ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

โดย “วัยวุฒิ” แล้ว

“ธงทอง จันทรางศุ” ต้องถือเป็น “ผู้ใหญ่”

อย่างไรก็ตาม หากติดตามคอลัมน์ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ต่อเนื่อง รวมถึงในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

อาจารย์ธงทองเด่นชัดยิ่ง

เด่นชัดว่า มิใช่ “ผู้ใหญ่” ที่ตั้งตนเป็นดั่ง “ศูนย์กลางแห่งจักรวาล” ที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องโคจรหมุนรอบ

ตรงกันข้าม เป็นผู้ใหญ่ที่พยายาม “ปรับตัว” ให้โคจรรอบสิ่งต่างๆ ตามเหตุแห่งปัจจัย

ไม่ขัดขืน หรือ ไม่ขวางโลก

อย่างผู้ใหญ่ดื้อ หลาย-หลายคน

 

อาจารย์ธงทองเขียนไว้ใน “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ฉบับนี้ว่า

“…ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์เป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งสำหรับคนที่จะเอาตัวรอดได้ปลอดภัย

การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสก็เป็นวิธีคิดอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเราเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้

ถ้าเรามองว่าปัญหามีไว้เพื่อแก้ไข ไม่ใช่มีไว้สำหรับเพื่อยอมจำนนแต่เพียงถ่ายเดียว

โลกนี้ก็ยังสวยงามพอที่จะอยู่ด้วยกันได้

เมืองไทยทุกวันนี้ก็เหมือนกันครับ

ใครจะอมพระอุโบสถมาพูดว่าบ้านเราไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่เลย ทุกอย่างดีงามไปหมดทั้งสิ้น

จ้างให้ก็ไม่มีใครเชื่อ

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องงอมืองอเท้าและบ่นพึมพำพลางซึมเศร้ากับปัญหาสารพัด

มีปัญหาก็ต้องช่วยแก้ไขกันไปครับ”

 

สิ่งที่อาจารย์ธงทองอยากให้ช่วยแก้ไขตอนนี้ ก็คือ การเลือก ส.ว.ที่กำลังมีขึ้น

“ระบบการเลือกกันเองเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาคราวนี้

ถ้าเรามองเห็นว่าเป็นท้าวแสนปมคือมีปัญหาสารพัดทั่วตัวไปหมด

เราเห็นปัญหาแล้วก็อย่ามัวแต่ทุกข์โทมนัส

หากแต่เราก็ต้องเข้าไปช่วยกันแก้ไข สมัครเข้าไปในระบบแบบนี้สักสองแสนสามแสนคน

แล้วดูสิว่าจะได้ผลอะไรเกิดขึ้น…”

ตอนที่ปิดต้นฉบับ ยังไม่รู้ว่า ยอดผู้สมัคร ส.ว.จะเป็นไปอย่างที่อาจารย์ธงทอง หวังหรือไม่

แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น

ซึ่งหากถือหลักอย่างที่อาจารย์ธงทองว่าไว้ ก็อย่าสิ้นหวัง

จงปรับตัว เดินหน้าสู้ หรือหาทางออกกันต่อไป

 

เมื่อกล่าวถึงผู้ใหญ่แล้ว

คงต้องพูดถึงคนรุ่นใหม่

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่าง บุ้ง เนติพร

ที่ ณ วันนี้ จิตวิญญาณของเธอ คงล่วงไปสู่ดินแดนเสรี

ดินแดนที่ไร้ปัญหาซึ่งสิทธิมนุษยชน-สิทธิพลเมือง กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม, สิทธิสตรีที่ไร้ซึ่งการถูกลิดรอน ไร้การถูกกดขี่ของชนชั้นกรรมาชีพ และอีกมากมาย

ในวันที่ส่งวิญญาณเสรีของเธอ

หลายบทเพลงถูกมวลมิตรนำมาขับขาน เพื่อนำทาง “บุ้ง” สู่ดินแดนแห่งเสรีภาพนั้น

ภาพ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

และเพื่อร่วมส่งวิญญาณของบุ้งไปสู่ดินแดนเสรีดังกล่าว

“ศรัณยู ตรีสุคนธ์” ได้นำเสนอบทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

ว่าด้วย “บทเพลงเรียกร้องเสรีภาพ จาก บ็อบบี แซนด์ส ถึง บุ้ง เนติพร”

โรเบิร์ต เจอราร์ด ‘บ็อบบี’ แซนด์ส คือตำนานสำคัญบทหนึ่งในการต่อสู้กับการถูกพรากอิสรภาพไปด้วยวิธีอหิงสา

โดยอดอาหารในเรือนจำอังกฤษ เพื่อแลกกับสิทธิขั้นพื้นฐานในเรือนจำ

หนึ่งในนั้นคือผู้ต้องหาทางการเมือง ไม่ควรต้องสวมเครื่องแบบนักโทษ เพราะพวกเขาไม่ใช่อาชญากร

แต่การประท้วง ไร้การตอบสนองจากรัฐบาลอังกฤษ

‘บ็อบบี’ แซนด์ส เสียชีวิตในวัยเพียง 27 ปี หลังอดอาหารได้ 66 วัน

 

บ็อบบี แซนด์ส ได้แต่งเพลงเอาไว้ด้วย อย่างเช่นเพลง Back Home in Derry ที่ขับร้องโดยศิลปินโฟล์กชาวไอริช คริสตี มัวร์

เล่าเรื่องราวการของกลุ่มผู้อพยพจากเดอร์รี เพื่อเดินทางไปยังออสเตรเลีย

แต่ในการเดินทางเต็มไปด้วยอุปสรรคและความตาย

บ็อบบีบอกผ่านเพลงเพลงนี้ว่า

“ฉันได้แต่หวัง

ว่าจะได้หวนกลับคืนสู่ผืนดินตัวเองในไอร์แลนด์เหนืออีกครา”

ซึ่ง “ศรัณยู ตรีสุคนธ์” ผู้เขียนบทความพิเศษนี้ ตีความว่า ผืนแผ่นดินนั้นเป็นอะไรไปไม่ได้

นอกจากสิทธิและเสรีภาพในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ฟังเพลง Back Home in Derry แล้วอธิษฐานให้นักสู้เพื่ออิสรภาพ ไปถึงดินแดนนั้น •