ขอแสดงความนับถือ

แม้ประเด็นภายในประเทศ โดยเฉพาะกรณีการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะร้อนแรง

จนกลบประเด็นอื่นๆ ลงไป

รวมถึงกลบประเด็นนอกประเทศ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ของปาเลสไตน์

ที่ไม่ได้ผ่อนความรุนแรงและโหดร้ายลงเลย

และมิได้เป็นเรื่องไกลตัวคนไทยสักเท่าไหร่

อย่างน้อย 25 ชีวิตตัวประกันชาวไทย ก็ยังไม่รู้ชะตากรรม

ขณะเดียวกันคนไทยกว่า 2 หมื่นคน ที่ “โสตาย” ทำงานในอิสราเอลต่อไป ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเผชิญอะไร

 

นี่จึงจำเป็นที่เราไม่อาจละเลย ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

เป็นสถานการณ์ในดินแดนซึ่งเป็นดั่ง “เฟืองเขียว เกี้ยวบุหลัน” เขียนไว้ในคอลัมน์ กวี-กระวาด หน้า 56

(ดินแดน…ที่) ไม่มีพระเจ้าองค์ใดอยู่ในนั้น

เด็กชายคนหนึ่งไม่รู้จักเสียงปืน

พอเสียง ปัง ปัง ปัง ดังขึ้น

จึงเห็นร่างคนบนถนนเปรอะเปื้อนไปด้วยสีแดง

เทศกาลระบายสีของผู้ใหญ่หรือแม่จ๋า?

 

ตัวเลขล่าสุด แต่คงไม่ใช่ตัวเลขสุดท้าย ที่ “ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” นำมาเสนอไว้ในคอลัมน์ ตุลวิภาคพจนกิจ (หน้า28-29)

ระบุว่าในสงครามนี้ พลเรือนที่ตกเป็นเหยื่ออย่างไร้มนุษยธรรม โดยเฉพาะคนปาเลสไตน์ผู้หญิงและเด็กนั้น

จากสถิติที่องค์กรสตรีสหประชาชาติ (UNWomen.org) รวบรวมไว้

มีดังนี้

7,330 คือ จำนวนสตรีและเด็กที่ถูกฆ่าตาย

788,800 คือ จำนวนสตรีและเด็กหญิงที่ถูกพรากจากบ้านของพวกเขา

2023 คือ จำนวนสตรีที่กลายเป็นม่าย เป็นหัวหน้าครอบครัวเพราะผู้ชายที่เป็นหัวหน้าหรือสามีเสียชีวิต

7282 คือ จำนวนเด็กที่สูญเสียพ่อ

50,000 คือ ผู้หญิงในฉนวนกาซาที่ตั้งครรภ์ และจำนวน 5,522 กำหนดคลอดในเดือนหน้า

หากจะถามอย่างที่ “เฟืองเขียว เกี้ยวบุหลัน” ถาม

ก็คงเป็นการถามผ่านเสียงของหนูน้อยนั่นแหละว่า

…เทศกาลระบายสีของผู้ใหญ่หรือแม่จ๋า?

 

ฝ่ายอิสราเอล สหรัฐและชาติตะวันตกหลายชาติ พยายามอธิบายเพื่อความชอบธรรม แห่ง “เทศกาลระบายสี” นี้ว่า ฮามาสเป็นผู้เริ่มปฏิบัติการสังหารคนอิสราเอลก่อน

โดยมีคำคุณศัพท์ขยายความว่า “โหดเหี้ยม” (brutal) “ป่าเถื่อน” (barbaric) “เป็นมนุษย์เหมือนสัตว์” (human animals) รวมไปถึงการระบุถึง “ฮามาส” ว่า “คือองค์การก่อการร้าย” (terrorist organization)

จึงเป็น “สิทธิในการป้องกันตนเอง” หลังจากมีชาวอิสราเอลเสียชีวิตไปถึง 1,200 คน

ซึ่งก็ฟังดูมีเหตุผล และความจำเป็น

แต่กระนั้น ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ก็ได้ชี้ชวนให้มองสงครามในกาซาผ่าน “ปรากฏการณ์ของสปิริต” (Phenomenology of Spirit) ของนักปรัชญาเยอรมัน “เฮเกล” ที่วิเคราะห์ในหนังสือ “ปรากฏการณ์ทางจิตหรือความคิด”

โดยเชื่อมโยงไปยังเหตุการณ์ที่เกิดในมลรัฐเวอร์จิเนีย

เมื่อทาสผิวดำชื่อแนธาเนียล หรือ “แนต” เทอร์เนอร์

นำพวกทาส 6 คนลุกฮือกบฏในวันที่ 21 สิงหาคม 1831

สังหารนายทาสและครอบครัวทั้งหมดรวมทั้งลูกสาวนายทาสที่เป็นเพื่อนสนิทของเขาด้วย ซึ่งเติบโตและเล่นด้วยกันมาแต่เด็กๆ จากนั้นแนตรวบรวมพรรคพวกทาสผิวดำได้ 75 คนบุกเข้ายึดอาวุธในคลังและม้า ล่าสังหารคนผิวขาวไป 55 คน

ก่อนที่ฝ่ายกบฏทาสจะถูกปิดล้อมแล้วจับได้หมด

แนตและพวกอีก 16 ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอที่เมืองเยรูซาเลม เวอร์จิเนีย

เหตุการณ์นี้สั่นสะเทือนคนอเมริกาผิวขาวอย่างมาก

นำไปสู่การออกกฎหมายทาสที่เข้มงวดและกดขี่มากขึ้นอีก

รวมถึงการปิดกั้นทางความคิดและการแสดงออกของคนผิวขาวในภาคใต้ต่อเรื่องทาส

ไม่อาจวิจารณ์หรือคัดค้านการปฏิบัติในระบบทาสผิวดำได้เลย

เป็นการปิดตายทางความคิดอย่างเสรีนิยมในภาคใต้

กระทั่งนำไปสู่การระเบิดเป็นสงครามกลางเมืองอีก 3 ทศวรรษต่อมา

 

คําถามที่น่าสนใจก็คือ

อะไรทำให้ “แนต” เทอร์เนอร์ ทาสผิวดำ กระทำในสิ่งที่โง่เง่า

รู้ว่าแพ้ และมีสิทธิทำให้ทาสผิวดำอื่นถูกปราบปราม กดขี่ ทำลาย

แต่ทำไมยังทำ

“ปรากฏการณ์ของสปิริต” (Phenomenology of Spirit) ของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

อาจจะช่วยให้คำตอบ และทำให้เข้าใจ “เทศกาลระบายสีของผู้ใหญ่หรือแม่จ๋า?” ณ ตะวันออกกลางตอนนี้ ได้หลายแง่มุมขึ้น •