มาสังสรรค์ ดื่มกาแฟดื่มเบียร์กัน แล้วก็นั่งคุยกับพวกนักศึกษา บรรยากาศมันยอดเยี่ยมมาก ส่วนบทสนทนาที่เกิดขึ้นก็เยี่ยมยอด เมื่อสองปีก่อน ผมเคยไปเทศกาลหนังที่มาลาก้า (ประเทศสเปน) ผมชอบเทศกาลขนาดเล็กๆ เหล่านี้ เพราะคนในงานจะได้มีปฏิสัมพันธ์กันใกล้ชิด แล้วทั้งหมดก็สามารถพูดคุยถกเถียงเรื่องภาพยนตร์กันได้อย่างจริงจัง

: คุณแสดงจุดยืนต่อประเด็นนี้ ในฐานะของคนที่เคยชนะรางวัลสิงโตทองคำและเสือดาวทองคำมาแล้ว…

แน่นอน ผมตระหนักถึงคุณค่าของรางวัลเหล่านี้ แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่อันตรายแอบแฝงอยู่ในเทศกาลภาพยนตร์ขนาดใหญ่ นั่นคือผู้คนที่เข้าร่วมงานมีโอกาสจะลืมเลือนเรื่องภาพยนตร์ ท่ามกลางบรรยากาศที่ขับเน้นไปยังเหล่าเซเลบคนดังมากยิ่งขึ้น ซึ่งพอถึงจุดหนึ่ง มันก็กลายเป็นสิ่งน่าขยะแขยง

ผมรักเวนิส, เบอร์ลิน, คานส์ ที่เลือกหนังผมไปฉาย แต่ผมก็มองเห็นอันตรายในเทศกาลเหล่านั้น อันตรายอันเกิดจากวัฒนธรรมเซเลบและการเมืองเรื่องอำนาจ

เทศกาลภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายยอมจำนนต่อฮอลลีวู้ดมากเกินไป พวกคนจัดงานพากันกดดันตัวเองว่าต้องมีหนังฮอลลีวู้ดเข้าฉายในสายการประกวดหลัก ในจำนวนที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเท่านี้

ถึงแม้พวกเขาจะมีโปรแกรมอื่นๆ นอกเหนือสายการประกวดหลักประจำเทศกาล เช่น Un Certain Regard, Directors” Fortnight (ที่คานส์), Orizzonti (ที่เวนิส) และ Forum (ที่เบอร์ลิน) แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการแบ่งแยกลำดับชั้นระหว่างสายการประกวดหลักกับสายอื่นๆ

มันเลยเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่แม้ว่าคนอย่างผมหรือ “เจี่ยจางเคอ” (ผู้กำกับฯ ชาวจีนที่เคยได้รับรางวัลจากเวนิส, คานส์ และเบอร์ลิน) จะโชคดีได้มีตัวตนในเทศกาลใหญ่ๆ แต่โลกภายนอกก็ยังคงมีคนทำหนังผู้ยิ่งใหญ่อีกหลายรายที่รอคอยการถูกค้นพบ

ผมได้รู้จักกับคนทำหนังระดับสุดยอดจำนวนมากมาย ที่ผลงานของพวกเขาไม่เคยถูกนำไปจัดฉายในเทศกาลไหนๆ

นี่เป็นเรื่องน่าเวทนาอย่างยิ่ง

แปลจาก Lav Diaz on the Desire for Epic Runtimes, Not Voting for the Oscars, and the Problem with Big Film Festivals https://thefilmstage.com/features/lav-diaz-on-the-desire-for-epic-runtimes-not-voting-for-the-oscars-and-the-problem-with-big-film-festivals/