ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

ร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง กับการสูญเสียลูกหลาน และญาติมิตร สังเวยให้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ “หนองบัวลำภู”

ซึ่งว่าไปแล้ว ความรุนแรงขนาดนั้น

คงมิอาจลบเลือนไปได้โดยเร็ว โดยง่าย ในวันสองวัน เดือนสองเดือน หรือปีสองปี

หากแต่จะเป็นแผลฉกรรจ์ที่จะตอกย้ำความเจ็บปวดผู้ที่สูญเสียไปตลอดชีวิต

นี่คือความน่าเห็นใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครอบครัวผู้สูญเสียจะก้าวผ่าน และปรับตัวอยู่ได้หลังจากนี้

มิใช่เป็น “ผู้ใจสลาย” ตลอดกาล

 

กล่าวถึง ผู้ใจสลาย แล้ว

คอลัมน์ อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ ของภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

พาเราไปรู้จัก “ผู้ใจสลาย” ที่น่าเห็นใจคนหนึ่งในโลกศิลปะ

เธอชื่อ ดอรา มาร์ (Dora Maar)

หลายคนอาจจดจำเธอในฐานะหนึ่งในชู้รักหรือภรรยาน้อยของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อย่าง ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso)

และเธอเป็นนางแบบในภาพวาด The Weeping Woman (1937) หรือ “ผู้หญิงร่ำไห้” อันลือเลื่องของปิกัสโซ

อย่างที่ทราบ ดอรา มาร์ ถูกศิลปินใหญ่ปิกัสโซที่มากรักย่ำยีจิตใจจนต้องหลั่งน้ำตาด้วยความชอกช้ำระกำทรวงเสมอมา

โดยปิกัสโซกล่าวถึงดอรา มาร์ ว่า

“สำหรับผม เธอเป็นผู้หญิงเจ้าน้ำตา ตลอดเวลาหลายปีที่ผมวาดรูปเธอในรูปร่างบิดเบี้ยว ผมไม่ได้วาดเธอด้วยความซาดิสม์ หรือความพึงพอใจ ผมแค่เคารพภาพลักษณ์ของเธอที่แสดงตัวตนออกมาให้ผมเห็น มันเป็นความจริงอันเที่ยงแท้ ไม่ปรุงแต่งผิวเผิน สำหรับผม ดอรามักจะเป็นผู้หญิงเจ้าน้ำตา… และนั่นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้หญิงเป็นเครื่องจักรสำหรับความทุกข์ทรมาน”

การเป็นชู้รักของปิกัสโซ ทำให้มาร์กลายเป็นเพียงนางแบบและแรงบันดาลใจในการทำงานให้เขาแต่เพียงเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว ดอรา มาร์ เป็นอะไรมากกว่า “ผู้หญิงร่ำไห้”

ก่อนที่จะพบกับปิกัสโซ

เธอเป็นทั้งช่างภาพ, จิตรกร และกวีผู้มีผลงานโดดเด่น

สร้างผลงานอันหาญกล้า แหวกแนว และน่าพิศวง

เป็นศิลปินภาพถ่าย ร่วมในกระแสเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าในยุคนั้นอย่างดาดา (Dadaists) เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) หรือแม้แต่คอนสตรักติวิสม์ (Constructivism) ของรัสเซีย

เธอยังเป็นศิลปินที่ทำงานในเชิงภาพถ่ายสารคดีในยุคแรกๆ โดยเฉพาะชีวิตของของผู้คนบนท้องถนน

จนอาจกล่าวได้ว่าเธอเป็นบรรพบุรุษของช่างภาพสายสตรีตในปัจจุบันเลยก็ว่าได้

 

น่าเศร้าหลังจากที่มีความสัมพันธ์กับปิกัสโซอยู่เก้าปี

เป็นเก้าปีอันแสนทรมานของเธอกับปิกัสโซ

ซึ่งเมื่อสิ้นสุดลง จิตใจของเธอก็พังทลายอย่างกอบกู้ไม่ได้

เธอหลีกหนีหายหน้าออกจากสังคม ย้ายจากปารีสไปอาศัยอยู่ในชนบทอันห่างไกล

ปลีกตัวทำงานศิลปะอย่างโดดเดี่ยวลำพัง โดยทำแต่งานภาพวาดนามธรรม ภาพทิวทัศน์ และภาพหุ่นนิ่งอันเศร้าสร้อย

เธอกลายเป็นคนสันโดษและอุทิศตัวให้กับความเป็นคริสต์ศาสนิกชนอย่างเคร่งครัด

ผลกระทบจากความสัมพันธ์อันเลวร้ายกับปิกัสโซ ทำให้เธอใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ภายใต้เงื้อมเงาของถ้อยคำกดขี่หยามเหยียดของเขา และไม่เคยกลับไปทำงานถ่ายภาพอันเป็นสื่อทางศิลปะที่ส่องประกายอัจฉริยภาพอันน่าพิศวงของเธอให้เจิดจ้าอีกเลย

จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1997

 

อย่างไรก็ตาม ชื่อของดอรา มาร์ กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งในฐานะศิลปินหญิงผู้บุกเบิกภาพถ่ายเซอร์เรียลลิสต์ ในนิทรรศการ Dora Maar

ที่จัดแสดงผลงานย้อนหลังของเธอ ณ พิพิธพิพิธภัณท์ศิลปะ เทต โมเดิร์น (Tate Modern) ลอนดอน ในปี 2019-2020 ทำให้คนรักศิลปะหลายคนได้ชื่นชมอัจฉริยภาพอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอ

และจดจำเธอใหม่ในฐานะศิลปินช่างภาพผู้พลิกโฉมศิลปะภาพถ่ายแห่งยุคโมเดิร์น

ผู้เป็นมากกว่าชู้รักเจ้าน้ำตา “ผู้ใจสลาย” ของปิกัสโซเท่านั้น •