ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

การเมืองไทย นับวันยิ่งทวีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน

มุกดา สุวรรณชาติ และ สมชัย ศรีสุทธิยากร ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

จึงทวนความจำ ถึง “แผนการเมือง” ที่มุ่งทำลายการเมืองฝ่ายตรงข้าม

มุกดาเน้นไปที่ นายทักษิณ ชินวัตร

ส่วนสมชัย พุ่งเป้าไปที่พรรคก้าวไกล

 

มุกดา ย้อนกลับไปยังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำการรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

โดยอ้างว่า เพื่อหยุดการแตกแยกของสังคมไทยและกำจัดรัฐบาลทุนนิยมที่โกงกิน

จากนั้นก็เดินตามแผนบันได 4 ขั้น

ขั้นที่ 1 ผลักดันนายทักษิณให้ออกนอกประเทศ โดยการฟ้องร้องดำเนินคดี ถ้าไม่หนีต้องติดคุก

ขั้นที่ 2 ยึดทรัพย์นายทักษิณเพื่อตัดกำลังเงินไม่ให้ทักษิณกลับมาเล่นการเมือง

ขั้นที่ 3 ยุบพรรคไทยรักไทย เพื่อตัดกำลังคน และสลายองค์กร รอรับนักการเมืองที่เปลี่ยนขั้ว

ขั้นที่ 4 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่เป็นฝ่ายคณะรัฐประหาร

ซึ่งกว่าแผนบันไดสี่ขั้นจะสำเร็จ ก็ต้องใช้ม็อบยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ใช้ศาลปลดนายกฯ ยุบพรรค มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้ มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ถึงกระนั้น แม้บริหารประเทศได้แต่ก็ไม่เบ็ดเสร็จ

ต้องมีตุลาการภิวัฒน์ 2551 มีการปราบประชาชน 2553 และมีการรัฐประหาร 2557

ทำให้นายทักษิณต้องระหกระเหินอยู่ต่างประเทศหลายปี

 

วันนี้ นายทักษิณกำลังจะกลับบ้าน

ซึ่งมุกดา สุวรรณชาติ มองว่าเป็นเรื่องใหญ่

และชวนตั้งคำถามว่า เป้าหมายคืออะไร?

เพื่อปรองดองแบบอ่อนน้อมต่อกลุ่มอำนาจเก่า

เพื่อปิดเกมการเมือง เพราะมีอำนาจจริง

หรือเพราะอายุมากแล้วจะวางมือทางการเมือง มาเลี้ยงหลาน

ซึ่งไม่ว่าจะเหตุผลไหน มุกดา สุวรรณชาติ เชื่อว่า

เส้นทางการกลับมาของนายกทักษิณคงไม่เรียบง่าย

ด้วยเพราะเส้นทางวิบากนี้ยังอยู่ในภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย

จริงหรือไม่ หลัง 10 สิงหาคม น่าจะเห็น

ด้านสมชัย มองไปที่พรรคก้าวไกล ซึ่งกำลังถูกกระทำโดยกลุ่มผู้มีอำนาจเก่า ที่หวังรักษาอำนาจของตนต่อไป

ภายใต้บันได 3 ขั้น เช่นกัน

บันไดขั้นแรก ไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง สามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งขั้นแรกนี้ ฝ่ายผู้มีอำนาจบรรลุเป้าหมาย เมื่อมติเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ได้รับเสียงสนับสนุนแค่ 324 เสียง ไม่เกิน 375 เสียง

นอกจากนี้ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากคำร้องของ กกต. เรื่องการมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อ

และในวันเดียวกัน ที่ประชุมรัฐสภายังมีมติด้วยเสียง 395 ต่อ 312 เสียง ให้ตีความว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้นถือเป็นญัตติและอยู่ใต้ข้อบังคับการประชุมที่ห้ามเสนอชื่อซ้ำอีกในสมัยประชุมเดียวกัน

บันไดขั้นที่สอง การผลักดันพรรคก้าวไกล ให้ไม่สามารถอยู่ร่วมรัฐบาล กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน

โดยอาศัยจังหวะที่พรรคก้าวไกลแถลง มอบอำนาจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคเพื่อไทย

แล้วมีการชี้นำของหัวหน้าพรรคเล็กให้พรรคก้าวไกลเสียสละตนเองออกเป็นฝ่ายค้าน

นอกจากนี้ เพื่อไทยเชิญพรรคการเมืองในขั้วอำนาจเดิมมาขอความเห็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แล้วให้สัมภาษณ์ในแนวทางเดียวกันว่า พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล

สอดคล้องกับสมาชิกวุฒิสภาว่า แม้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่หากมีพรรคก้าวไกลอยู่ ก็จะไม่ลงคะแนนเสียงให้

บันไดขั้นที่สาม การต่อรองเพื่อให้พรรคในขั้วอำนาจเดิมร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ซึ่งรวมถึงพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

อาจารย์สมชัย ตั้งคำถามไปยังพรรคเพื่อไทย อย่างตรงไปตรงมาว่า

จะเล่นตามเกมผู้มีอำนาจหรือจะยึดถือเจตนารมณ์ของประชาชน

พร้อมกับมีข้อสังเกตแหลมคมว่า

การหลวมตัวเดินในเกมของผู้มีอำนาจโดยไม่รู้

เรียกว่า “ความอ่อนหัดทางการเมือง”

แต่หากรู้และยังหลับหูหลับตาเดินในแนวทางทางดังกล่าว

เรียกว่า “สมคบคิด”

การเมืองไทยตอนนี้ จึงอยู่ที่เพื่อไทย และทักษิณ ชินวัตร จะเลือกเดินทางไหน

และจะทำให้การเมืองไทยเพิ่มความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยิ่งขึ้นขนาดไหน •