ระบบการศึกษา เราพร่องทั้ง “จินตนาการ” และพร่องทั้ง “ความรู้” หรือไม่ ?

ขอแสดงความนับถือ

 

2 คอลัมน์ ของ มติชนสุดสัปดาห์ สัปดาห์นี้

เชิญชวนผู้อ่าน ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ย่อย

ในประเด็นเรื่อง “ความรู้”

คอลัมน์แรก คือ “ตุลวิภาคพจนกิจ” ของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ที่ว่าด้วย “อำนาจ/ความรู้ : สู่อนาคตของความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง”

คอลัมน์ที่สอง คือ Multiverse ของ บัญชา ธนบุญสมบัติ

ที่ว่าด้วย

“การทดลองในความคิด สุดยอด ‘อาวุธ’ ของไอน์สไตน์”

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ตั้งข้อสังเกตและความเป็นมาของกระบวนการสร้างความรู้ในสังคมไทย

โดยโฟกัสไปที่สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

เป็น สกว. ที่แม้มีที่มาจากรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.)

แต่การที่นายอานันท์มีความคิดในการพัฒนาประเทศในทิศทางของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism)

จึงผลักดันให้มีการตั้ง สกว. เพื่อเป็นสถาบันวิจัยของรัฐ ทำงานเยี่ยงเอกชน

จากประสบการณ์ของ “ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” ที่ได้ประสบมา

ทั้งในส่วนของนักวิจัยและในฐานะของกรรมการอำนวยการในช่วงวาระสุดท้ายของ สกว.

สกว.ที่ตั้งขึ้นในปี 2535 มีจุดหมายในการสร้างความรู้ให้สังคมไทย

เป็นการประสานสนับสนุนการวิจัย “ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การวิจัยเชิงนโยบาย และการวิจัยประยุกต์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการของประเทศ”

ซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างผลักดันการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไปได้อย่างที่ไม่เคยมีการกระทำมาก่อน

 

ท่ามกลางความคาดหวังว่าอนาคตการวิจัยคงมีอนาคตและแตกแขนงเติบใหญ่ต่อไปภายใต้ร่มเงาของ สกว.

แต่ความหวังนั้นก็อวสานเมื่อหลังการรัฐประหารอีกครั้ง

เมื่อรัฐบาล คสช.เนรมิตแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีออกมา

และนำไปสู่การที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขณะนั้น

ยกเครื่องการทำวิจัยใหม่ เพื่อสนองตอบแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว

อันเป็นที่มาของการยกเลิก สกว.

แล้วจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สก.สว.) ขึ้นแทนในปี 2562

ซึ่ง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์ ชี้ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการสนับสนุนการวิจัยอย่างใหญ่หลวง

แน่นอน ในสายตาของอาจารย์ธเนศ มองในแง่ลบ

และกระทบกับ “ความรู้” อย่างมาก

กระทบอย่างไร พลิกอ่านที่หน้า 24-25

ส่วน “ความรู้” ในคอลัมน์ Multiverse ของ บัญชา ธนบุญสมบัติ (หน้า 48)

เป็นความรู้ที่เชื่อมโยงกับวาทะที่โด่งดังไปทั่วโลกของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

นั่นคือ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

ซึ่ง บัญชา ธนบุญสมบัติ พาไปหาที่มาของวาทะนี้

และแน่นอน เมื่อรู้แล้ว ย่อมทำให้เราทราบว่า วาทะนี้มิได้ด้อยค่า คำว่า “ความรู้” แต่อย่างใด

ตรงกันข้ามกับสอดประสานกันอย่างน่าทึ่ง

 

ไอน์สไตน์เป็นนักคิดและชอบใช้ “การทดลองในความคิด” อันเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์โลก

แต่กระนั้น หากถามว่าการทดลองในความคิดของไอน์สไตน์

ถูกต้องเสมอไปหรือไม่

และไอน์สไตน์ใช้การทดลองในความคิดล้วนๆ เมื่อคิดอะไรใหม่ๆ หรือเปล่า?

แน่นอน คำถามเหล่านี้ มีคำตอบในคอลัมน์ Multiverse ที่ บัญชา ธนบุญสมบัติ ค้นคว้ามาให้เราอ่าน

อ่านแล้ว เชื่อว่าจะนำไปสู่จินตนาการที่ไม่ได้เป็นเพียงความเพ้อฝัน

ตรงกันข้าม หากเราต่อยอดจินตนาการ และความคิดนั้นออกไป

โดยใช้ “ความรู้” ในการคำนวณเชิงทฤษฎี และข้อมูลหลักฐานจากการทดลองหรือการสังเกตมาสนับสนุน

ซึ่งนำไปสู่การพบสิ่งใหม่ๆ สิ่งดีๆ สิ่งมหัศจรรย์ ได้มากมาย

 

แต่คำถามเมื่อมองย้อนกลับมาดูที่ตัวเรา

สังคมไทย ทั้งระบบการศึกษา ระบบคิดอันเปิดกว้างและเสรีนั้น

เรามีเพียงพอแค่ไหน

พร่องทั้ง “จินตนาการ” และพร่องทั้ง “ความรู้” หรือไม่

เราถึงมี “ขุนข่าวลือ ชำนาญ กระพือข่าว” อย่างที่ “ไมตรี รัตนา” ว่า

อยู่มากมายเต็มเมือง เต็มโซเชียล อย่างที่แลเห็น? •