ขอแสดงความนับถือ

รําลึกชาติถึงกลิ่นหอม “ดอกมันปลา” ขึ้นมาโดยพลัน

หลังคอลัมน์ “สมุนไพรเพื่อสุขภาพ” ในโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ของมูลนิธิสุขภาพไทย ของมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

พาคนอีสานบ้านเฮา ฟื้นความจำถึงไม้มงคลวันมหาสงกรานต์

แน่นอนหนึ่งในนั้นคือ ต้นกันเกรา

หรือที่คนอีสานรู้จักกันในชื่อ ต้นมันปลา

 

ต้นมันปลา หรือกันเกรา คอลัมน์ “สมุนไพรเพื่อสุขภาพ” ให้ข้อมูลว่า เป็นหนึ่งในไม้มงคล 9 ประการ หรือ “นพพฤกษ์”

อันประกอบด้วย ราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก พะยูง และกันเกรา

กันเกราหรือต้นมันปลา อาจโดดเด่นกว่าไม้มงคลชนิดอื่น

ตรงที่ให้ดอกมีกลิ่นหอมมาก

สมชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ฟรากรานส์ (fragrans) อันแปลว่า กลิ่นหอม

นอกจากกลิ่นหอมของดอกแล้ว ชาวอีสานและชาวไทยทั่วไปเชื่อกันว่า ต้นมันปลาเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์

ช่วยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง

โดยเฉพาะชาวอีสานมีความเชื่อเช่นนี้เป็นพิเศษ

เพราะต้นมันปลาจะออกดอกเหลืองสะพรั่งโชยกลิ่นหอมชื่นใจ

ต้อนรับวันตรุษสงกรานต์ทุกปี

 

ดอกมันปลาเป็นความหลังอันหอมชื่นของพ่อใหญ่แม่ใหญ่หลายๆ คน

เมื่อครั้งยังเป็นบ่าวเป็นสาวจะชักชวนกันนำพวงมาลัยหอมดอกมันปลาสีเหลืองงามอร่ามไปถวายพระในงานบุญมหาสงกรานต์

จากนั้นก็ผลัดกันเอาพวงมาลัยดอกมันปลาคล้องคอให้กัน และเล่นสาดน้ำท่ามกลางกลิ่นหอมอบอวลของดอกมันปลาแทนกลิ่นแป้งร่ำน้ำปรุง

ปัจจุบันต้นมันปลาเป็นไม้หายาก

เพราะเป็นไม้สีน้ำตาลเข้มลายสวย ขัดเป็นมันเงา ปลวกไม่กิน

จึงถูกตัดไปทำเฟอร์นิเจอร์จำนวนมาก

คนรุ่นหลังจึงพบเห็นต้นมันปลาไม่มาก

และหลายคนอาจจินตนาการถึงกลิ่นของดอกมันปลาไม่ได้เสียแล้ว

ว่าหอมของดอกมันปลานั้น หอมอย่างไร

 

เมื่อกล่าวถึงไม้หายากอย่าง “มันปลา” แล้ว

ทำให้เราอดเป็นห่วงถึงชะตากรรม “ไม้หายาก” อื่นๆ ด้วย

เพราะนับวันก็ใกล้จะสูญพันธุ์

ทำอย่างไรจะรักษา และสร้างความผูกพันเพื่อปกป้องสิ่งกำลังจะสูญหายเหล่านี้ได้บ้าง

คอลัมน์ “อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ” ของ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

พาไปสัมผัสงานศิลปะ ของ “อริญชย์ รุ่งแจ้ง” ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายในตอนนี้

อริญชย์นำเสนอผลงาน Belief is like the wind หรือ “ความเชื่อเป็นเหมือนสายลม”

เป็นผลงานประติมากรรมจัดวางผสมเสียง

ที่ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตและความเชื่อของชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่น โดยเฉพาะของชาวปกากะญอ

ที่มี ‘บทธา’ บทกวีหรือสุภาษิตโบราณ เป็นเครื่องมือส่งต่อความรู้ผ่านการร้องเพลง หรือการบอกเล่าต่อๆ กัน ปากต่อปาก

เช่นตอนหนึ่งของบทธา บอกว่า

“ความเชื่อเป็นเหมือนสายลม

ที่เรามองไม่เห็น หากแต่ขับเคลื่อนให้ทุกสรรพสิ่งเคลื่อนไหว”

อย่างกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ “ความเชื่อ” ของชาวปกากะญอ เรื่องการเกิด

โดยชาวปกากะญอจะเอาสายสะดือของเด็กที่เกิดใหม่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่

แล้วนำไปผูกแขวนกับต้นไม้ต้นใดก็ได้ในป่า

เพื่อให้ต้นไม้ต้นนั้นมีความสัมพันธ์กับลูกที่เกิดมา

เพราะฉะนั้น เด็กชาวปกากะญอก็จะเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับต้นไม้

และเขาจะหวงแหนพืชพันธุ์ธรรมชาติ

ซึ่งความผูกพันและหวงแหนนี้ หากมีกันมากๆ

ก็คงจะสามารถช่วยรักษา “พันธุ์ไม้ที่หายาก” เอาไว้ได้

แน่นอนว่า รวมถึง ต้นมันปลา ด้วย

 

จงใจขับเน้นไปยังสิ่งอันหอมละมุน และสุนทรียะแห่งงานศิลปะ

ในด้านหนึ่ง ประสงค์จะช่วยลดความระอุของฤดูร้อน

รวมถึงลดภาวะร้อนทะลุปรอทแตก ของเหตุบ้านการเมือง

ที่ดูเหมือนจะเกิดทุกหย่อมหญ้าตั้งแต่ระดับบ้านที่เศรษฐกิจแตกระแหง หนี้ท่วม

ไปถึง ตำรวจ สภา ทำเนียบ

จำต้องหาอะไรมาลดร้อนวิกฤตลงบ้าง–คิดฮอดมาลัยดอกมันปลา หลาย-หลาย แท้ •