นิธิ, ป๋วย, พระเจ้ากรุงธนบุรี และทางเลือกอื่นๆ ในสังคมไทย

วันที่ 2-3 กันยายนที่ผ่านมา มีการจัดงานเสวนา “นิธิแห่งทัศนะและปัญญา” ที่อาคารมติชนอคาเดมี เพื่อรำลึกถึง “ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชนสาธาณะผู้เพิ่งล่วงลับ

หนึ่งในการพูดคุยที่สร้างความประทับใจให้ผู้ฟังหลายท่าน ก็คือ ช่วงที่ “ศ.สายชล สัตยานุรักษ์” อดีตเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้มาเล่าถึงวิธีคิด-การต่อสู้ทางภูมิปัญญาของอาจารย์นิธิอย่างละเอียดลออ

 

ประเด็นแรกที่น่าสนใจ คือ การกล่าวถึงวิชาพื้นฐานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชื่อ “สังคมวัฒนธรรมไทย” ซึ่งเป็นวิชาที่อาจารย์นิธิลงแรงในการสร้างสรรค์หลักสูตรอย่างมาก และถือกำเนิดขึ้นก่อน “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ประมาณหนึ่งทศวรรษ

อาจารย์สายชลถ่ายทอดลักษณะเด่นของวิชา “สังคมวัฒนธรรมไทย” เอาไว้ดังนี้

“วิชานี้จะแบ่งเป็นสามตอนสามภาคด้วยกัน ภาคที่หนึ่งจะให้พื้นฐานความรู้ที่จะเข้าใจสังคมวัฒนธรรมไทย ภาคที่สอง วิพากษ์ทัศนะครอบงำทางวิชาการ เพื่อให้คุณเป็นอิสระจากกระบวนทัศน์เก่า และภาคที่สาม เป็นเรื่องทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง

“มีนักศึกษาเคยถามดิฉันในปีแรกที่ดิฉันมาสอนวิชานี้ที่ มช. ว่าวิชานี้มีจุดมุ่งหมายอะไร?

“ดิฉันตอบทันทีว่าเพื่อให้คุณ ‘กบฏ’

“ดิฉันเรียนที่ธรรมศาสตร์ เรียนวิชา ‘พื้นฐานอารยธรรมไทย’ กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เอนะคะ แต่วิชา ‘สังคมและวัฒนธรรมไทย’ ของอาจารย์นิธิ กลับตาลปัตร

“พื้นฐานอารยธรรมไทยเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์ พุทธศาสนา และพูดถึงประชาชนที่ถูกปลดปล่อยจาก (สถานะ) ไพร่และทาส พูดถึงวัฒนธรรมของชนชั้นสูงต่างๆ

“แต่สังคมและวัฒนธรรมไทยของอาจารย์นิธิ เป็นสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ประกอบด้วยประชาชน ประกอบด้วยชาวบ้าน เป็นชาวบ้านที่มีอัตลักษณ์ใหม่ เป็นชาวบ้านที่มีภูมิปัญญา เป็นชาวบ้านที่สามารถพึ่งตัวเอง เป็นชาวบ้านที่มีวัฒนธรรมต่างๆ ที่มันรับใช้ชีวิตและสังคมของเขา

“และในภาคที่สาม ในทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง ก็คือ ในเมืองไทยเคยมีการเสนอทางเลือกอะไรบ้างสำหรับเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ที่มันพ้นไปจากแนวคิดพัฒนาการของมนุษย์มีอยู่แนวเดียว

“คือ (ในภาคที่สอง) วิพากษ์ทัศนะครอบงำมันจะมีส่วนที่ว่าด้วยพัฒนาการของมนุษย์มีอยู่แนวเดียว หรือวิพากษ์กระบวนทัศน์ครอบงำการแบ่งความรู้และชีวิตเป็นส่วนๆ วิพากษ์ทัศนะครอบงำเรื่องชาตินิยมอะไรแบบนี้

“แล้วพอมาถึงทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง ก็จะมีทางเลือกที่เสนอโดยหลายฝ่าย เสนอโดยท่านพุทธทาส เสนอโดยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนแบบอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แนวคิดของปรีดี พนมยงค์ ของใครต่อใคร ให้นักศึกษาเห็นว่ามันมีทางเลือกอื่นๆ สังคมไทยไม่จำเป็นที่จะต้องมีทางเลือกเดียว

“และงานของอาจารย์นิธิทั้งหลาย รวมทั้งงานในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คือการมอบทางเลือกให้พิจารณา เพื่อที่คุณจะได้เลือกทางเลือกที่ดีที่สุดในความคิดของคุณ ทั้งต่อชีวิตของคุณเองและต่อสังคม”

ศ.สายชล สัตยานุรักษ์

อีกหนึ่งบทสนทนาที่ดีเกิดขึ้นเมื่อพิธีกรสอบถามว่า “ความสุขของอาจารย์นิธิคืออะไร?” อาจารย์สายชลได้ทดลองปรับคำถามและให้คำตอบว่า

“ดิฉันคิดว่าคำถามหนึ่งที่อาจารย์นิธิถามตัวเอง แล้วก็ไตร่ตรองมันจริงจังก็คือ ‘ชีวิตที่ประเสริฐ’ คืออะไร?

“พอดีดิฉันจดมา ว่าอาจารย์นิธิ (เคย) พูดถึงอาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) และดิฉันคิดว่าความสุขของอาจารย์นิธิก็อยู่ที่สิ่งที่อาจารย์นิธิพูดถึงอาจารย์ป๋วย (ว่า)

“‘ในท่ามกลางอำนาจเถื่อน ที่ไร้ความชอบธรรมต่างๆ นานา ที่เราประสบพบเห็นอยู่เป็นปกติ อาจารย์ป๋วยพูดและทำในสิ่งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ถูกต้อง และกล้าหาญเสมอ และอาจารย์ป๋วยเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในพลานุภาพของเหตุผลและความชอบธรรมอย่างบริสุทธิ์ใจ’

“นอกจากอาจารย์ป๋วยแล้ว คนหนึ่งที่อาจารย์นิธิศรัทธาอยู่ในส่วนลึกของจิตใจก็คือพระเจ้ากรุงธนบุรี

“(พระเจ้ากรุงธนบุรี) เป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ มีทั้งความเข้มแข็งและความอ่อนแอ มีทั้งความเสียสละอันรุ่งโรจน์และความเห็นแก่ตัว รู้จังหวะที่จะก้าวขึ้นสู่เวทีและก็รู้จังหวะที่จะก้าวลงจากเวทีอย่างสง่างาม

“ดิฉันคิดว่าอาจารย์นิธิท่านเรียกอาจารย์ป๋วยว่ามหาบุรุษ เป็นวีรบุรุษของท่าน และดิฉันคิดว่าความสุขของอาจารย์อยู่ที่ตรงนี้เป็นสำคัญ

“แต่แน่นอนอาจารย์พูดถึงความสุขอื่นๆ ด้วยหลากหลาย อาจารย์ฟังเพลงคลาสสิค เดินทางท่องเที่ยว อาจารย์ชอบทะเล อาจารย์ชอบหลายสิ่งหลายอย่าง ชอบเบียร์ ชอบสนทนาแลกเปลี่ยน ชอบบุหรี่ ชอบสูบไปป์ ชอบเขียนหนังสือ

“แน่นอน อาจารย์อยากเป็นนักเขียน อยากเขียนวรรณกรรม วรรณกรรมเรื่องแรกที่อาจารย์เขียนคือ ‘แด่มนุษยชาติ'” •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน