ขอแสดงความนับถือ

“ชนัดดา ชินะโยธิน” พาไปคุยกับ ดะโต๊ะ โจจี แซมูเอล เอกอัครราชทูตประเทศมาเลเซียประจำประเทศไทย ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

น่าจะทำให้รู้จักมาเลเซียเพิ่มขึ้นบ้าง

คงไม่ประหลาดใจ ที่เขียนเช่นนี้

เพราะที่ผ่านมา คนไทยดูเหมือนจะอยู่ในภาวะย้อนแย้ง

แบบอยู่ “ใกล้แต่ดูเหมือนไกล” กับประเทศเพื่อนบ้านนี้

ทำให้เราจัดวางสัมพันธ์กับมาเลเซีย ไม่ค่อยถูกที่ถูกทางนัก

 

ตัวอย่างเช่น ขณะที่รัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โหมการท่องเที่ยว

โดยเทน้ำหนักไปยังจีน รัสเซีย อินเดีย

แต่จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ระบุว่า ระหว่าง 1 มกราคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2566

นักท่องเที่ยวที่เข้าไทย 23,241,338 คน

นักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

มาเลเซีย 3,824,445 คน

รองลงมาคือ จีน 2,902,462 คน อันดับสาม เกาหลีใต้ 1,375,958 คน อันดับสี่ อินเดีย 1,354,712 คน และอันดับห้า รัสเซีย 1,170,203 คน

เราได้ให้น้ำหนักกับข้อมูลเหล่านี้เพียงใด

เพราะมาเลเซียถูกกล่าวถึงน้อยมาก

ยิ่งเมื่อเทียบกับที่เราทุ่มเทไปยังจีน ไปมหาศาล แต่กลับไม่เข้าเป้า

คำถามคือ หากเราทำให้คนมาเลเซียเที่ยวทั่วไทย

มากกว่ากระจุกตัวเพียงที่ภาคใต้

หรือเพิ่มเวลาการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ ให้อยู่ในไทยนานขึ้น

ผลประโยชน์น่าจะเพิ่มขึ้นมหาศาล

แต่เราก็มองผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดาย

 

เมื่อกล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

แน่นอน คงต้องติดตามปัญหาในเมียนมา อย่างใกล้ชิด

คอลัมน์ “กาแฟดำ” โดย สุทธิชัย หยุ่น เตือนรัฐบาลไทยตรงๆ

“อย่าให้เพื่อนอาเซียนระแวง

อย่าให้ทหารเมียนมาหลอกใช้”

ทั้งนี้ สถานการณ์ในเมียนมา ต้องถือว่ากำลังพลิกผันอย่างหนัก

เพราะการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้านถูกยกระดับขึ้นอย่างหนักหน่วง

อาจไม่ถึงขั้นที่มีการอ้างจากฝ่ายรัฐบาลคู่ขนาน NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) ว่ารัฐบาลทหารของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย กำลังตกอยู่ในสภาพ “ใกล้ล่มสลาย”

แต่รัฐบาลทหารเมียนมาก็ถูกบีบคั้น กดดันอย่างหนัก จนต้องทำอะไรสักอย่าง

นี่เองที่ทำให้ไทยจะต้องวางจุดยืนตัวเองให้ดี

สุทธิชัย หยุ่น บอกว่า ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายปรานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับนายตาน ฉ่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมา

ในโอกาสเดินทางเยือนจีนเพื่อร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 8

ท่าทีของไทยผ่านนายปานปรีย์ คือขอบคุณตาน ฉ่วย ที่ช่วยเหลือในการอพยพคนไทยในเมืองเล้าก์ก่าย

และยืนยันความปรารถนาดีที่ไทยมีต่อเมียนมา

โดยย้ำว่าไทยสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเมียนมา

และหารือแนวทางในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ซึ่งย้ำว่าไทยดำเนินการเช่นนี้สอดคล้องกับ “ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน”

เป็นจุดยืนแบบกลางๆ เดิมๆ

ขณะที่สถานการณ์กำลังพลิกผันอย่างรวดเร็วและทวีความซับซ้อนขึ้น

 

สุทธิชัย หยุ่น บอกว่ามี “ไฮไลต์” ที่ต้องติดตาม

นั่นคือ มิน อ่อง ลาย กำลังเคลื่อนไหวขอให้ปักกิ่งเป็น “ตัวกลาง” ในการจัดให้มีการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มภราดรภาพที่รุกคืบยึดที่มั่นของทหารเมียนมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยประเมินว่า ข้อเสนอการเจรจาจาก มิน อ่อง ลาย นั้น

มีประเด็น “เงื่อนไขใหม่” ติดมาด้วย

ตรงนี้เองที่รัฐบาลไทยควรจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ

เพื่อจะได้ปรับยุทธศาสตร์ทางการทูต, ความมั่นคง, การเมืองและสังคมของเราให้สอดคล้องกับ “ฉากทัศน์” ที่เปลี่ยนไป

 

คําถามก็คือ ไทยพร้อมและเท่าทันแค่ไหน

เพื่อไม่ให้ปัญหาเมียนมากระทบไทย

ไม่ทำให้เพื่อนอาเซียนระแวง

และที่สำคัญ อย่าให้รัฐบาลทหารเมียนมาหลอกใช้ อย่างที่เคยเกิดขึ้น •