ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 8-14 กรกฏาคม 2565 ฉบับที่ 2186

 

ขอแสดงความนับถือ

 

หายไป 3 สัปดาห์

ถามไถ่กันเข้ามาถึง “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ด้วยความเป็นห่วง

ว่าที่จริงไม่ได้ “หาย” ไปไหน

เพียงแต่การจะเรียกร้องให้อาจารย์นิธิ “โอลด์แต่ไม่เอาต์” โดยมิได้พักบ้าง ก็ดูจะฝืนธรรมชาติไปบ้าง

ต้องไม่ลืมว่า อาจารย์นิธิทะลุ 80 ไปหลายปีแล้ว

จำต้อง “พัก” บ้าง

และน่ายินดีที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

อาจารย์นิธิกลับมาแล้ว

 

กลับมาด้วยการโฟกัสไปยังความแข็งแกร่งในปฐพีของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ความแข็งแกร่งที่นอกเหนือจากการโชว์ ทำงาน ทำงาน ทำงาน แล้ว

สิ่งที่ทำให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติแกร่งอีกประการหนึ่ง

นั่นคือความสามารถ “หลอมรวม” เข้าหาทุกกลุ่ม

ทั้งที่เป็นมิตร และไม่เป็นมิตร

โดยสะท้อนผ่านคำพูด

“เราอาจมีความเห็นไม่ลงรอยกันและขัดแย้งกันได้ แต่เราไม่ควรเกลียดกัน เพราะความเกลียดนำไปสู่การทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่ง และทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้”

นำไปสู่การได้รับเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

ซึ่งอาจารย์นิธิไม่ได้เห็นต่าง

และยังมองว่า “ในทางการเมืองย่อมมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่นักการเมืองซึ่งประสบความสำเร็จจากจุดยืนไม่เข้าข้างฝ่ายใดจะพูดเช่นนี้ แต่เป็นไปได้เช่นกันว่าคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เชื่อเช่นนี้จริงๆ ด้วย”

แต่กระนั้น อาจารย์นิธิก็ยังมีบางมุมให้คิด

คิดเพื่อให้ “สังคมไทย คนไทยแข็งแกร่งในปฐพี” เช่นกัน

โดยเฉพาะกับความเป็นประชาธิปไตย

อาจารย์นิธิตั้งคำถามให้หาคำตอบว่า “…สมมุติว่าเราไม่ ‘เกลียด’ คนที่มีประวัติล้มกระดานประชาธิปไตยมาแล้ว เราพึงวางใจคนเหล่านี้ในการร่วมงานกับเขาหรือไม่ และเพียงไร”

นี่ย่อมไม่ได้เจาะจงไปที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติเท่านั้น หากแต่ชี้ชวนให้คนไทยร่วมกันคิดและหาคำตอบอย่างแหลมคมด้วย

นอกจาก “นักคิดนักเขียนอาวุโส” อย่างอาจารย์นิธิ จะกลับมาให้การบ้านคนอ่านแล้ว

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ยังมีคนรุ่นใหม่มาเปิดคอลัมน์ใหม่ “ดาวพลูโตมองดูโลก” (หน้า 36) ให้แฟนมติชนสุดสัปดาห์ได้พิจารณาอีกด้วย

ทำไมต้อง “ดาวพลูโต”

เจ้าตัวอธิบายไว้ในคอลัมน์อย่างน่าฟังว่า

“…ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะ และไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดด้วยเช่นกัน

ด้วยความเล็กและอยู่ไกลจึงสามารถมองเห็นความเป็นไปของดาวดวงอื่นๆ รวมทั้งดาวโลกเสมอ

มองดูอยู่อย่างห่างๆ เหมือนคนนอกมองกลับเข้ามา

เหมือนกระผมที่เป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่งในสังคม

คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งมองดูความเป็นไปของสังคม ดื่มด่ำกับความเป็นไปของสังคมในฐานะผู้รับชม…”

จากผู้รับชม ในวันนี้เขาขอโอกาสมาเป็นผู้เสนออีกบทบาทหนึ่ง

ผ่านนามปากกา “ดาวพลูโต”

เป็นดาวพลูโตที่แม้จะไกลสุดจักรวาล แต่เชื่อว่า “ดาวพลูโตมองดูโลก” คงจะมีระยะใกล้กับผู้อ่านมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะภูมิหลังของดาวพลูโต ที่เมื่อเอ่ยถึงแล้ว เชื่อว่าทุกคนในประเทศนี้ย่อมร้อง อ๋อ แน่นอน

แต่ “ดาวพลูโต” ขออนุญาตไม่ให้การ “อ๋อ” นั้นมาโน้มน้าวให้ชอบหรือไม่ชอบกับสิ่งที่เขียน

ขอให้ผลงานเป็นคำตอบ โดยในเบื้องต้นจะมาพบผู้อ่านฉบับเว้นฉบับ หรือเดือนละ 2 ครั้งก่อน

 

สําหรับคอลัมน์ “ดาวพลูโตมองดูโลก” ฉบับแรก

ดาวพูลโต ในฐานะคนรุ่นใหม่ โฟกัสไปยัง “มรดกคุณลุงทรัมป์”

มรดกที่ทิ้งไว้ในศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา

ที่ตอนนี้ สร้างความฮือฮาไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่สะเทือนไปทั่วโลก

เมื่อศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ได้มีคำพิพากษาที่คนจำนวนมากเห็นว่าได้เขย่าหรือสะบั้นสิทธิเสรีภาพในการทำแท้งอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิงลง

สะท้อนว่า แม้ลุงทรัมป์จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม

แต่มรดกชิ้นนี้ของคุณลุงทรัมป์ ยังมีอิทธิฤทธิ์สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั้งโลกอยู่

อันชวนให้คิดเช่นเดียวกับที่คนรุ่นใหม่อย่าง “ดวงพลูโต” ชวนให้คิด

นั่นคือ

แล้วคุณลุงแถวบ้านเราล่ะ จะทิ้งมรดกอะไรไว้บ้าง? •