ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 23-29 ตุลาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

สมาชิกวุฒิสภา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ส่งต้นฉบับ “วิกฤตการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญ” (หน้า 59)

มาก่อนการสลายการชุมนุม ที่ทำเนียบ และปทุมวันจะเกิดขึ้น

ซึ่งน่าเสียดายอยู่บ้าง

เพราะหากจุดยืนของ ส.ว. “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.โดยกว้างขวาง

สถานการณ์อาจไม่เลวร้ายดังวันนี้

 

ข้อเสนอของ ส.ว.เนาวรัตน์ ก็คือ

“…กระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากทั้งพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล และจากประชาชน

ดังเสนอเป็นร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมมาทั้งสามฉบับจากสามภาคส่วนดังกล่าว

โดยส่วนตัวพิจารณาเห็นด้วยที่จะรับข้อเรียกร้องนั้น

เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกติกา ขั้นตอนที่เป็นธรรมต่อไป

ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อนำข้อขัดแย้งในเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการสันติวิธี”

 

อย่างที่ว่า เสียดายที่ข้อเสนอข้างต้นล่าช้าไป

จึงเกิดสภาพดังที่ “ละไมมาด คำฉวี” เขียนไว้ในคอลัมน์ “รูปที่ไร้ใจครอง” (หน้า 75)

เห็นภาพไม่ต้องบอก

ฉีดน้ำด้วยกระบอกสามสี

มิใช่น้ำหรดาลแต่เป็นสารเคมี

ฉีดน้ำด้วยขามฤทธี

เกรงหมู่พยุหะเสรี

เปลี่ยนแปลงไทย

 

ทำไมไทยต้องไม่เปลี่ยนแปลง

ลำพังลมลมแล้งแล้งคิดได้ไหม

ไทยไม่เปลี่ยนแปลงจะเป็นไง

ไทยไม่เปลี่ยนแปลงก็อยู่อยู่ไป

ไทยไม่เปลี่ยนแปลงก็พึ่งไอ้ไข่

ทวีมีชัย ไชโย

 

อันทำให้คอลัมน์ รักคนอ่าน (หน้า 82)

“ทราย เจริญปุระ” ที่สามารถปลีกตัวจากบทบาท “แม่ยก”

มาอ่านและใช้หนังสือ “ความรับผิดชอบส่วนบุคคลของมนุษย์ใต้เผด็จการ” (Personal Responsibility Under Dictatorship)

ซึ่งเขียนโดย Hannah Arendt แปลโดยเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล/วศินี พบูประภาพ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2563 โดยสำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป)

ตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

ทั้งการสลายมวลชน และทั้งการกวาดจับผู้นำ

“…เรารู้ว่า หากท่านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะมีโทษร้ายแรงเพียงไหน

แต่มันก็ยังเทียบไม่ได้กับการเสียสละของมวลชนที่กำลังออกไปเรียกร้องอยู่ตอนนี้

ข้อเรียกร้องจากประชาชนก็ชัดเจนอยู่แล้ว

แต่รัฐไม่แม้แต่จะรับฟัง กลับยังเดินหน้าจับกุมปราบปราม

ท่านจับทั้งนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน ทนาย แพทย์ และคงจะเดินหน้าคุกคาม ประทุษร้าย ใส่ความ ผู้ที่เห็นต่างอยู่มิขาด

ท่านได้ฉีกภาพวีรบุรุษผู้เป็นที่พึ่งพาของประชาชนไปด้วยตนเอง

แม้ท่านอ้างว่าทำไปตามหน้าที่ แต่การกระทำนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อราษฎร”

 

คําว่า “ปฏิปักษ์ต่อราษฏร”

ย่อมสะท้านสะท้อนเข้าไปในอก

ของผู้ที่ได้รับการเรียกขาน “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่กระนั้น ตำรวจก็อยู่ในฐานะ “ผู้ปฏิบัติ”

ส่วนต้นทางคือผู้สั่งการ หรือผู้ออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอันมีเหตุร้ายแรง เพื่อจัดการกับลูก-หลาน ประชาชนควรจะถูก “แขวนป้าย” อย่างไร

ปล่อยให้เป็นดุลพินิจของคนในสังคม

จะมีท่าทีดังที่มีผู้รีทวีตความเห็นของคนในครอบครัว “วงศ์สุรวัฒน์” ทั้งอาจารย์โกวิท และจอห์น วิญญู มายัง “มติชนสุดสัปดาห์”

ก็พร้อมรับฟัง!