ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 25 มิ.ย. -1 ก.ค. 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

คอลัมน์ My Country Thailand ของณัฐพล ใจจริง

และพื้นที่ระหว่างบรรทัด ของชาตรี ประกิตนนทการ

ร่วมนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ 24 มิถุนายน 2475 มาต่อเนื่อง

รวมถึงสัปดาห์นี้ด้วย

 

ณัฐพล ใจจริง โฟกัสไปที่ “ระบอบคนเท่ากัน กับการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475”

โดยชี้ให้เห็นว่าความเท่ากันนั้น นอกจาก “เท่ากัน” ในทางการเมือง อย่างที่พูดกันมากแล้ว

คณะราษฎรยังพยายามทำในหลายด้าน

เช่น ส่งเสริมสิทธิสตรีให้เท่าเทียมกับบุรุษ อันมีส่วนทำให้บรรยาการทางสังคมเปิดกว้างและยอมรับสิทธิสตรีมากยิ่งขึ้น

ตลอดจนจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลักษณะครอบครัว และกฎหมายลักษณะมรดก เสร็จสิ้นในปี 2477

เป็นความพยายามจัดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน ครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว ให้ได้มาตรฐานสากลสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

เช่น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (2477) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2486) มหาวิทยาลัยศิลปากร (2486) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหิดล) (2486) โรงเรียนการเรือน (มหาวิทยาลัยสวนดุสิต) (2477) โรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) (2480)

ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาผู้ใหญ่และโรงเรียนประชาบาลในท้องถิ่น

เนื่องจากคณะราษฎรส่งเสริมการศึกษาให้ราษฎรมีความรู้และสามารถเลื่อนชั้นทางสังคมและลืมตาอ้าปากต่อไปได้

ระบอบการปกครองใหม่จึงมีแง่มุมให้ศึกษาและพูดถึง มากกว่าประเด็นการเมืองเท่านั้น

 

สอดคล้องกับ “ชาตรี ประกิตนนทการ”

ที่บอกว่า การศึกษาเรื่อง “เมือง” ในยุคคณะราษฎรมีช่องว่างที่ยังรอการศึกษาอยู่อีกมาก

อย่างประเด็นว่าด้วย “เมืองใหม่กรุงเทพฯ ยุคคณะราษฎร”

ที่อย่างน้อยมี 3 ประเด็นที่ควรศึกษา

ประการแรก พื้นที่เมืองหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนจากการเป็น “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” (quasi-public space) มาสู่การเป็นพื้นที่ “สาธารณะ” (public space) อย่างแท้จริง

ตั้งแต่สนามหลวง, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สวนสาธารณะ ไปจนถึงถนนหนทางและทางเท้า

คือรูปธรรมของความเปลี่ยนแปลงที่ควรศึกษา

ประการที่สอง การเกิดขึ้นของอาคารสาธารณะเพื่อตอบสนองกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ของประชาชนในยุคคณะราษฎร ไม่ว่าสนามมวยราชดำเนิน, สนามศุภชลาศัย, เขาดินวนา (สวนสัตว์ดุสิต)

และประการที่สาม คือ ลักษณะการใช้งานพื้นที่เนื้อเมืองในส่วนต่างๆ ของประชาชนทั่วไปในยุคคณะราษฎรนั้นแตกต่างอย่างไรจากยุคก่อนหน้า และสะท้อนความหมายตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร

 

อนึ่ง ภาพสะเทือนใจในปัจจุบันอย่างหนึ่ง

นั่นก็คือภาพเจ้าหน้าที่ในชุด “ป้องกันเชื้อ” เต็มรูปแบบ หามโลงศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เข้าสู่เตาเผาในเมรุ

โดยปราศจาก “ญาติพี่น้อง”

เป็นการตายอย่างวังเวง และฌาปนกิจอย่างโดดเดี่ยว

ดูแล้วสะเทือนใจ

เราอาจจะดีกว่าอินเดีย ที่เห็นการเผาศพกันสดๆ บนเชิงตะกอน

ซึ่งหากเราต้องเผชิญเหตุการณ์เช่นนั้น คงยิ่งเศร้าไปอีก

 

ที่แฉลบออกไปเรื่อง “เมรุ”

ก็เพื่อย้อนไปใน “ประการที่สอง” คือการเกิดขึ้นของอาคารสาธารณะเพื่อตอบสนองกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ของประชาชน

ที่ “ชาตรี ประกิตนนทการ” อยากให้มีการศึกษาเพิ่มเติมนั้น

ตัวอย่าง อาคารสำคัญหนึ่งที่น่าสนใจ

คือ “เมรุถาวรสำหรับประชาชน”

“ชาตรี ประกิตนนทการ” ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งก่อสร้างนี้เราไม่อาจพิจารณามันโดยแยกออกจากการปฏิวัติ 2475 ได้เลย

เพราะอาคารเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้ชุดอุดมการณ์ใหม่โดยตรง

เกี่ยวข้องอย่างไร และทำไม

โปรดหาคำตอบในคอลัมน์พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ซึ่งคำตอบดังกล่าว อาจทำให้เรามองและรู้สึกถึงเมรุถาวร “ใหม่”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าที่มีการ “ยื้อแย่ง” มาให้ “สำหรับประชาชน” เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จนกระจายตัวไปทั่วประเทศอย่างในปัจจุบันนี้