ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 22-28 กันยายน 2566 มี “บทความพิเศษ” ชิ้นหนึ่ง

ซึ่งหากติดตาม มติชนสุดสัปดาห์ มายาวนาน

ย่อมรู้ได้ว่า สำนวนเช่นนี้

การนำเสนอเช่นนี้

ใครคือผู้เขียน “บทความพิเศษ” ดังกล่าว

และยิ่งนำเสนอข้อมูลแบบ “วงใน”

ยิ่งชัดเจนว่า เป็น “ไผ”

ไผ ผู้นั้น เขียนตอนหนึ่งในบทความพิเศษนั้นว่า

 

“…เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีความผูกพันอยู่กับ ‘ช่อฟ้า’ อย่างแนบแน่น

ที่ต้องรู้ไว้ร่วมกันก็คือ นิตยสาร ‘ช่อฟ้า’ อันจดทะเบียนเป็นเจ้าของโดยมูลนิธิอภิธรรม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ

มี สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

หากดูจาก ‘นามสกุล’ ระหว่าง สำราญ กับ เรืองชัย ก็ย่อมรู้ว่า 2 คนนี้มีความสัมพันธ์กัน

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เรียก สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ว่า ‘น้าราญ’

โดยชื่อที่ปรากฏในกองบรรณาธิการ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ช่วยบรรณาธิการ’

เขานี่แหละที่ดึง สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน เข้าไปร่วม

…แรกทีเดียว ‘ช่อฟ้า’ ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน 1 อันถือเป็นด้านหลักคือเนื้อหาทางด้านอภิธรรม ทางด้านการปฏิบัติ

ที่แทรกเข้าไปคือ เนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี

และต่อมา ‘3 กุมารสยาม’ ได้มีส่วนในการเติมเซ็กชั่นวรรณกรรมเข้าไปอย่างมีชีวิตชีวา…”

ความมีชีวิตชีวาดังกล่าว ทำให้ช่อฟ้า แตกช่อออกไปหลายช่อ

และแน่นอน หนึ่งในช่อนั้นคือ “มติชน” และ “มติชนสุดสัปดาห์” ในกาลปัจจุบันด้วย

กล่าวสำหรับมติชนสุดสัปดาห์

คอลัมน์วางบิล ของ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ในฉบับวันที่ 30 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2563

เล่าถึงปฐมบท “มติชนสุดสัปดาห์” ผ่านความทรงจำ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ คนแรก ที่แจ้งไว้ในคอลัมน์ “บทกวน” ว่า

“เรื่องของเรื่องมันมีอย่างนี้ครับ

คือพวกเราชาวมติชนได้มานั่งพิจารณาว่า ในเมืองไทยอันอุตลุดอลวนนี้

การมีชีวิตและใช้ชีวิตซ้ำๆ ซากๆ สัปดาห์ละ 7 วันนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายมหาศาล

…เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงคิดกันว่า น่าจะต้องทำอะไรให้มันเปลี่ยนแปลงแก้เซ็งบ้าง ทั้งคนทำหนังสือพิมพ์ และคนอ่านหนังสือพิมพ์

เราจึงได้คิดทำมติชนสุดสัปดาห์ฉบับพิเศษวันอาทิตย์นี้ขึ้นมา

เพราะมีความเห็นสอดคล้องกับหนังสือพิมพ์ทั้งหลายทั่วโลกว่า หนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ หรือที่เขาเรียกกันว่าซันเดย์ เอดิชั่นนั้น น่าจะเป็นฉบับพิเศษ มีเรื่องราว สาระ บันเทิงอื่นๆ ที่อ่านกันได้ระหว่างวันหยุดตลอดทั้งครอบครัว

ไม่ต้องไปเน้นหนักเรื่องข่าวประจำวัน ซึ่งบรรจุมาเต็มหัวแล้วตลอดสัปดาห์…

เราจึงเห็นว่าหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์ ซึ่งตามปกติธรรมดาก็ไม่ค่อยจะมีข่าวคราวอะไรมากนัก เมื่อเปลี่ยนรูปโฉมโนมพรรณออกมาให้เป็นหนังสือครอบครัวอ่านสบายๆ ได้ทั้งความรู้เบื้องหลังข่าว สาระ บันเทิง ปกิณกะต่างๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายคนทำและคนอ่าน

คนทำก็จะได้มีโอกาสเปลี่ยนรสเปลี่ยนชาติการปรุงกับข้าวของตนมั่ง

คนอ่านก็จะได้ประโยชน์เป็นหนังสือสุดสัดาห์ประจำครอบครัวอย่างว่า…

ถึงเกิดความคิดเปลี่ยนขนาดฉบับพิเศษวันอาทิตย์มาเป็นขนาดแท็บลอยด์ที่ท่านถืออยู่ในมือขณะนี้ล่ะครับ…”

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

มติชนสุดสัปดาห์ ปกพิมพ์ 2 สี ไม่ได้เย็บเล่ม ราคา 5 บาท จึงปรากฏโฉมออกมา

ซึ่ง เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ที่มีบทบาทร่วมมาแต่ต้น ได้จดไว้ใน “บิล” เพิ่มเติมว่า

ตั้งแต่ฉบับประจำสัปดาห์ที่ 7-13 กุมภาพันธ์ 2525

มีผู้เข้ามาดำเนินการเพื่อให้มีความเข้มข้นขึ้นอีก มีบรรณาธิการบริหาร เสถียร จันทิมาธร และผู้ช่วยเพิ่มอีก 2 คน คือ ศรีศักดิ์ นพรัตน์ อารักษ์ คคะนาท กับคณะบรรณาธิการ

โดยมีเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

อีกไม่กี่ปีต่อมา มติชนฉบับปกกระดาษอาร์ต 4 สีก็ปรากฏโฉม ออกมาเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับสมบูรณ์ กระทั่งทุกวันนี้เติบโตมายาวนานเป็นปีที่ 44

 

พิจารณาตามนี้

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อ “มติชนสุดสัปดาห์”

ทั้งในฐานะผู้บุกเบิก มาตั้งแต่ยุค “นักเรียนขาสั้น”

มาสู่ยุค “ช่อฟ้า” ของขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ทั้งในฐานะ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา มติชนสุดสัปดาห์ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

โดยมี เสถียร จันทิมาธร กุมบังเหียนในฐานะ “บรรณาธิการบริหาร”

ส่วน สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ในเวลาต่อมา “ขรรค์ชัย บุนปาน” ได้เชิญให้มาเป็นที่ปรึกษาให้กับมติชน มีงานเขียนใน มติชน มติชนสุดสัปดาห์ และข่าวสด กระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

 

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ด๊อกเตอร์เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ป.ม., ท.ช. ที่จากไปเมื่อ 2 มกราคม 2567 ในวัย 80 ปี

สมเกียรติ “คนหนังสือพิมพ์” •